ในขณะนี้สถานการณ์เรื่องไวรัสโควิด 19 (COVID-19) ในประเทศไทย คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และทางภาครัฐผ่อนปรนให้ทางศาสนสถานสามารถเปิดดำเนินการได้ โดยอยู่ภายใต้แนวทางปฏิบัติเพื่อการป้องกันการแพร่เชื้อ
กรรมการประสานงานโปรเตสแตนท์แห่งประเทศไทย (กปท.) มีความห่วงใย และพร้อมเคียงข้าง จึงได้ให้แนวทางและข้อแนะนำสำหรับพี่น้องทุกคริสตจักร
เปิดรอบนมัสการของคริสตจักรได้เมื่อไร?
เมื่อท่านอธิษฐานและวางแผนที่จะเปิดรอบนมัสการของคริสตจักรอีกครั้ง ท่านอาจคำนึงถึงการเปิดให้เร็วที่สุด เนื่องจากกังวลว่าสมาชิกจะอ่อนกำลัง แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งท่านก็ยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสมาชิกเช่นกัน
หากคริสตจักรยังไม่มีความพร้อมที่จะกลับมาเปิดรอบนมัสการ ท่านสามารถเริ่มต้นได้จากการสามัคคีธรรมในกลุ่มเล็กก่อน และวางแผนสำหรับสถานการณ์ที่แตกต่าง
ทั้งนี้เราไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ควรจะกลับมาเปิดรอบนมัสการเมื่อไร เนื่องจากขึ้นอยู่กับความพร้อมและบริบทของคริสตจักรในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีระดับการแพร่ระบาดต่างกัน รวมทั้งลักษณะสมาชิกในคริสตจักร และสภาพชุมชนรอบคริสตจักรที่ต่างกันออกไป แต่มีตัวอย่างคำถามสาคัญที่คริสตจักรควรตอบ เพื่อเป็นข้อพิจารณาในการกลับมาเปิดอีกครั้ง ดังนี้
เช็คลิสต์คำถามเพื่อประกอบการพิจารณา
- เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานท้องถิ่นมีข้อแนะนำอย่างไร?
- สมาชิกในคริสตจักรรู้สึกอย่างไรกับการกลับมาเปิดรอบนมัสการใหม่อีกครั้งของคริสตจักร?
- ผู้คนในชุมชนรอบคริสตจักรรู้สึกอย่างไรกับการเปิดรอบนมัสการใหม่ของคริสตจักรในช่วงเวลานี้?
- คริสตจักรมีการสื่อสารหรือแผนประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร?
- อะไรคือสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรืองดเว้น เมื่อกลับมารวมตัวกัน?
ทำแบบสำรวจความเห็นของสมาชิกในคริสตจักร
นี่เป็นอีกข้อเสนอซึ่งคริสตจักรอาจนำมาใช้เพื่อรับข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกเวลาที่เหมาะสม และสื่อถึงความใส่ใจต่อความเห็นของสมาชิกในคริสตจักร ซึ่งตัวอย่างคำถามในแบบสำรวจ ได้แก่
- ท่านคิดว่าจะสามารถกลับมามีการประชุมนมัสการในคริสตจักรอย่างเร็วที่สุดได้เมื่อไร?
- สิ่งที่ท่านต้องการเห็นก่อนที่จะเปิดรอบนมัสการใหม่ของคริสตจักรคืออะไร?
- ถ้าคริสตจักรเปิดรอบนมัสการตามปกติ ท่านมีความพร้อมในการเข้าร่วมหรือไม่ อย่างไร?
เปิดรอบนมัสการของคริสตจักรอย่างไร?
