2 พงศ์กษัตริย์ 20:5-11 และ อิสยาห์ 38:8 เป็นเหตุการณ์ตอนที่เฮเซคียาห์ป่วยหนักจนถึงต้องสิ้นพระชนม์ จึงทรงอธิษฐานขอชีวิตจากพระเจ้า อิสยาห์ผู้เผยพระวจนะได้มาแจ้งท่านว่า พระเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานของท่านและจะต่ออายุท่านออกไปอีก 15 ปี
เฮเซคียาห์ถามอิสยาห์ว่า อะไรคือหมายสำคัญว่าพระเจ้าจะทรงรักษาท่าน
อิสยาห์ตอบว่า “ต่อไปนี้เป็นหมายสำคัญสำหรับฝ่าพระบาทจากพระเจ้า ที่พระเจ้าจะทรงกระทำตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ คือว่า จะให้เงาคืบหน้าไปสิบขั้น หรือย้อนกลับมาสิบขั้น” (พกษ. 20:9) แล้วเฮเซคียาห์ก็เลือกให้เงาย้อนกลับมา 10 ขั้น
ข้อถกเถียงเรื่องนาฬิกาแดด
เรื่องเกี่ยวกับนาฬิกาแดดของอาหัสนั้นมีข้อถกเถียงกันอยู่บ้างว่า หมายถึง อุปกรณ์บอกเวลาหรืออะไรกันแน่ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่า นาฬิกาแดดถูกสร้างขึ้นโดย ชาวกรีกในศตวรรษที่ 16 ก่อนคริสตศักราช ซึ่งอยู่ในยุคหลังอาหัสกว่า 200 ปี
ข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยซีซาร์ออกกัสตัส (ไม่กี่ปีก่อนการบังเกิดของพระเยซู) ซึ่งบันทึกโดย Marcus Vitruvius (สถาปนิกและนักคณิตศาสตร์) ระบุว่า เบโรซุส (Berosus) ปุโรหิตชาวเคลเดียเป็นผู้คิดค้นนาฬิกาแดดขึ้นมา ซึ่งเบโรซุสคนนี้มีชีวิตอยู่ในช่วง กคศ. 250
ส่วนเฮโรโดตัสนักประวัติศาสตร์ชาวกรีก (440 กคศ.) กล่าวว่า ชาวบาบิโลนเป็นผู้คิดค้นนาฬิกาแดดขึ้นมา
ขณะที่ใน มหากาพย์โอเดสซีย์ของโฮเมอร์ (900 กคศ.) กล่าวเป็นนัย ๆ ถึงเ ครื่องมือที่ใช้เพื่อสังเกตปรากฎการณ์ของดวงอาทิตย์ที่มีใช้แล้วในซีเรีย ถ้าสิ่งนี้คือเครื่องบอกเวลา ก็ไม่แปลกที่อาหัสจะมีไว้ใช้ในพระราชวังของพระองค์ เพราะจาก 2 พงศ์กษัตริย์ 16 เราจะเห็นว่าอาหัสเป็นคนที่ชื่นชอบสิ่งประดิษฐ์ของชาวต่างชาติและอยากจะมีมันไว้เป็นของตนเอง
นาฬิกาแดดโบราณเมื่อ 2,000 ปีก่อน พบในประเทศตุรกี
ที่มาภาพ: www.dailysabah.com
ข้อสังเกตจากพระคัมภีร์
นอกจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตจากพระคัมภีร์ด้วย
คำว่า “ขั้น” และ “นาฬิกาแดด” (2 พกษ. 20:9-11) ในภาษาฮีบรู เป็นคำ ๆ เดียวกัน คือ מַעֲלָה (มาอะลาห์) ที่ปกติหมายถึงขั้นบันได เพราะคำๆ เดียวกันนี้ในพระคัมภีร์ตอนอื่นๆ แปลว่าขั้นบันไดทั้งหมด (อพย. 20:6; 1 พกษ. 10:19-20; 2 พกษ. 9:13; อสค. 40:6; อมส. 9:6; นหม. 3:15; 12:37)
นักวิชาหลายคนให้ความเห็นว่า “ขั้น” ที่พระคัมภีร์ตอนนี้กำลังพูดถึงหมายถึง “ขั้นบันได” ซึ่งก็หมายความว่านาฬิกาแดดของอาหัสนั้นมีรูปทรงแบบขั้นบันได หรือ อาจจะเป็นขั้นบันไดส่วนพระองค์ที่ใช้เสด็จไปยังพระวิหารก็ได้
เพราะตามข้อมูลพบว่า มีบันไดทอดยาวจากพระราชวังลงไปทางทิศตะวันออกจนถึงประตูม้า ริมกำแพงเมือง (นหม. 3:28; 2 พศด. 23:15; ยรม. 31:40) และมีบันไดอีกอันหนึ่งจากประตูม้าทอดขึ้นไปทางทิศใต้ของพระวิหาร บันไดทั้งสองเป็นเส้นทางส่วนพระองค์ที่กษัตริย์ใช้เพื่อเสด็จไปยังพระวิหาร
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า เป็นบันไดพระราชวัง หรือ นาฬิกาแดดรูปทรงขั้นบันได แต่อยู่ที่ หมายสำคัญที่พระเจ้าทรงประทานให้กับเฮเซคียาห์ ซึ่งถ้าโดยธรรมชาติแล้ว เงาของแสงอาทิตย์มีแต่จะทอดไปข้างหน้า แต่พระเจ้าทรงกระทำให้มันให้ย้อนกลับมาสิบขั้น
อิสยาห์ 38:8 ช่วยให้เรารู้ว่าหมายสำคัญนี้เกิดขึ้นในช่วงบ่ายแก่ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าเงาของแสงอาทิตย์กำลังทอดไปจนถึงขั้นที่สิบของบันไดแล้ว ก่อนที่พระเจ้าจะทำให้มันย้อนกลับมา
เราจะอธิบายปรากฎการณ์ที่เงาย้อนกลับขึ้นมาสิบขั้นได้อย่างไร?
คำถามนี้สำคัญ ซึ่งมีความเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ
- พระเจ้าทรงย้ายตำแหน่งของดวงอาทิตย์กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่เงาแดดจะย้อนกลับมาสิบขั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่พระเจ้าจะทำแบบนั้น เพราะการทำให้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์หยุดนิ่งอยู่ พระองค์ก็ทำมาแล้ว (ยชว. 10:13)บางคนอธิบายเรื่องนี้ว่าเป็นปรากฎการณ์ซันด็อก (Sun Dog) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า พาร์ฮีเลีย (Parhelia) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกี่ยวกับการหักเหของแสงอาทิตย์ผ่านผลึกน้ำแข็งรูปหกเหลี่ยมในกลุ่มก้อนของเมฆ ซึ่งมักอยู่ในกลุ่มเมฆเซอร์รัส (Cirrus) ผลึกน้ำแข็งที่ว่านี้อยู่สูงจากพื้นดินราว 10 กิโลเมตร เมื่อแสงทำมุมกับผลึกน้ำแจ็งของเมฆที่ 22 องศา จะเกิดเป็นแสงสะท้อนจนดูเหมือนว่ามีดวงอาทิตย์อีก 1 หรือ 2 ดวง ในจังหวะที่เกิดปรากฎการพาร์ฮีเลีย มีก้อนเมฆมาบังดวงอาทิตย์ดวงจริง จึงมีแต่ดวงอาทิตย์จำลองที่ส่องแสง ทำให้เงาที่ทอดไปยังบันไดย้อนกลับมา
. - อีกวิธีหนึ่งคือ มีแสงสว่างที่สว่างกว่าแสงอาทิตย์ ณ ขณะนั้นส่องไปยังขั้นบันไดที่เป็นเงา และทำให้เงาที่ทอดลงมาเลื่อนย้อนกลับขึ้นไปสิบขั้น แต่คำถามก็คือแสงที่ว่านั้นคือแสงอะไรและจะมาจากไหนในประเด็นนี้มีบางคนอธิบายว่าเป็น “เสาไฟ” ที่นำทางพวกอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร หรือไฟของพระเจ้าทรงเผาไหม้นาดับและอาบีฮู (ลนต. 10:2) หรือไฟแห่งพระสิริของพระเจ้าที่พลุ่งออกมาเพื่อผลาญค่ายของอิสราเอลในช่วงที่โคราห์กบฎ (กดว. 16:42-45) ซึ่งเป็นไฟจากฟ้าสวรรค์ที่ลงมาเผาเครื่องบูชาในวันที่ซาโลมอนถวายพระวิหาร (1 พศด. 7:1-3) ไฟของพระเจ้านี้ส่องสว่างมาจากห้องบริสุทธิ์ที่สุด ซึ่งเป็นที่ตั้งของหีบพันธสัญญา
สิ่งที่เราต้องตระหนักอยู่เสมอคือ พระเจ้าทรงฤทธานุภาพสูงสุด พระองค์สามารถใช้วิธีอะไรก็ได้ เพื่อบรรลุพระประสงค์ของพระองค์ บางวิธีอาจจะมีคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ แต่บางวิธีอาจจะไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะสิ่งที่พระคัมภีร์บันทึกไว้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เฮเซคียาห์หายป่วยจริง เงาที่ย้อนกลับมาสิบขั้นเป็นแค่หมายสำคัญสำหรับเฮเซคียาห์เท่านั้น
เงาที่ย้อนกลับมาสิบขั้นคิดเป็นเวลาเท่าไร?
อีกคำถามหนึ่งที่นักศึกษาอยากรู้คือ เงาที่ย้อนกลับมาสิบขั้นคิดเป็นเวลาเท่าไร การตอบคำถามนี้ต้องย้อนกลับที่คำภาษาฮีบรูว่า מַעֲלָה (มาอะลาห์) อีกครั้ง เพราะคำนี้นอกจากแปลว่า “ขั้น” แล้ว ยังแปลว่า “องศา” อีกด้วย นั่นคือสาเหตุที่พระคัมภีร์ฉบับ KJV และ AV แปลคำนี้ว่า degree (องศา)
ตามธรรมเนียมของยิว กลางวันมีระยะเวลา 12 ชั่วโมง (ยน. 11:9)
ดังนั้นตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นถึงดวงอาทิตย์ตกคือ 12 ชั่วโมง หรือเท่ากับ 180 องศา
ดังนั้นใน 1 วันจึงเท่ากับ 720 นาที (12×60=720)
เมื่อเอา 720 นาทีหารด้วย 180 องศา จะเท่ากับ 4 นาทีต่อองศา
ดังนั้นเงาย้อนกลับมา 10 ขั้น (องศา) จึงเท่ากับ 40 นาที
ซึ่งก็หมายความว่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เวลาจะเพิ่มขึ้นวันละ 40 นาที
เรื่องที่น่าสนใจคือยิวจะใช้ดวงจันทร์เป็นเกณฑ์ในการนับเวลา โดยใน 1 ปีจะมี 12 เดือนๆ ละ 30 วัน และทุกๆ 3 ปีพวกยิวจะเพิ่มเดือนที่ 13 เข้ามา คำถามคือทำไม? มันเกี่ยวกับเวลา 40 นาทีที่เพิ่มขึ้นไหม ลองพิจารณาการคำนวณนี้
40 นาทีต่อวัน x 30 วันต่อเดือน = 1200 นาทีในแต่ละเดือน
1200 นาที x 12 เดือน (ต่อปี) = 14,400 นาทีต่อปี
14,400 นาทีต่อปี x 3 ปี = 43,200 นาที
43,200 นาทีหารด้วย 60 นาทีต่อชั่วโมง = 720 ชั่วโมงต่อ 3 ปี
720 ชั่วโมง หารด้วย 24 ชั่วโมงต่อวัน = 30 วัน (เดือนที่ 13)
นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่พระเจ้าเองทรงเป็นผู้กำหนดเงาย้อนกลับ 10 ขั้น ไม่ใช่ให้เฮเซคียาห์เป็นคนกำหนด เพราะถ้าเฮเซคียาห์กำหนด อาจจะเป็น 12 หรือ 40 ขั้น ซึ่งจะทำความสับสนกับระบบวันเวลาอย่างมาก ดังนั้นพระเจ้าผู้ทรงกำหนดและวางระเบียบของโลกจึงเป็นผู้กำหนดว่า 10 ขั้น ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อวันเดือนปีและวันสำคัญที่พระองค์ทรงกำหนดขึ้น
อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่ามนุษย์จะพยายามหาเหตุผลมาอธิบายสิ่งที่พระคัมภีร์บันทึกไว้ อย่างที่บอก บางเรื่องก็อธิบายได้อย่างสมเหตุสมผล บางเรื่องก็อาจจะไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะคริสเตียนไม่ได้มองพระคัมภีร์ด้วยสายตาของนักประวัติศาสตร์ แต่มองด้วยสายตาของนักศาสนศาสตร์ คือ เรื่องราวที่มีพระเจ้าอยู่ในนั้น และพระองค์ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระองค์ เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับมนุษย์
บทความ: ศจ. ดร. สมใจ รักษาศรี
ศิษยาภิบาลคริสตจักรแห่งความเชื่อแบ๊บติสต์
อาจารย์สถาบันพระคริสตธรรมศึกษา Faith Bible Institute
ผู้อำนวยการสถาบันครอบครัวไทย
ภาพ: Mick Haupt on Unsplash
ออกแบบ: Zippy
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น