บทความ

ขจัดอุปสรรคในชีวิตอธิษฐาน

อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิต อยู่ภายในตัวเราเอง ดังคำกล่าวว่า
“สิ่งที่อยู่เบื้องหลังเราและข้างหน้าเรา เป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่อยู่ภายในเรา

และอะไรคือสิ่งสำคัญสุดที่หล่อหลอมชีวิตภายในของเรา? นั่นคือ “การอธิษฐาน”

ส่วนใหญ่ช่วงเวลารับใช้มักทำให้เรามุ่งสนใจเรื่องของประทาน ความสามารถ สิ่งที่ผู้คนมองเห็น แต่ช่วงเวลาอธิษฐานจะสอนเราเกี่ยวกับชีวิตที่แตกสลายและสำนึกผิด ทำให้เราเจียมตัวและใส่ใจกับวาระที่อยู่ภายในของเรา เหตุนี้เองอุปสรรคที่ทำให้ชีวิตอธิษฐานขาดความสดชื่น จึงเกิดจากการดิ้นรนต่อสู้ของชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณภายในเรา

ขอสรุปออกเป็น 5 คำถามที่ช่วยสะท้อนชีวิตอธิษฐานของคุณว่าเป็นอย่างไร

1. มุมมองต่อความเป็นพระเจ้าของคุณถูกบิดเบือนหรือไม่?

อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อการอธิษฐาน คือ ความไม่เชื่อ และที่ใจกลางของความไม่เชื่อนั้นคือ การไม่รู้จักพระเจ้า พูดอีกอย่างคือ ถ้าคุณไม่รู้จักบุคคลที่คุณอธิษฐานถึง คุณก็ไม่สามารถอธิษฐานได้ถูกต้อง เพราะการอธิษฐานเป็นเรื่องของความสัมพันธ์

มุมมองจากพระธรรม ลูกา 11 ของหนังสือเล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่า พระเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าอันแสนประเสริฐและปรารถนาอวยพรเรา” ไม่ใช่ “พระเจ้าผู้หลับใหลและลังเลใจ” ฉะนั้นหน้าที่เราคือ สำรวจตัวเองว่ายังยึดมุมมองความเป็นพระเจ้าแบบผิดๆ หรือไม่ เช่น คิดว่าพระเจ้าตระหนี่ ห่างเหิน ไม่ได้ห่วงใย หรือ เป็นผู้พิพากษาที่จ้องลงโทษเมื่อเราผิด ฯลฯ

เพราะถ้ารู้จักพระเจ้าแบบผิดๆ (นั่นคือการไม่รู้จักพระเจ้า) เราก็อธิษฐานผิด หรือไม่ค่อยอยากอธิษฐาน และมุมมองที่ผิดนี้ มักส่งผลไปยังคำถามข้อที่ 2

2. ชีวิตคุณยอมจำนนหรือไม่?

ถ้าพระเจ้าไม่ได้ยิ่งใหญ่สูงสุดในมุมมองของคุณ คุณก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องยอมจำนนต่อพระเจ้าด้วย และการไม่ยอมจำนนนั้นเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตอธิษฐาน เพราะการอธิษฐานไม่ใช่เพื่อ “เจตจำนงของเรา (our will) ต้องสำเร็จ” แต่ “น้ำพระทัยของพระองค์ (God’s will) ต้องสำเร็จ”

สิ่งที่เราได้สูญเสียไปแล้วเนื่องด้วยการไม่เชื่อฟัง ไม่สามารถชดเชยได้ด้วยการอธิษฐาน เช่นเดียวกับที่เราไม่สามารถเอา “ความทุ่มเท” มาแทนที่ “การยอมจำนน” ได้ นี่เองคือปัญหาความย้อนแย้งที่เห็นชัดสุดในชีวิตคริสเตียน ก็คือ “การอยากได้พระเจ้าแต่ไม่ยอมจำนนต่อพระองค์” จึงไม่แปลกที่เราเห็นคริสเตียนหลายคนที่เชื่อพระเจ้า แต่ชีวิตกลับไม่เติบโต

