ผมได้มีโอกาสอ่านและศึกษามากขึ้นเกี่ยวกับอุปมาของพระเยซูคริสต์เรื่อง “เศรษฐีกับลาซารัส” (ลูกา 16:19–31) เป็นอุปมาที่มีคำสอนที่น่าประทับใจ
เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่า ฉะนั้นไม่ได้เน้นศาสนศาสตร์ชีวิตหลังความตาย เมื่ออ่านใน ลูกา 16: 23 เราจะพบว่าดินแดนที่เศรษฐีและลาซารัสอยู่เหมือนจะเป็นที่เดียวกัน มีเหวใหญ่กั้น แต่ยังสามารถคุยกันได้ ถ้าเราดูศาสนศาสตร์หลังความตายเราจะไม่พบสถานที่แบบนั้น ความจริงสถานที่ลักษณะนี้เป็นการนำความเข้าใจโลกหลังความตายในวัฒนธรรม Greco-Roman คือเป็นมุมมองของเทพนิยายกรีก-โรมัน เพื่อสื่อสารคำสอนที่สำคัญมากกว่า
อุปมาจะเน้นชีวิตของเศรษฐีโดยอธิบายชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย เขาเห็นลาซารัสที่นอนอยู่ที่หน้าประตูบ้านของเขา เขาไม่ได้ทำอะไร เพียงมองผ่านไปเท่านั้น
เมื่อทั้งคู่ตายไป เศรษฐีอยู่ฝั่งที่ทนทุกข์ทรมาน ลาซารัสอยู่ฝั่งผู้ได้รับการปลอบโยนจากอับราฮัม เราพบว่าทั้งคู่ต่างก็เรียกอับราฮัมเป็นบิดาเหมือนกัน ดินแดนหลังความตายนี้ก็ตัดขาดจากโลกมนุษย์ จะสื่อสารกันไม่ได้ (จุดนี้การตีความไม่ควรลงรายละเอียดถึงเรื่องความรอด เพราะวัตถุประสงค์ของอุปมาไม่ได้ต้องการสื่อเรื่องนี้)
เรื่องนี้ต้องการสอนอะไรเรา?
เรื่องราวในอุปมานี้มีจุดเน้นที่ชีวิตของเศรษฐีที่มั่งมีเพื่อตนเอง ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อบำรุงบำเรอความสุขของตัวเองโดยไม่เคยสนใจหรือแยแสคนที่ยากลำบากกว่าแม้จะนั่งอยู่ภายนอกบ้านของตน และผลของการกระทำอย่างเห็นแก่ตัวของเขาในโลกจะต้องรับผลภายหลังในโลกหลังความตายอย่างแน่นอน
ข้อสรุปที่ดีคือ ในชีวิตประจำวันที่รีบเร่งของเรา เราได้ “เห็น” ความลำบากของผู้คนแล้วลงมือช่วยเขามากน้อยแค่ไหน ความรักที่เรามีได้แสดงออกไปต่อผู้ที่ยากลำบากกว่าเราแค่ไหน
ความสามารถในการ “เห็น” ความทุกข์ใจของผู้อื่น
เป็นสัญลักษณ์ของสาวกพระเยซูคริสต์
พระเยซูทรงรักเรา ทรงเห็นใจเรา และทรงลงมาเพื่อเรา วันนี้คุณได้เห็นใครไหมที่ต้องการความช่วยเหลือ อย่าให้เราเป็นเหมือนเศรษฐีที่ได้แค่มองแต่กลับไม่ได้เห็นอะไรเลย
ขอพระเจ้าอวยพระพร
บทความ: กนก ลีฬหเกรียงไกร
ภาพ: Amirhossein Azandarian Malayeri on Unsplash
ออกแบบ: Zippy
อ้างอิง: Snodgrass Klyne R. Stories with Intent. Grand Rapids: Eerdmans Publishing Co., 2008
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น