เมื่อคริสตจักรตัดสินใจเลือกวันที่เริ่มเปิดนมัสการได้แล้ว มีข้อแนะนำขั้นตอนสำหรับการกลับมาเปิดรอบนมัสการของคริสตจักร ได้แก่
1. ทำแบบประเมินของกรมอนามัย : ทุกคริสตจักรต้องทำแบบสำรวจของกรมอนามัย (คลิกทำแบบประเมินที่นี่ หรือ สแกนข้อมูลได้จากคิวอาร์โค้ดด้านล่าง)
- กรอกข้อมูลในแบบประเมินของกรมอนามัย โดยศิษยาภิบาล หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากทางคริสตจักร และปฏิบัติตามแนวทางข้อแนะนำของกรมอนามัย (ดาวน์โหลดคู่มือของกรมอนามัยที่นี่ หรือสแกนคิวอาร์โค้ดด้านล่าง)
- เมื่อกรอกข้อมูลแล้ว คริสตจักรจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองจากกรมอนามัย (E-Certificate) ซึ่งส่งมาทางอีเมลของผู้ที่กรอกข้อมูล
- เซ็นชื่อรับรองในใบประกาศนียบัตรโดยตัวแทนที่ทำการกรอกข้อมูล (ระบบจะจัดทำใบประกาศนียบัตร โดยระบุ ผู้รับรองตามชื่อของผู้ที่กรอกข้อมูล)
- พิมพ์ใบประกาศนียบัตรรับรองนี้ ไว้ที่หน้าคริสตจักรหรือจุดบริเวณที่เหมาะสม เพื่อเป็นหลักฐานการรับรองจากทางกรมอนามัย
- หากมีคำถามเพิ่มเติม หรือต้องการติดต่อกรมอนามัย สามารถติดต่อได้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น
อีเมล stopcovid@anamai.mail.go.th สายด่วนโทร 081-1371633
(ข้อมูลเกี่ยวกับศาสนสถาน สามารถศึกษาได้จากคู่มือ ซึ่งเป็นข้อมูลมาตรการด้านอนามัยของกรมอนามัย หน้า 28-32
2. ตั้งทีมดูแลสุขอนามัยให้กับผู้ร่วมนมัสการ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการรักษามาตรการความปลอดภัย และดูแลความสะอาดอย่างรัดกุม
3. เตรียมระบบสุขอนามัยของคริสตจักร
- สื่อสารให้ผู้ร่วมนมัสการทุกคนสวมหน้ากากอนามัย และหนุนใจให้เตรียมเครื่องใช้ส่วนตัวมาเอง เช่น ปากกา แก้วน้ำ กระบอกน้ำ เป็นต้น รวมทั้งสื่อสารข้อแนะนำในการปฏิบัติตนระหว่างร่วมประชุมนมัสการ
- ทำความสะอาดห้องประชุม ห้องน้ำ และบริเวณต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ในบริเวณอาคารคริสตจักร เช่น เก้าอี้ ราวบันได มือจับประตู ไมโครโฟน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการประชุมรอบนมัสการ
- เตรียมจุดคัดกรอง ให้มีคนตรวจวัดอุณหภูมิ พร้อมมีใบลงชื่อผู้เข้าร่วมรอบนมัสการ (ชื่อ นามสกุล และเบอร์ติดต่อ) และจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ให้หลังเซ็นชื่อเรียบร้อย
- เตรียมสบู่ล้างมือ / เจลแอลกอฮอล์ วางตามจุดต่างๆ ให้เพียงพอต่อการใช้งาน
- จัดเก้าอี้ในห้องประชุมโดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร กรณีที่ความจุห้องประชุมไม่เพียงพอ ท่านสามารถจัดแบ่งเพิ่มรอบนมัสการในเวลาอื่น เพื่อลดความแออัด หรือบริหารจัดการสมาชิกบางส่วนให้ร่วมนมัสการทางออนไลน์แทน
- ดูแลสุขอนามัยของพิธีมหาสนิท (หากมี) อาจจัดใส่ถุงแยกสาหรับผู้ร่วมนมัสการแต่ละคน ไม่ให้ปะปนกัน
- จัดทำแผ่นป้ายสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงในตัวอาคารคริสตจักรจะเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดเมื่อเปิดรอบนมัสการใหม่ของคริสตจักรอีกครั้ง คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะทำตัวอย่างไร จะนั่งตรงไหน ป้ายประกาศจึงช่วยให้ข้อมูลกับสมาชิก
*** ตัวอย่างป้าย เช่น เครื่องหมายระยะห่าง จำนวนคนสูงสุดที่อนุญาตในห้องหรือพื้นที่ (ลิฟต์ ห้องโถงทางเดิน ฯลฯ ) “กรุณารอที่นี่” “กรุณาสวมหน้ากากอนามัย” เป็นต้น - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน แต่หากจำเป็น ขอให้จัดระยะห่างและดูแลสุขอนามัยตามแนวทางที่ภาครัฐแนะนำ
4. ประสานกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชุมชนรอบคริสตจักร
- คริสตจักรควรสื่อสารมาตรการของคริสตจักรเพื่อดูแลสุขอนามัย เพื่อสร้างความสบายใจ และความเข้าใจให้แก่ชุมชนและภาครัฐ ทั้งนี้คริสตจักรสามารถนำจดหมายจาก กปท. ไปใช้ประกอบการนำเสนอกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามความเหมาะสม
- อาจทำแผ่นป้ายหน้าคริสตจักรสื่อสารมาตรการอนามัย หรือสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ของคริสตจักร เพื่อการรับรู้และความสบายใจของชุมชนโดยรอบ
5. เตรียมการรองรับผู้ที่ยังไม่สามารถมาร่วมนมัสการได้
- คริสตจักรควรมีแผนในการอภิบาลดูแลผู้ที่ยังไม่สามารถมาร่วมนมัสการได้ เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก รวมถึงผู้ที่มีข้อจำกัดเรื่องสุขภาพ หรือผู้ที่ยังไม่สะดวกใจจะมาร่วมนมัสการ การประชุมออนไลน์จึงอาจเป็นทางเลือกสำคัญอีกช่องทางหนึ่งเพื่อช่วยเสริมสร้างสมาชิก
การผสมผสานแบบใหม่
แม้ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งสำหรับคริสเตียนแล้ว เราเห็นความจำเป็นอย่างมากที่ต้องสามัคคีธรรมกับพี่น้อง แต่วิกฤตโควิดได้สร้างข้อจำกัดในการพบปะกัน ซึ่งนั่นทำให้ผู้นำคริสตจักรจำนวนมากปรับตัวมาใช้ช่องทางออนไลน์แทนจนเกิดผลดีทั้งในการให้คำปรึกษา เลี้ยงดูสมาชิก และจัดการประชุมกลุ่มย่อย แม้ว่าช่วงแรกสมาชิกอาจยังไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี แต่ภายหลังก็สามารถปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น
ช่องทางออนไลน์จึงกลายเป็นช่องทางสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการทำงานกับคนรุ่นต่อไป รวมทั้งการเข้าถึงสังคมและคนภายนอกคริสตจักร คริสตจักรจึงควรใช้วิกฤตนี้พัฒนาช่องทางทำงานใหม่ทางออนไลน์ขึ้น โดยผสมผสานทั้งช่องทางเดิมกับช่องทางใหม่ ซึ่งนี่จะเป็นแนวทางการปรับตัวสาหรับอนาคตที่น่าสนใจยิ่ง
คู่มือแนวทางภาคปฏิบัติเพื่อเตรียมการเปิดรอบนมัสการ ในช่วงสถานการณ์ โควิด – 19
จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2020 โดย คณะกรรมการประสานงานคริสตจักรโปรเตสแตนท์แห่งประเทศไทย (กปท.) ในความร่วมมือของสภาคริสตจักรในประเทศไทย สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย และสหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย
ดาวน์โหลด PDF คู่มือข้อแนะนำภาคปฎิบัติของกปท. ที่นี่
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น