ถ้ามุมมองเราคือ “พระเจ้ารู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา” เราก็จะเข้ามาอธิษฐานด้วยความวางใจ ด้วยหัวใจที่ยอมจำนนต่อพระองค์ การอธิษฐานจึงไม่ใช่การได้รับสิ่งที่เราอยากได้ แต่เป็นการทำสิ่งที่พระเจ้าทรงปรารถนา

ดูเหมือนปัญหาของเรื่องนี้ คือ เราก็ไม่แน่ใจว่า ตัวเองได้ยอมจำนนกับพระเจ้าหรือไม่ โดยทฤษฎีมันคือ การ “พึ่งพาพระเจ้าอย่างหมดใจ” และ “ยอมรับพระองค์ในทุกวิถีทางของเจ้า” (สุภาษิต 3:5-6) แต่ในชีวิตจริงมันดูไม่ค่อยชัดเจนที่จะประเมินเรื่องที่เป็นภายใน เราจึงเลือกวิธีที่ง่ายกว่า คือประเมินจากสิ่งที่เราแสดงออกมาภายนอก และนั่นคือปัญหา เพราะเรามักมองตัวเองผิดไปจากความเป็นจริง หรือไม่เราก็ชะล่าใจ คิดว่าชีวิตเราไม่ได้แย่เกินไป ในประเด็นนี้ คำถามข้อ 3 และข้อ 4 จะช่วยสะท้อนให้เห็นชีวิตภายในเราได้มากขึ้น

3. ชีวิตคุณจัดลำดับความสำคัญอย่างไร?

ข้อสังเกต คือว่า ชีวิตเราอุทิศตัวเองต่ออะไรก่อนเป็นอันดับแรก? เราเห็นจากอัครทูตเอาใจใส่ในการอธิษฐานก่อนเป็นอันดับแรก (กิจการ 6:4) ฉะนั้นเวลาแต่ละวันที่เราใช้ไปกับอะไร กำลังเป็นสิ่งบอกว่า คุณให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร?

ถ้าชีวิตเรายอมจำนนและแสดงออกโดยการพึ่งพาพระเจ้านั้น ก็ย่อมเห็นร่องรอยการอธิษฐานแสวงหาพระเจ้าในชีวิตประจำวันที่จับต้องได้ และไม่ใช่แค่ “การหาเวลา” อธิษฐาน แต่คุณ “จัดเวลา” เพื่ออธิษฐาน เพราะท่าทีของจิตวิญญาณสำคัญกว่าการมีเวลาให้ หลายครั้งที่เราหาข้อแก้ตัวให้ตัวเองว่า “ไม่มีเวลา” แต่กลับเป็นว่า เรามีเวลาสำหรับทำสิ่งอื่นๆ เดินห้าง แวะชอปปิ้ง เสพข่าวบันเทิง ดูฟุตบอล เล่น Social ติด Netflix ฯลฯ

จะดีกว่าหากเราไม่หาข้อแก้ตัวใดๆ สำหรับชีวิตที่เหือดแห้งไร้การอธิษฐาน ให้เรายอมรับและหาทางดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองออกจากสภาพฝ่ายวิญญาณแบบนี้

4. คุณตระหนักถึงความร้ายแรงของบาปแค่ไหน?

ทุกวันนี้ผู้เชื่อรู้สึกผ่อนปรน ความบาปดูเทาๆ ไม่ชัดเจน แต่ความตระหนักในเรื่องนี้ทำให้เราต้องซีเรียสกับสิ่งที่พระเจ้าบอกไว้ “หากข้าพเจ้าได้บ่มความชั่วไว้ในใจ องค์พระผู้เป็นเจ้าคงจะไม่ทรงสดับฟัง” (สดุดี 66:18)

แม่ของจอห์น เวสลีย์ ได้ให้คำจำกัดความว่า “ความบาปคืออะไร” ซึ่งช่วยดึงสติเราให้ขีดเส้นบาปได้ชัดเจนขึ้น —
“ลูกเอ๋ย อะไรก็ตามที่ทำให้ความเป็นเหตุเป็นผลของลูกอ่อนแอลง ทำให้ความอ่อนโยนของจิตสำนึกแย่ลง บดบังจิตสัมผัสถึงพระเจ้า หรือเอาความชื่นชอบในสิ่งที่เป็นเรื่องจิตวิญญาณออกไป พูดง่ายๆก็คือ สิ่งใดก็ตามที่เพิ่มพลังและอำนาจของเนื้อหนังให้อยู่เหนือพระวิญญาณ นั่นแหละสำหรับลูกถือว่าเป็นบาป ไม่ว่ามันจะดูเหมือนว่าดีแค่ไหนก็ตาม”

ความจริงจังต่อบาป ทำให้เราจำเป็นต้องสำรวจท่าทีแรงจูงใจของตัวเอง ยากอบเตือนเราว่า การเป็นมิตรกับโลกทำให้เราอธิษฐานด้วยแรงจูงใจผิดๆ (ยก.4:3) อย่าปล่อยให้ความคิดอย่างโลกครอบงำชีวิตเรา

ฉะนั้นอย่าล้อเล่นกับบาปและจัดการมันอย่างเด็ดขาด “วันนี้เราจะให้ความบาปกีดกันเราออกจากการอธิษฐาน หรือจะให้การอธิษฐานกันเราออกจากความบาป”

5. คุณปล่อยให้อดีตฝังใจและมีปัญหาในความสัมพันธ์หรือไม่?

ความเจ็บปวดในอดีต มักส่งผลกระทบต่อตัวตนที่แท้จริง ทำให้เรารู้สึกเหมือนติดอะไรบางอย่าง รู้สึกเหมือนว่าพระเจ้าอยู่ห่างไกล และไม่เข้าใจเรา คำอธิษฐานของเราดูไปไม่ถึงพระเจ้า โดยเฉพาะถ้าเป็นปัญหาความสัมพันธ์ที่กับผู้อื่น พระคัมภีร์สอนให้เราวางเครื่องบูชา กลับไปคืนดีก่อน แล้วจึงกลับเข้ามาหาพระเจ้าได้ จงจัดการกับอดีตของตัวเอง ปล่อยวางและยกโทษ รับการรักษาเยียวยา เพื่อกลับมาเป็นบุคคลที่ครบถ้วนบริบูรณ์อีกครั้ง


อ.เอ็ดมันด์ ชาน บอกว่า ความใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้า มี 3 แบบ: ติดต่อ (contact) สื่อสาร (communicate) และ เข้าสนิท (communion)

ท่ามกลางความวุ่นวายของคนในเมืองยุคปัจจุบันนี้ หลายคนมีเพียงแต่การติดต่อแบบผิวเผินกับพระเจ้า การอธิษฐานเป็นเพียงสิ่งที่ทำเป็นภาพรวม พวกเขาจึงดำเนินชีวิตโดยปราศจากพลัง

ส่วนคริสเตียนบางคนก้าวหน้าขึ้นสู่ความสนิทสนมระดับลึกขึ้น พวกเขาสื่อสารกับพระเจ้าเป็นส่วนตัว แต่เป็นแบบขาดๆ หายๆ พวกเขายังคงโหยหาชีวิตการอธิษฐานที่ต่อเนื่อง เข้มข้นและล้ำลึกขึ้น

แต่มีน้อยคนมากที่รู้จักความชื่นชมยินดีอย่างล้ำลึกกับพระเจ้า  สิ่งนี้เราเรียกว่า “ที่ลึกกู่เรียกที่ลึก” เป็นการติดสนิทอย่างแท้จริงอยู่ในร่มเงาของพระองค์

อยากหนุนใจว่า อุปสรรคข้างต้นนี้ไม่ควรหยุดเราให้พลาดจาก “ช่วงเวลาที่ติดสนิทลึกซึ้ง” กับพระองค์ นี่คือเวลาของคุณ อย่าพอใจในสภาพฝ่ายวิญญาณที่บิดเบี้ยว จงต่อสู้และดิ้นรนออกจากสภาพนั้น

อ้างอิง

เรียบเรียงจากหนังสือ Growing Deep in God ของศจ.เอ็ดมันด์ ชาน

 

บทความ:  JK
ออกแบบภาพ:  rainniedesign

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง