คำว่า “เย็บเต็นท์” ถูกนำมาใช้เพื่อเปรียบเทียบกับการทำงานฝ่ายโลกเพื่อนำเงินมาสนับสนุนการทำพันธกิจ โดยมีเปาโลเป็นแบบอย่าง พระธรรมกิจการ 18:3 บอกว่า เปาโลและเพื่อนร่วมงานอย่างอาคควิลลาและปริสสิลลา “เป็นช่างทำเต็นท์ด้วยกัน”
นอกจากนั้นพระคัมภีร์อีกหลายตอนได้บอกว่าเปาโลทำงานไปพร้อมๆ กับรับใช้พระเจ้าในฐานะอัครทูตและผู้ประกาศข่าวประเสริฐ (1 ธส.2:9; 2 ธส.3:7-8; กจ.20:31-35; 1 คร.4:12; 9:6)
ช่างทำเต็นท์คืออะไร?
โดยทั่วไปหมายถึง เต็นท์ (กระโจม) ขนาดเล็กที่ใช้พกพาติดตัว ซึ่งพวกทหาร คนเลี้ยงสัตว์ และคนเดินทางต้องใช้ นักวิชาการหลายคนรวมทั้งปิตาจารย์อย่างออริเจนและรูฟีนัสได้อธิบายคำว่า σκηνοποιός (สเคนอพอยโอส) ที่ถูกแปลว่า ช่างเย็บเต็นท์ นั้นว่ามีความหมายถึง งานที่เกี่ยวกับหนังสัตว์ อาจจะเป็นรองเท้าหรือเครื่องใช้ที่ทำจากหนัง ไม่จำเป็นต้องหมายถึงเต็นท์เท่านั้น
เมื่อบอกว่าเปาโลเป็น “ช่างทำเต็นท์” ก็หมายความว่า นี่คืองานอาชีพของครอบครัวเปาโล ซึ่งพ่อจะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับลูกๆ ของตน แน่นอนว่าเปาโลได้รับการทำเต็นท์หรือสินค้าจำพวกหนังจากพ่อของเขา และหากเปาโลไม่ได้เป็นพวกฟาริสี (ฟีลิปปี 3:5) เขาก็คงใช้ความรู้นี้หาเลี้ยงชีพเหมือนที่อาคควิลลาและปริสสิลลากำลังทำอยู่
ทำธุรกิจและรับใช้พระเจ้า หรือ ทำธุรกิจเพื่อรับใช้พระเจ้า
ดูผิวเผินอาจคล้ายๆ กัน แต่ในความเป็นจริงแล้วแตกต่างกันมาก การทำธุรกิจและรับใช้พระเจ้า คือ การทำธุรกิจควบคู่ไปกับการรับใช้พระเจ้า และใช้เงินที่ได้จากธุรกิจเพื่อสนับสนุนงานรับใช้ ในกรณีนี้การทำธุรกิจอาจจะมาก่อน ต่อมาเมื่อมีโอกาสจึงค่อยทำพันธกิจด้วย ในกรณีนี้การทำธุรกิจยังคงคำนึงถึงผลประกอบการ (กำไรขาดทุน) และความอยู่รอดของธุรกิจ ในบางรายการรับใช้อาจมาก่อน แต่ติดขัดในเรื่องการเงิน จึงทำธุรกิจร่วมด้วยเพื่อผ่อนคลายปัญหาเรื่องการเงิน
แต่ การทำธุรกิจเพื่อรับใช้พระเจ้า นั้นต่างออกไป เพราะหัวใจหรือศูนย์กลางไม่ได้อยู่ที่ธุรกิจ แต่อยู่ที่งานพันธกิจ ธุรกิจจะถูกใช้เป็นเหมือนใบเบิกทาง หรือเป็นสะพานหรือโอกาสที่จะเชื่อมเข้าหาผู้คนเพื่อประกาศเป็นพยาน นี่คือกรณีของเปาโล ในวันสะบาโต เปาโลเข้าไปยังธรรมศาลาของพวกยิวเพื่อประกาศ แต่ในวันธรรมดาเปาโลใช้การทำเต็นท์เพื่อพูดคุยกับพวกพ่อค้าและคนเดินทาง
ธุรกิจของเปาโลสำคัญน้อยกว่าโอกาสการเข้าถึงผู้คนเพื่อประกาศข่าวประเสริฐ งานธุรกิจของเปาโลคือโอกาสที่จะติดต่อสื่อสารกับผู้ซื้อและคนเดินทาง และเปิดโอกาสให้เขาได้ประกาศ อีกทั้งยังได้รับการยอมรับ เพราะทักษะในการทำเต็นท์หรือเครื่องหนังนั้น เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายและเป็นสิ่งจำเป็นในสังคม
คงไม่มีใครคิดว่าในระหว่างวัน เปาโลทำเต็นท์โดยไม่พยายามหาทางพูดคุยเรื่องข่าวประเสริฐกับคนที่มาติดต่อซื้อขายกับเขา กลับกัน แรงจูงใจทั้งหมดของเปาโล เรียกว่าหายใจเข้าหายใจออก คือ การประกาศข่าวประเสริฐ ที่โครินธ์ เปาโลสำแดงตัวกับพวกเขาในฐานะ “คนทำเต็นท์” ซึ่งทำให้เปาโลมีโอกาสประกาศข่าวประเสริฐมากกว่าสำแดงตัวเป็นผู้ประกาศหรือศิษยาภิบาล งานของเปาโลจึงเป็น “สะพาน” อย่างดี ในการแบ่งปันข่าวประเสริฐเรื่องพระเยซูคริสต์
ดังนั้นคำว่า “เย็บเต็นท์” จึงมีความหมายกว้างกว่าทำงานไปด้วยรับใช้พระเจ้าไปด้วย คนที่รับใช้ด้วยการเย็บเต็นท์แบบเปาโลจึงหมายถึง คนที่อุทิศตัวเพื่อการปรนนิบัติรับใช้ และมอง “งานหรือธุรกิจ” ผ่านเลนส์ของพระมหาบัญชา คือ ใช้มันเพื่อเป็นเครื่องมือในการประกาศข่าวประเสริฐแห่งความรอด และพร้อมที่จะ “หยุด” เมื่อข้อเรียกร้องในงานพันธกิจเพิ่มขึ้น เปาโลก็ทำแบบเดียวกันนี้ “พอสิลาสกับทิโมธีมาจากแคว้นมาซิโดเนีย เปาโลก็เริ่มฝักใฝ่ในการประกาศพระวจนะ และเป็นพยานแก่พวกยิวว่า พระคริสต์นั้นคือพระเยซู” (กิจการ 18:5)
ข้อได้เปรียบของพันธกิจแบบ “การเย็บเต็นท์”
พันธกิจผ่านการเย็บเต็นท์อย่างที่กล่าวมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีคุณค่า โดยเฉพาะกลับกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “inaccessible people” (กลุ่มคนที่เข้าไปไม่ถึงหรือเข้าถึงยาก) อาจเป็นพื้นที่ที่มีความจำกัดในเรื่องการประกาศ หรือพวกเขาอยู่ในงานอาชีพที่โดยวิธีปกติข่าวประเสริฐจะเข้าไปไม่ถึง ผู้ประกาศจึงต้องใช้ “การเย็บเต็นท์” เพื่อเข้าถึงคนเหล่านี้
นี่เองที่เปาโลกล่าวว่า “ต่อพวกยิวข้าพเจ้าก็เป็นยิว เพื่อจะได้พวกยิว ต่อพวกที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนคนอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ (แต่ตัวข้าพเจ้ามิได้อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ) เพื่อจะได้คนที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัตินั้น ต่อคนที่อยู่นอกธรรมบัญญัติข้าพเจ้าก็เป็นคนนอกธรรมบัญญัติ เพื่อจะได้คนที่อยู่นอกธรรมบัญญัตินั้น แต่ข้าพเจ้ามิได้อยู่นอกพระบัญญัติของพระเจ้า แต่อยู่ใต้พระบัญญัติแห่งพระคริสต์ ต่อคนอ่อนแอข้าพเจ้าก็เป็นคนอ่อนแอเพื่อจะได้คนอ่อนแอ ข้าพเจ้ายอมเป็นคนทุกชนิดต่อคนทั้งปวง เพื่อจะช่วยเขาให้รอดได้บ้างโดยทุกวิถีทาง ข้าพเจ้าทำอย่างนี้ เพราะเห็นแก่ข่าวประเสริฐเพื่อข้าพเจ้าจะได้มีส่วนในข่าวประเสริฐนั้น” (1 โครินธ์ 9:20-23)
ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งแน่ๆ คือ เงินที่ได้จากธุรกิจจะสามารถมาสนับสนุนพันธกิจ เช่น เป็นค่าครองชีพ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่องานพันธกิจ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นที่อาจยังไม่ได้รับการสนุนสนุน หรือคริสตจักรยังขาดกำลังในการสนับสนุนงานพันธกิจ นี่คือสิ่งที่เปาโลทำ
“ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ท่านคงจำได้ถึงการทำงานอันเหน็ดเหนื่อย และความยากลำบากของเรา เมื่อเราประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้า ให้ท่านฟัง เราทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อเราจะไม่เป็นภาระแก่ผู้ใดในพวกท่าน” (1 เธสะโลนิกา 2:9)
“ท่านทั้งหลายทราบว่า มือของข้าพเจ้าเองได้จัดหาปัจจัยสำหรับตัวข้าพเจ้า กับคนที่อยู่กับข้าพเจ้า” (กิจการ 20:34)
“เฉพาะข้าพเจ้าและบารนาบัสเท่านั้นหรือ ที่ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลิกทำงานหาเลี้ยงชีพ” (1 โครินธ์ 9:6)
ข้อควรระวัง
เมื่อพูดถึงข้อได้เปรียบของการรับใช้แบบ “เย็บเต็นท์” ก็ต้องพูดถึงข้อควรระวัง คือ ประเภทของการเย็บเต็นท์ หรืองานที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการทำพันธกิจ แม้จะไม่มีการระบุอย่างเจาะจง แต่ก็ยังมีเกณฑ์ในการพิจารณา ได้แก่
- ต้องเป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า
“เหตุฉะนั้นเมื่อท่านจะรับประทานจะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม จงกระทำเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า” (1 โครินธ์ 10:31) - ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อข่าวประเสริฐ
“อย่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกยิว หรือพวกกรีก หรือคริสตจักรของพระเจ้าหลงผิดไป” (1 โครินธ์ 10:32)
คำถามก็คืออาชีพอะไรที่เป็นอุปสรรค ยกตัวอย่าง ขายลอตเตอรี่ แม้จะถูกกฎหมาย แต่ก็เป็นอุปสรรค เป็นต้น
บทความ: ศจ. ดร. สมใจ รักษาศรี
ศิษยาภิบาลคริสตจักรแห่งความเชื่อแบ๊บติสต์
อาจารย์สถาบันพระคริสตธรรมศึกษา Faith Bible Institute
ผู้อำนวยการสถาบันครอบครัวไทย
ออกแบบ: Promise
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น