บทความ

พ่วง อรรฆภิญญ์ ผู้รับใช้ที่โลกต้องไม่ลืม

ไม่นานนี้ผมมีโอกาสอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของ ศจ.พ่วง อรรฆภิญญ์ (1894–1963) จากหนังสือเรื่อง “อาจารย์ผู้ไร้ปริญญา” ความหนา 98 หน้า แรกๆ คิดว่าไม่มีอะไร คงเป็นผู้นำคริสเตียนที่น่าประทับใจคนหนึ่งในยุคอดีต เริ่มอ่านตอนกลางคืนอ่านไปอ่านมา วางไม่ลง แต่ต้องนอนก่อน ปรากฏว่าอ่าน 2 วันจบ ชีวิตของ อจ.พ่วง เป็นชีวิตที่โลดโผนน่าทึ่งมาก

อาจารย์พ่วง เป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่ไร้ปริญญาจริงๆ ตอนเด็กๆ ท่านไม่เรียนหนังสือ จบแค่ ป.4 จากนั้นเที่ยวเล่นจนเสียคน แต่หลังจากท่านมารู้จักพระเยซูคริสต์ท่านเปลี่ยนไปเป็นคนละคน รับใช้พระเจ้าอย่างสุดใจ นำการฟื้นฟูจากยุคสมัยที่มีคริสเตียนโปรเตสแตนต์เพียง 8,000 คน หรือ 0.01% (ปัจจุบันประมาณ 0.75%) จนมีผู้เชื่อหลายหมื่นคนในสมัยท่านผมเป็นคนชอบประวัติศาสตร์เป็นทุน เรื่องราวของ อจ.พ่วง เกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จนไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 และจบลงสมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงครามหลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 ฉะนั้นบรรยากาศชีวิตในสมัยของท่านเป็นความถนัดคุ้นเคยของผมเลยครับ

พ่วง อรรฆภิญญ์พระอาจวิทยาคม
(ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์)

อาจารย์พ่วงเป็นเด็กที่มีอีโก้แรง หนีออกจากบ้านมาหางานทำในบางกอก เมื่อพบมิชชันนารีกำลังประกาศก็สนใจฟัง และสุดท้ายกลับใจมอบถวายชีวิตให้พระเจ้าตั้งแต่วัยรุ่น อจ.พ่วง ยังวนเวียนมาฟังเรื่อยๆ จนกระทั่ง หมอยอร์ช แม็คฟาร์แลนด์ สังเกตและชวนมาทำงานด้วยกันเป็นกรรมกรเงินเดือน 15 บาท ต่อมาบริษัทเดินเรือเมล์มาขอตัวเพราะเห็นหน่วยก้านดี ก็ไปทำ เงินเดือนดีมาก 90 บาท (น่าจะเยอะในสมัยนั้น)

สิ่งแรกที่ผมประทับใจคือ อจ.พ่วง เมื่อทำไปสักพักก็รู้สึกอึดอัด จึงกลับมาขอทำงานกับหมอยอร์ช ด้วยเหตุผลว่าบริษัทให้ทำงานทุกวันโดยไม่หยุดวันอาทิตย์ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นคริสเตียนต้องมาโบสถ์วันอาทิตย์สิ หมอยอร์ชจึงรับเข้ามาเหมือนเดิม อจ.พ่วงทิ้งเงินเดือน 90 บาท มารับเงินเดือน 15 บาท เพราะอยากมาโบสถ์วันอาทิตย์ นี่เป็นเรื่องที่ไม่เกิน 20 หน้าแรก ผมก็วางไม่ลงแล้วอยากรู้ว่าชีวิตของคนๆ นี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

อจ.พ่วงได้เรียนพระคัมภีร์และตัดสินใจอุทิศชีวิตให้กับการรับใช้พระเจ้า สิ่งเดียวที่อยู่ในใจของท่านคือ ทำอย่างไรให้คนไทยมารู้จักพระเจ้ามากที่สุด อจ.พ่วง ศึกษาวิธีประกาศฟื้นฟูของมิชชันนารี ก็พบว่ามีช่องว่างทางวัฒนธรรมอยู่มาก จึงออกแบบโปรแกรมการประกาศฟื้นฟูของตัวเองขึ้น เป็นการประกาศแบบพึ่งพาการอธิษฐานอย่างมากและเทศนาต่อกัน 7 วัน ผลคือมีผู้เชื่อเกิดขึ้นมากมายอย่างต่อเนื่อง นำการฟื้นฟูมายังคริสตจักรได้จริงๆ เพราะมีคนใหม่เข้ามาก็เกิดกระบวนการบัพติศมาในน้ำ สร้างสาวก ฯลฯ คริสตจักรมากมายมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย คนเป็นพันเป็นหมื่นได้ฟังคำพยานและคำเทศนาของ อจ.พ่วง ด้วยวิธีนี้


งานฟื้นฟูที่โคราช อจ.พ่วงคนแรกทางขวามือ

การสะดุดเกิดขึ้นในสมัยสงคราม แต่เมื่อสงครามจบ อจ.พ่วง ก็ทำอย่างเดิมคือประกาศอย่างร้อนรน และมีหลายครั้ง อจ.พ่วงขัดแย้งกับมิชชันนารีอย่างรุนแรงจน ท่านประกาศไม่รับเงินเดือนจากคริสตจักร เพื่อพิสูจน์ว่าท่านทำแบบนี้โดยไม่มีแรงจูงใจเรื่องเงินเลย แต่เพื่อคนไทยจะรับความรอดจริงๆ ขณะเดียวกันก็เหน็บพวกมิชชันนารีที่เอาแต่ประชุมหาสาระไม่ได้ อจ.พ่วงเหมือนจะเลิกสมาคมกับสภาคริสตจักรช่วงหนึ่ง จนกระทั่งภรรยาได้หนุนใจว่างานรับใช้ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกับทุกคนจึงจะมีพลัง อจ.พ่วงจึงกลับไปประชุมกับสภาคริสตจักร และได้รับเลือกให้เป็นประธานต่อเนื่องถึง 3 สมัย แต่ ท่านไม่ได้สนใจตำแหน่งมากกว่าการประกาศ เพราะการประกาศจะนำมาซึ่งคนที่จะได้รับความรอด

คำแนะนำของ อจ.พ่วง คือ

  1. คริสตจักรต้องให้ความสำคัญกับการประกาศนำวิญญาณมาสู่ความรอด
  2. งบประมาณหลักของคริสตจักรต้องสนับสนุนการประกาศเป็นหลัก
  3. ผู้นำต้องเข้มแข็งรักษาชีวิตในทางพระเจ้าไม่ให้โลกียวิสัยดึงไป ได้แก่ เรื่องเพศ เรื่องเงิน และอย่าโง่โดนคนหลอกง่ายๆ
  4. เป็นผู้รับใช้พระเจ้าต้องอธิษฐานให้หนัก
  5. จะรับใช้พระเจ้าต้องหน้าทน เพราะต้องประกาศ ติดตามแกะแม้ถูกปฏิเสธก็ต้องหน้าทนไว้ ตื้อต่อไป
  6. คริสตจักรต้องให้โอกาสคนหนุ่มสาวให้ทำงานรับใช้
  7. การส่งคนไปเรียนโรงเรียนพระคริสตธรรมเป็นสิ่งสำคัญ อย่ามองข้ามเรื่องนี้
  8. สนับสนุนคริสตจักรให้เลี้ยงตนเองให้ได้ คือ ไม่เอาเงินไปให้ ต้องให้เขาเลี้ยงตัวเองให้รอด
  9. หมั่นหาความรู้เสมอ อจ.พ่วง แม้ไม่มีปริญญา แต่ท่านเป็นนักอ่านตัวยง ท่านมีหนังสือกองท่วมโต๊ะ และจำได้ว่าเล่มต่างๆ พูดว่าอย่างไร ท่านสนใจประวัติศาสตร์ไทยและอเมริกามาก จะไล่เรียงเรื่องนี้กับท่านถือว่าตามท่านได้ยาก


อจ.พ่วง ไปเยี่ยมเยียน จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ขณะลี้ภัยที่ญี่ปุ่น

เพลงที่ อจ.พ่วงโปรดเป็นพิเศษมีเนื้อร้องที่น่าประทับใจมาก (เพลงบทที่ 126)

ข้าไปแต่ตัว อย่างนี้หรือ
พบผู้ช่วย อย่างนี้ดีหรือ
ไม่ได้ทำอะไรถวายเลย
ไม่มีสิ่งใดมาในมือ

(ร้องรับ)
ข้าต้องไปแต่ตัว อย่างนี้หรือ
พบผู้ช่วยอย่างนี้ดีหรือ
ไม่ทันหาวิญญาณถวายท่าน
ข้าจะต้องไปแต่ตัวหรือ

โอพวกเราตื่นขึ้นเร็วเร็วเข้า
รีบกระทำการเมื่อยังวัน
ความตายนั้นเปรียบเหมือนเงาตามเรา
จงรีบช่วยวิญญาณให้ทัน

ขอบคุณคำพยานชีวิตของ อาจารย์พ่วง อรรฆภิญญ์ ที่กระตุ้นใจผมให้รู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ การประกาศ วันก่อนได้ไปเยี่ยมหลุมศพท่านที่คริสตจักรศรีพิมลธรรม จ.เพชรบุรี แต่เท่าที่อ่านจากนิสัยใจคอของท่าน ท่านอาจจะตะเพิดไล่ผมให้ไปประกาศหรือรับใช้พระเจ้าก็เป็นได้

หลุมศพ อจ.พ่วง อยู่ด้านหลังคริสตจักรศรีพิมลธรรม จังหวัดเพชรบุรี (1894–1963)

 

อ้างอิง:  วงษ์สังข์, สัมฤทธิ์. อาจารย์ผู้ไร้ปริญญา. กรุงเทพฯ: แผนกชูชีพแหล่งพัฒนาประชาคมในเมือง, 1970.

บทความ:  กนก ลีฬหเกรียงไกร
ภาพ:  Daniel Joshua on Unsplash
ออกแบบ:  Zippy

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง