ผมมักได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของความเงียบในโลกที่แห่งความวุ่นวาย ผู้คนมากมายทั้งทางโลกและที่เคร่งศาสนา มักจะแนะนำให้ใครต่อใครเว้นวรรคจากการดูโทรทัศน์ ฟังเพลง ดูวิดีโอ ดูข่าว และเล่นโซเชียล แล้วอยู่นิ่งๆ ในความเงียบ
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ดีแต่บางทีก็น่างงอยู่ว่าทำไมเราต้องไปนั่งเงียบๆ เราจะได้อะไรจากการอยู่ในความเงียบ?!
ความเงียบ 3 แบบ
หลายคนคิดว่า ความเงียบ คือการไม่ได้ยินและไม่ได้คิดอะไร แต่เราทำไม่ได้หรอกที่จะไม่คิดอะไรเลย แม้ว่าเราพยายามไม่พูดอะไร ไม่ได้ยินอะไร แต่เราก็ยังคงอะไรบางอย่างในหัวอยู่ดี เพราะนี่คือสิ่งที่เราเป็น
และเนื่องจากเราไม่สามารถปิดสวิตช์ความคิดตัวเองได้ เราจึงอาจเลือกให้เสียงใดเสียงหนึ่งในสามเสียงต่อไปนี้ ดังก้องในความเงียบของเรา
เสียงแรก คือ เสียงจากความคิดของเราเอง แม้เราจะเข้าไปอยู่ในห้อง พยายามทำตัวเงียบๆ เราก็ยังคงได้ยินเสียงจากสิ่งต่างๆ ดังอยู่ในใจเรา ดูแล้ววิธีนี้มักไม่ค่อยเป็นประโยชน์สักเท่าไหร่ เพราะกลายเป็นว่าเรามัวใช้เวลากับความคิดที่วุ่นวายมากกว่าที่จะได้ใช้เวลากับความเงียบสงบ
เสียงที่ 2 ก็คือ คำจำพวก “โอม” ซึ่งเป็นคำที่ชาวพุทธหรือชาวฮินดูท่องในขณะที่ทำสมาธิเพื่อหาความเงียบสงบ แล้วคำนี้มันแปลว่าอะไรล่ะ?!… มันไม่มีความหมาย… ก็นี่ไงล่ะพวกเค้าถึงได้ท่องมันซ้ำไปซ้ำมาเพื่อเติมจิตให้เต็มด้วย “ความว่างเปล่า”
อย่างไรก็ตามความเงียบประเภทนี้ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเรา เพราะพระเจ้าสร้างเราขึ้นมาในพระฉายาของพระองค์ซึ่งมีความคิดและความรู้สึก
เสียงสุดท้ายที่เราอาจได้ยินในความเงียบสงบ ก็คือ พระวจนะของพระเจ้า นั่นเอง
จงฟังคำของพระเจ้า (Hear the Word)
มันอาจฟังดูย้อนแย้งที่ใช้ “ความเงียบสงบ” เพื่อเปิดใจฟังคำของพระเจ้า แต่ผมอยากให้คุณลองพิจารณาถ้อยคำของ ดีทริค บอนเฮิฟเฟอร์ (Dietrich Bonhoeffer) นักศาสนศาสตร์ชาวเยอรมันคนนี้ดู
“มีมุมมองผิดๆ เกี่ยวกับความเงียบสงบว่าเป็นกริยาท่าทีที่ใช้ในพิธีกรรม เป็นความปรารถนาที่จะมีประสบการณ์ลึกล้ำอันเหนือกว่าถ้อยคำพระเจ้า สิ่งนี้ทำให้เราพลาดจากความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่าง ‘ความเงียบสงบ’ และ ‘พระคำพระเจ้า’
ความเงียบสงบ คือ อาการนิ่งเงียบของบุคคลนั้นๆ ต่อพระวจนะ เราต้องนิ่งเงียบก่อนถึงจะได้ยินพระวจนะพระเจ้า เพราะทำให้ความคิดเรามุ่งตรงไปที่พระคำของพระองค์ ราวกับเด็กคนนึงที่สำรวมกริยาเดินเข้าไปในห้องทำงานของคุณพ่อ
หลังจากที่ได้ฟังพระวจนะแล้วเราก็ยังคงสงบอยู่ เพราะพระคำนั้นดังก้องและกำลังเข้าสนิทอยู่ในตัวเรา…และเราก็ยังดำเนินอยู่ในความเงียบสงบต่อไป ซึ่งไม่ใช่เป็นการเพิกเฉยต่อพระคำ หากเป็นการให้เกียรติและน้อมรับพระคำของพระองค์”
ดังนั้นความเงียบที่ดีที่สุดไม่ใช่ความเงียบงัน แต่เป็นความเงียบสงบเพื่อเตรียมใจเราให้พร้อมน้อมรับคำของพระเจ้าและรู้สึกยินดีปรีดาอย่างที่สุดกับพระองค์ผู้ซึ่งกำลังตรัสกับเรา
จิตที่สงบและเงียบ (A Calm and Quiet Soul)
คำอธิษฐานต่างๆ ที่พบในพระธรรมสดุดีได้ยืนยันถึงบทบาทของความสงบเงียบ ในสดุดี 62 ดาวิดกล่าวว่า ” จิตใจของข้าพเจ้าสงบคอยพระเจ้าเท่านั้น เพราะความหวังของข้าพเจ้ามาจากพระองค์” (สดุดี 62:5) ความเงียบสงบที่ดาวิดถวิลหาไม่ใช่ความเงียบที่เลื่อนลอย เขาแสวงหาความเงียบเพราะมีความหวังในพระเจ้า
ดาวิดโยงความหวังในพระเจ้าเข้ากับพระวจนะของพระองค์ และท้ายบทของสดุดี 62 เขาก็ยังเขียนว่า “พระเจ้าตรัสครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ยินอย่างนี้สองครั้งแล้ว ว่าฤทธานุภาพเป็นของพระเจ้า ข้าแต่องค์เจ้านาย ความรักมั่นคงเป็นของพระองค์…” (สดุดี 62: 11-12)
ความหวังที่ดาวิดมีในพระเจ้านำพาให้เขาแสวงหาความเงียบสงบ ดาวิดรอคอยพระเจ้าเพราะรู้ว่าจะได้ยินถ้อยคำจากพระองค์ เขารอคอยอย่างสงบเงียบเพราะปรารถนาจะฟังพระผู้ทรงตรัส ฉะนั้นความสงบเงียบในแบบของดาวิด คือ การจดจ่อกับพระคำพระเจ้า
ความเงียบสงบที่เปี่ยมด้วยความหวังในพระเจ้าถูกพบได้ตลอดพระธรรมสดุดี เช่น ในสดุดี 131 ดาวิดเขียนว่า “แต่ข้าพระองค์ได้สงบและระงับจิตใจของข้าพระองค์…อิสราเอลเอ๋ย จงหวังในพระยาห์เวห์” (สดุดี 131:2-3)
ในสดุดี 130 เราพบความเชื่อมโยงของ การรอคอย กับ ความหวัง “ข้าพเจ้าคอยพระยาห์เวห์ จิตใจของข้าพเจ้าคอยอยู่ และข้าพเจ้าหวังในพระวจนะของพระองค์” (สดุดี 130:5) สำหรับผู้ประพันธ์สดุดีแล้ว การเงียบสงบและรอคอย ทำให้มีความหวัง เพราะมันทำให้พวกเขาจดจ่อในพระเจ้าและถ้อยคำของพระองค์
พระเจ้าไม่เคยเงียบงัน (He Is Not Silent)
ความเงียบสงบในแบบที่ใจจดจ่อกับคำของพระเจ้ามีประโยชน์กับพวกเราอย่างมากในทุกวันนี้ คุณค่าสูงสุดของช่วงเวลาความเงียบไม่ใช่เพื่อจะได้ยินเสียงในความคิดตัวเองหรือพยายามไม่คิดอะไร แต่มันคือการให้ความเงียบเตรียมตัวเราให้พร้อมรับพระคำพระเจ้า และแยกตัวเราออกจากทุกเสียงที่รบกวนสมาธิ (รวมถึงเสียงพูดของเราด้วย!) ความเงียบช่วยให้เราหันหลังจากเสียงรบกวนต่างๆ และจดจ่อกับพระเจ้า จากนั้นเมื่อเราได้ยินพระเจ้าตรัสคำของพระองค์แล้ว…ช่วงเวลาแห่งความเงียบจะสร้างพื้นที่ให้เราได้ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง และหวังใจในพระคำพระองค์
ความเงียบอย่างมีจุดมุ่งหมายนี้ เป็นโอกาสให้เราได้แยกตัวออกจากโลกความวุ่นวาย ทั้งโทรศัพท์ เพลง ทีวี เพื่อเราจะสามารถได้ยินเสียงพระเจ้าผ่านทางพระวจนะของพระองค์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และได้สุขใจกับพระองค์ผ่านสิ่งที่เราได้ยิน
เมื่อเรามุ่งมั่นตั้งใจอยู่ในความเงียบสงบ มันทำให้เราปิดทีวี ปิดโน้ตบุ๊ค วางมือถือลง เพื่อเราจะสามารถ “ได้ยิน” และ “มีความหวัง” ในพระเจ้าผ่านทางพระคำของพระองค์ เหมือนเช่นผู้เขียนสดุดี
ฟรานซิส เชฟเฟอร์ เขียนไว้ว่า “พระเจ้าอยู่ที่นั่นและพระองค์ไม่เคยเงียบงัน” ในชีวิตอันแสนวุ่นวายของเรา เราจำเป็นต้องได้รับการย้ำเตือนอยู่เสมอว่า พระเจ้าทรงพระชนม์และทรงตรัสกับเรา ฉะนั้นจงจัดเวลาแห่งความเงียบสงบให้กับตัวเองในท่ามกลางความยุ่งวุ่นวายแต่ละวัน เพื่อที่เราจะได้ยินสิ่งพระองค์ที่คอยพูดกับเราจริงๆ สักที
บทความ: The Silence We Desperately Need Today, Ryan Hawkins
แปล: กลมกลม
ภาพ: Jordan Steranka on Unsplash
ออกแบบ: rainniedesign
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น