บทความ

7 สิ่งที่ได้เรียนรู้ในปี 2021 — ดร.อาณัติ เป้าทอง —

ในชีวิตของเราย่อมรับบทบาทที่หลากหลาย เช่น พ่อ, สามี, เพื่อน และ อื่น ๆ โดยที่แต่ละบทบาทก็จะกำหนดความรับผิดชอบและหน้าที่ของมัน ผมจึงอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ในแต่ละบทบาทของตัวเอง

1. บทบาทคริสเตียน – การอธิษฐานเป็นเรื่องง่ายที่ทำยาก

ในปีที่แล้วผมได้เขียนอธิบายไปบ้างแล้วว่า การอธิษฐานเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทำได้ง่าย กล่าวคือ เราเป็นผู้ที่กำหนด รูปแบบ (how) เวลา (when) สถานที่ (where) ได้เองทั้งหมด ไม่ต้องมีพิธีหรือเงื่อนใดๆ มาบังคับเรา สิ่งที่เราทำก็คือ “พูดคุยกับพระเจ้า” ก็แค่นั้นเอง หรือ หากจะมองในมุมของความสำคัญ (why) ผมเชื่อว่าคริสเตียนเห็นตรงกันว่าสำคัญมาก มีประโยชน์มากมายในหลาย ๆ มิติ แต่อะไรนะที่ทำให้เราบกพร่องในเรื่องที่ง่ายและสำคัญเช่นนี้

ในปีที่แล้ว ผมตั้งใจจะอธิษฐานทุกวัน แต่พอผ่านไปสักระยะก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า และพอจะตั้งใจใหม่ก็ล้มเหลวอีก เป็นวงจรแบบนี้ตลอดทั้งปี จุดสังเกตส่วนตัวในเรื่องการอธิษฐาน คือ คำว่า “ราบรื่น กับ วิกฤต” กล่าวคือ ในช่วงที่ชีวิตราบรื่นและเป็นไปตามสิ่งที่คาดหวังเอาไว้ ชีวิตการอธิษฐานจะเข้าสู่ช่วงวิกฤต ผมมักจะหลงลืมการอธิษฐานในช่วงที่ชีวิตสบาย แต่ในช่วงที่ชีวิตเกิดวิกฤต และมีหลายสิ่งที่ผิดคาด หรือ ต้องการความช่วยเหลือ ชีวิตการอธิษฐานจะราบรื่น จะเรียกร้องให้พระเจ้าเข้ามาแทรกแซงและช่วยเหลือเสมอ

พอเขียนถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกถึง ชาวอิสราเอลในช่วงของยุคผู้วินิจฉัย พวกเขาคงจะมีวงจรชีวิตแบบเดียวกับเรา หากใครที่มีชีวิตการอธิษฐานล้มลุกคลุกคลานเหมือนผม เรามาเริ่มต้นปี 2022 กันใหม่นะครับ

“การอธิษฐานไม่ใช่เครื่องมือของเราในการเปลี่ยนพระเจ้า แต่เป็นเครื่องมือของพระเจ้าในการเปลี่ยนเรา”

2. บทบาทคนเล่นคลับเฮ้าส์ – โทนที่เป็นมิตร พิชิตใจผู้ฟัง

ในปีที่ผ่านมา มีแพลตฟอร์มออนไลน์อันใหม่ ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว นั่นคือ clubhouse ผมได้มีโอกาสเข้าไปแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ และ ความเชื่อกับคนมากมายที่แตกต่างจากเรา และได้ข้อคิดมาหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เทคนิคการพูด เป็นที่ทราบกันดีว่านักพูดที่ดีจะเตรียมตัวในการพูดเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้ฟัง แต่เนื่องจากในการสื่อสารผ่านทาง clubhouse เราไม่รู้ว่าผู้ฟังเป็นใครบ้าง อีกทั้งไม่มีโอกาสเห็นท่าทางของผู้ฟัง ผมจึงสรุปว่า เราทำเพียงแค่ควบคุมเนื้อหากับการใช้เหตุผลให้รัดกุมก็เพียงพอ

แต่พอได้มีโอกาสฟังนักพูดหลาย ๆ คนในนั้น ผมได้เรียนรู้เพิ่มว่า นอกจากเนื้อหาและเหตุผล ก็ยังมีตัวแปรอื่นที่ช่วยส่งเสริมให้การพูดมีประสิทธิผลมากขึ้น นั่นคือ น้ำเสียง, ความเป็นมิตร และ ให้เกียรติผู้ฟัง ซึ่งผมเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “โทน” ผมสังเกตว่านักพูดที่ควบคุมโทนดี คู่สนทนาก็จะมีแนวโน้มเป็นมิตรกับเรา และทำให้บรรยากาศของห้องราบรื่น ไม่วุ่นวาย

“โทนการพูดที่นุ่มนวล จะเชิญชวนให้คนฟัง”

3. บทบาทนักธุรกิจ – รับมือกับความเสี่ยง ด้วยความพร้อม

มีเพื่อนคนหนึ่งถามผมว่า ผมรับมือกับความเสี่ยงในการลงทุนอย่างไร ผมตอบไปว่าการลงทุนก็คล้าย ๆ กับ “การเข้าสอบ” กล่าวคือ ตอนที่เราเป็นนักเรียนเราเองก็ไม่รู้ว่าข้อสอบจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เราทำได้คือการเตรียมตัวให้พร้อม โดยทบทวนเนื้อหา ทำแบบฝึกหัด รวมไปถึงเก็งข้อสอบ ซึ่งหากเราเตรียมตัวพร้อม เราจะไม่กลัวการสอบเลย แต่ในทางตรงกันข้ามหากเราเตรียมตัวไม่พร้อม การเข้าสอบก็จะเป็นเรื่องที่น่ากังวล เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ เราควรจินตนาการถึงสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ อีกทั้งหาทางแก้ไขหรือป้องกัน ก่อนที่สถานการณ์นั้น ๆ จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งการเตรียมตัวที่ดีจะทำให้เรารับมือการสถานการณ์เหล่านั้นได้อย่างสุขุมและมีประสิทธิภาพ

ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้คนมากมายโดนผลกระทบของสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ผมสังเกตเห็นว่า ใครที่เตรียมตัวดี จะสามารถปรับตัวได้ไว และเดินหน้าไปต่อได้ ส่วนใครที่เตรียมตัวไม่พร้อมก็จะมีความยากลำบากในการปรับตัว

4. บทบาทนักเรียน – พัฒนานิสัยการอ่าน โดยเริ่มอ่านสิ่งที่รัก

ปีที่ผ่านมา ผมได้รับปริญญาที่ปรารถนามาอีก 1 ใบ นั่นคือ Master of Christian Apologetics จาก Biola University ซึ่งในขณะที่เรียนอยู่ แต่ละวิชาก็จะกำหนดให้เราอ่านหนังสือเล่มนู้นเล่มนั้นมากมาย แต่หลังจากเรียนจบแล้ว ผมมีโอกาสมานับจำนวนหนังสือที่เราอ่านทั้งหมดตลอดหลักสูตร (มากกว่า 50 เล่ม) ก็ประหลาดใจเล็กน้อยว่า ตลอด 3 ปี ผมอ่านพวกนี้หมดเลยเหรอ เยอะเหมือนกันนะ

จึงมานั่งทบทวนว่า อะไรคือ สิ่งที่ทำให้เราสามารถอ่านหนังสือได้เยอะ ผมพบว่านิสัยการอ่านถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ในช่วงอายุ 13 ปี ผมชอบเข้าไปร้านเช่าหนังสือการ์ตูน แล้วก็นั่งอ่านในร้านเกือบทั้งวัน อ่านเกือบทุกเรื่องที่อยู่ในร้าน อ่านการ์ตูนมากจนเกิดนิสัยเสพติดการอ่าน เวลาไปไหนหรือทำอะไรก็ต้องพกอะไรสักอย่างไปอ่านติดตัวเสมอ (จำได้ว่า ตอนเข้าห้องน้ำ ยังต้องอ่านฉลากแชมพู สบู่ ยาสีฟัน เลย) จึงได้ข้อคิดที่สำคัญ คือ หากเราอยากพัฒนานิสัยการอ่าน ก็เริ่มต้นจากการอ่านสิ่งที่รัก

5. บทบาทศิษยาภิบาล – เพื่อนร่วมทาง ไม่ใช่ทีมงาน

ผมเชื่อว่าน่าจะมีคริสเตียนหลายคนที่เคยตั้งใจว่า จะออกไปมีส่วนร่วมในการตั้งคริสตจักร หรือ อยากเป็นศิษยาภิบาลดูแลคริสตจักรของพระเจ้า ซึ่งผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกและคิดแบบนั้น จึงได้ถ่ายทอด “นิมิตและภาระใจของเรา” ลงไปให้ทีมงานและสมาชิกรับรู้ อีกทั้งหนุนใจให้พวกเขามาร่วมกันรับใช้พระเจ้า ซึ่งทีมงานก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

แต่เดี๋ยวก่อน เราถ่ายทอด “นิมิตและภาระใจของเรา” ให้ทีมงานรับรู้ แล้วเราได้รับรู้ “นิมิตและภาระใจของพวกเขา” หรือยัง ผมรู้สึกว่าเป็นการไม่แฟร์เลยที่ผมไปวางภาระของเราไปบนบ่าของพวกเขา มากไปกว่านั้นในฐานะของ “ผู้เลี้ยง” เราควรที่จะรับรู้ สนับสนุน และนำทางพวกเขา “นิมิตและภาระใจของพวกเขา” ไม่ใช่หรือ พระเจ้าน่าจะต้องการให้เราสนับสนุนและนำทางพวกเขาเพื่อให้บรรลุนิมิตในชีวิตของพวกเขา ไม่ใช่ให้พวกเขามาบรรลุนิมิตของเรา

“หากเรามองพวกเขาเป็นทีมงาน เราก็จะมีแนวโน้มให้พวกเขามีสนับสนุนนิมิตและภาระใจของเรา
แต่หากเรามองพวกเขาเป็นเพื่อนร่วมทาง เรากับพวกเขาก็จะเดินไปด้วยกันสนับสนุนนิมิตและภาระใจของกันและกัน”

6. บทบาทพ่อ – ความสุขของลูกเป็นความสุขของพ่อ

เมื่อเห็นลูกเสียใจ เจ็บปวดกับเรื่องอะไรก็ตาม ผมก็จะรู้สึกเสียใจตามไปด้วย และในทางตรงกันข้าม เมื่อเห็นลูกมีความสุข มีเสียงหัวเราะ มีรอยยิ้ม หรือ ดีใจกับเรื่องอะไรก็ตาม ผมก็จะรู้สึกยิ้มตามและมีความสุขไปด้วย อีกทั้งในบางครั้งผมเองก็ยอมเหนื่อย ยอมจ่ายราคา เพื่อแลกกับการที่ได้เห็นรอยยิ้มเหล่านั้น ความรู้สึกนี้ทำให้เกิดความรู้สึกอีก 2 อย่างตามมาคือ (1) อยากขอบคุณพ่อที่ยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อเรา และ (2) พระเจ้าก็คงรู้สึกแบบนั้นกับพวกเราเช่นกัน

“เราจะเข้าใจและรักพ่อมากขึ้น เมื่อได้เป็นพ่อ”

7. บทบาทสามี – การคืนดี มาก่อน ความถูกต้อง

ผมกับภรรยาเห็นตรงกับหลักการพระคัมภีร์ว่า ความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาเป็นสิ่งที่ต้องรักษา มีเพียงความตายเท่านั้นที่จะหยุดความสัมพันธ์นี้ได้ (unbreakable bond) แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีเรื่องที่ความเห็นไม่ตรงกัน ไม่เข้าใจกัน อยู่บ้างแม้จะไม่บ่อยนัก และสิ่งที่ผมสังเกตและประทับใจภรรยามาก คือ เกือบทุกครั้งที่ไม่เข้าใจกัน เธอจะเป็นผู้ที่ริเริ่มการคืนดี โดยการใช้คำง่ายๆว่า “ขอโทษ” ซึ่งคำ ๆ นี้เปรียบเสมือนคำพิเศษที่ละลายใจที่ขุ่นมัวของผมได้อย่างดี และก็จะลงเอยด้วย “การให้อภัย” จากนั้นเราสองคนค่อยมาคุยกันว่า “ถูกผิดคืออะไร” “อีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร” “ป้องกันแก้ไขกันอย่างไร”

แม้ว่าหลายครั้ง ไม่ได้มีใครเป็นฝ่ายถูกฝ่ายผิด แต่เป็นเพียงแค่สไตล์ที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง ในขณะที่ในสมองของคือ “ผมผิดตรงไหน, หากผมผิด ผมก็ยินดีขอโทษนะ” แต่สิ่งที่ภรรยาทำ คือ การเข้ามาขอโทษก่อนทั้ง ๆ ที่เธอไม่ได้ผิดอะไรเลย ผมจึงเรียนรู้ว่า เธอยอมละทิ้งตัวเอง (break own ego) เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์ (unbreakable bond) ระหว่างกันเอาไว้

สิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกับที่พระเยซูทำกับมนุษย์ กล่าวคือ พระองค์เป็นผู้ริเริ่มการคืนดีโดยการละทิ้งสภาพพระเจ้ามาเป็นมนุษย์เพื่อไถ่บาปเราที่กางเขน ทั้ง ๆ ที่พระองค์ไม่ได้มีความผิดใด ๆ และหลังจากนั้น พระเจ้าจึงค่อยเข้ามาสอนเราว่าถูกผิดคืออะไร

“คนที่เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ จะยินดีละทิ้งตัวเองเพื่อรักษาความสัมพันธ์นั้น”

 

#ChristLike #BecomingLikeChrist

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง