บทความ

เกิดอะไรขึ้นใน “ช่วงยุคเงียบ” ระหว่างพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่

ช่วงเวลาระหว่างผู้เผยพระวจนะคนสุดท้ายคือ มาลาคี กับ ยุคของพระเยซู เป็นช่วงที่ถูกเรียกว่า “ยุคเงียบ (Silent Period)” โดยมีระยะเวลาประมาณ 400 ปี ที่ไม่มีการเปิดเผยของพระเจ้าผ่านผู้เผยพระวจนะอีกเลย เหตุการณ์ก่อนหน้ายุคเงียบก็คือ อิสราเอลกลับจากการเป็นเชลยมาสร้างพระวิหาร ปฏิรูปความเชื่อและสร้างชนชาติขึ้นใหม่ จากนั้นไม่นานก็กลับไปทำบาปชั่วต่างๆ ใหม่อีกครั้ง หลังจากนั้นไม่มีพระวจนะของพระเจ้ามาถึงชาวยิวโดยผู้เผยพระวจนะอีกเลย

ศูนย์กลางการปกครองของโลกก็เปลี่ยนแปลงจากเปอร์เซีย มาสู่ยุคยิ่งใหญ่ของกรีกโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ต่อมาไม่นานก็อาณาจักรโรมันก็ขึ้นมายึดอำนาจและสร้างอารยธรรมอันยิ่งใหญ่และยาวนาน ชนชาติอิสราเอลถูกเปลี่ยนเป็นประเทศใต้อาณานิคมของประเทศต่างๆ ในช่วงเวลานั้น เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อ ศาสนา ความเชื่อและสังคมของอิสราเอล

การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ยุคที่การเมืองมีผลต่อสังคมยิวมากที่สุดน่าจะเป็นยุคของ กษัตริย์แอนติโอกุส เอพิฟานิส (Antiochus Epiphanes) พระองค์เปลี่ยนเยรูซาเล็มให้เป็นเมืองวัฒนธรรมของพวกกรีก ได้เข่นฆ่าชาวยิวทั้งเด็ก ผู้หญิงและคนแก่มากมาย ออกกฎหมายห้ามชาวยิวทำสุหนัต ห้ามรักษาวันสะบาโตและเทศกาลต่างๆ ทำลายพระคัมภีร์ และที่โด่งดังมากคือพยายามทำให้วิหารเป็นมลทิน โดยนำเทพเจ้าซีอุสเข้าไปในพระวิหาร เอาหมูและสัตว์มลทินต่างๆ เข้าไปเป็นเครื่องบูชา เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดกบฏหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งคือ แมคคาเบียน พวกเขาปฏิวัติและต่อสู้อย่างยาวนานประกอบกับการเสื่อมอำนาจของกรีกเอง จึงสามารถยึดเอาเยรูซาเล็มกลับมาได้ในปี กคศ. 142 พวกเขามีสัมพันธ์ที่ดีกับอาณาจักรโรม จนโรมยอมรับความเป็นรัฐอิสระของยิว ต่อมาได้มีการสถาปนากษัตริย์ขึ้นมาเป็น ราชวงศ์ฮัสโมเนียน แต่มีความขัดแย้งมากมายในการช่วงชิงอำนาจ จึงเกิดการแบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มที่เป็นชนชั้นสูง เช่น ขุนนางสมัยฮัสโมเนียน จึงฝักใฝ่กับพวกโรม กลายมาเป็นพวก สะดูสี (Sadducees) ส่วนพวกที่เป็นคนธรรมดา เคร่งธรรมบัญญติ แต่มีความชาตินิยม ไม่ชอบโรมันกับคนต่างชาติอื่นๆ ก็คือพวกฮาซิดิม (Hasidim) ซึ่งต่อมาแตกออกเป็นพวกฟาริสี (Pharisees) และ เอสเซน (Essenes)

แม้จะมีสัมพันธ์ที่ดีในตอนต้นก็ตาม ต่อมาภายหลังอาณาจักรโรมโดยการนำของแม่ทัพเอกคือ ปอมปีย์ (Pompey) ได้เข้ายึดกรุงเยรูซาเล็มในปี กคศ.63 จากนั้นเป็นต้นมา ชาวยิวที่ถึงแม้จะมีกษัตริย์ของตัวเองก็ตกเป็นเมืองขึ้นอย่างสมบูรณ์ของอาณาจักรโรมอีกครั้ง

ผู้นำคนสำคัญของโรมต่อมาก็คือ จูเลียส ซีซาร์ ผู้ยิ่งใหญ่ เขาโค่นอำนาจของปอมปีย์และขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง จากนั้นผู้นำโรมต่อมาซึ่งเกี่ยวข้องกับพระคัมภีร์ใหม่ก็คือจักรพรรดิซีซาร์ ออกัสตัส ผู้สั่งให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดินอิสราเอล เราจึงพบว่ามารีย์และโยเซฟต้องเดินทางไปจดทะเบียนสำมะโนครัวที่เบธเลเฮม พระเยซูก็เกิดในช่วงสมัยนี้นี่เอง (ลูกา 2: 1-7)

ถึงแม้จะตกอยู่ใต่อำนาจเบ็ดเสร็จของโรม แต่ชาวยิวก็ได้รับอนุญาตให้ปกครองตนเอง ทั้งในด้านศาสนาและการเมือง โดย ตระกูลของเฮโรด ที่แม้เป็นชาวอิดูเมียนหรือเอโดม แต่ล็อบบี้จนได้อำนาจมาจากโรมัน เลยได้มาปกครองชาวยิว ซึ่งเฮโรดก็ต้องขึ้นกับการตรวจสอบดูแลของสองกลุ่ม ในด้านการเมืองขึ้นกับรัฐบาลโรม และด้านศาสนาขึ้นกับมหาปุโรหิตและสภาสูงของชาวยิว นั่นก็คือ สภาแซนเฮดริน นั่นเอง

กษัตริย์ในตระกูลเฮโรดที่สำคัญก็คือ เฮโรดมหาราช (Herod the Great, 37-4 BCE) เฮโรดมหาราชได้สร้างพระวิหารขึ้นมาใหม่ เป็นวิหารที่สง่างามยิ่งใหญ่มาก สร้างความพึงพอใจให้แก่ชาวยิวและยอมรับเฮโรดมากขึ้น ทั้งที่เฮโรดคนนี้เป็นคนเย่อหยิ่ง โหดร้ายทารุณ เป็นคนที่สั่งฆ่าทารกทุกคนในเบธเลเฮม (มัทธิว 2:16)

ลูกชายผู้สืบทอดตำแหน่งของเฮโรดมหาราช ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระกิตติคุณได้แก่ อารเคลาอัส (Archelaus, 4 BCE-6 AD)  ซึ่งปกครองแคว้นยูเดีย สะมาเรีย และอีดูเมีย (มัทธิว 2: 22) แต่ปกครองได้ไม่นานก็ถูกโรมปลดและแต่งตั้ง ปอนทิอัสปีลาต มาปกครองดินแดนแถบนี้แทน (โรมมักส่งผู้ตรวจการ-procurator มาเฉพาะประเทศที่ยังมีความวุ่นวายไม่เรียบร้อย  เช่น ดินแดนปาเลสไตน์)

ต่อมาเป็น เฮโรด แอนทิพาร์ (Herod Antipas, 4 BCF-39 AD) ปกครองแคว้นกาลิลีและเพเรีย (มาระโก 6:17-29) ยอห์น ผู้ให้รับบัพติศมากล่าวประนามเฮโรดคนนี้เรื่องการผิดประเวณีภรรยาน้อชายตัวเองคือนางเฮโรเดียส และเป็นผู้สั่งตัดหัวยอห์นต่อมา (ลูกา 23:7-12) พระเยซูคริสต์เคยเรียกเฮโรดแอนทิพาร์ว่า “สุนัขจิ้งจอก” (ลูกา 13:32) และพระองค์ถูกส่งมาพิจารณาคดีกับเฮโรดคนนี้ด้วย (ลูกา 23:7-12) นอกจากนี้เราจะพบเฮโรด อากริปปาที่ 1 และ เฮโรด อากริปปาที่ 2 ในพระธรรมกิจการอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมและศาสนา

อิสราเอลอาศัยอยู่ภายใต้อารยธรรมของกรีก-โรมัน (Greco-Roman Mediterranean civilization) ซึ่งมีการเคารพนับถือเทพเจ้าต่างๆ และมีเทพนิยาย (Mythology) ที่กลายเป็นรากฐานความคิดต่างๆ มากมายทั้งของโรมันและยุโรปในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ชาวกรีกจะสร้างวิหารของเทพเจ้าเช่น เทพซุส เทพโพไซดอน ไว้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาและกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ

ในยุคของพระเยซูคริสต์เราไม่พบว่า ชาวยิวถูกอิทธิพลของเทพเจ้าเหล่านี้ (เทียบกับพระธรรมกิจการและจดหมายเปาโลที่เขียนไปหาคริสเตียนที่มีพื้นฐานจากกรีกและโรม) ทั้งนี้เป็นอาจเพราะความเสื่อมถอยของการนับถือเทพเจ้า สาเหตุจากการสร้างเรื่องราวที่ไร้ศีลธรรม แย่งชิงอำนาจในหมู่เทพเจ้า ทำให้นักปรัชญาบางคนเช่น เพลโต (Plato) คิดและสอนว่าควรจะละทิ้งความเชื่อเหล่านี้เสีย

อย่างไรก็ดีชาวโรมก็ได้รับเอาความเชื่อและนับถือเทพเจ้าโดยได้รับอิทธิพลของกรีกมาเช่นกัน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปและสำคัญกว่าก็คือ การกราบไหว้จักรพรรดิ จักรพรรดิโรมนำประเทศสู่ชัยชนะยิ่งใหญ่และความมั่งคั่งของประชาชน และได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของพระ (Chief priest) อีกด้วย แต่เดิมจักรพรรดิจะถูกยกย่องให้เป็นพระเจ้าหลังจากสิ้นพระชนม์แล้วเช่น จูเลียต ซีซาร์ และซีซาร์ ออกัสตัส แต่ตอนนี้จักรพรรดิกลับสถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ และบังคับประชาชนให้กราบไหว้บูชา สร้างรูปเคารพของตัวเองขึ้นมาให้คนสักการะ เช่น จักรพรรดิเนโร เป็นต้น

ศาสนาของชาวยิว เองนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งสืบต่อมาจากธรรมบัญญัติของโมเสส หัวใจสำคัญที่สุดคือ การเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว และประพฤติตามธรรมบัญญัติที่พระองค์ประทานผ่านโมเสส บรรพบุรุษของพวกเขา ลัทธิยูดาย มีกลุ่มที่เกี่ยวข้องได้แก่

  • พวกฟาริสี (Pharisees) ซึ่งประกาศตัวชัดเจนว่าไม่ยุ่งกับความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาต่างชาติ ฟาริสีจะยึดถือกฎเกณฑ์ ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติเคร่งครัด ทั้งเรื่องการอธิษฐาน การอดอาหาร การถวายสิบลด การรักษาวันสะบาโต เชื่อเรื่องของทูตสวรรค์และการฟื้นจากตาย
  • อีกกลุ่มนี้ที่แตกออกมาจากรากเดียวกันคือ พวกเอสเซนท์ (Essenses) แปลว่าบริสุทธิ์ พวกเอสเซนท์เคร่งครัดธรรมบัญญัติยิ่งกว่าฟาริสี พวกเขาแยกตัวออกจากสังคมไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร สร้างสังคมของตัวเองขึ้นมาโดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของทะเลตาย พวกเขาเน้นการทำงานหนัก ความเท่าเทียมกัน มีชีวิตที่สมถะ นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า ยอห์น ผู้ให้รับบัพติศมาอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้ได้
  • พวกสะดูสี อาจจะมาจากรากศัพท์คือ ซาโดก ซึ่งเป็นมหาปุโรหิตในสมัยของดาวิด หรือมาจากคำว่า เซเดคา (Zedekah) แปลว่าความชอบธรรม พวกสะดูสีส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นสูง พวกขุนนางเก่า มั่งคั่ง และมีอำนาจทางการเมืองการปกครองมาก เพราะเป็นพวกที่ฝักใฝ่กับพวกกรีกและโรมัน ทำให้ลักษณะของกลุ่มนี้จะต่างกับฟาริสี เพราะพวกเขาแม้จะยึดถือธรรมบัญญัติ แต่ก็ไม่รับคำสอน กฎเกณฑ์จากบรรพบุรุษ เชื่อในหลักเหตุผลไม่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ มีลักษณะของหัวเสรีนิยมและเน้นการปรับตัวเพื่ออำนาจ ทรัพย์สินและบทบาททางการเมือง เน้นความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตใจ พวกสะดูสีสนับสนุนการปกครองของเฮโรดเพราะได้ผลประโยชน์มาก ทำให้สะดูสีเป็นศัตรูกับฟาริสีอย่างรุนแรง
  • พวกธรรมมาจารย์หรืออาลักษณ์ (Scribes) เป็นกลุ่มคนพิเศษที่ดั้งเดิมทำหน้าที่บันทึก คัดลอกพระคัมภีร์ ต่อมาพวกธรรมมาจารย์ทำหน้าที่สอนและอธิบายความหมายของพระคัมภีร์ด้วย ดังนั้นจึงเรียกว่าเป็นครูสอนธรรมบัญญัติ หรือ รับบี นั่นเอง ธรรมาจารย์ส่วนใหญ่จะเป็นฟาริสีด้วย พวกเขาอธิบายพระคัมภีร์โดยเน้นแต่กฎเกณฑ์ ประเพณี เพิ่มเติมข้อเล็กๆ น้อยๆ จนลืมรากฐานสำคัญของธรรมบัญญัติจนถูกพระเยซูคริสต์ติเตียนอย่างรุนแรง (มัทธิว 23:23, มาระโก 7:1-13)
  • พวกซีลอท (Zealots) หรือพวกชาตินิยม หัวรุนแรง เป็นพวกที่รวมตัวกันจากการถูกกดขี่ข่มเหงจากโรม โดยเฉพาะการขูดรีดภาษีจากคนเก็บภาษีชาวยิวด้วยกันเอง พวกเขาก่อกวนทหารโรมัน ลอบทำร้าย ทำสงครามโกงโจรเพื่อปลดปล่อยชนชาติยิว ไม่ยอมเคารพซีซาร์ และกษัตริย์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่าพระยาห์เวห์เป็นกษัตริย์ผู้เดียว ไม่ยอมเสียภาษีและรอคอยการมาของอาณาจักร (ทางโลก) ของพระเมสสิยาห์ สาวกพระเยซูคริสต์คนหนึ่งคือ ซีโมน พรรคชาตินิยมก็มาจากกลุ่มนี้นี่เอง (ลูกา 6:15, มัทธิว 10:4)

สถานที่สำคัญที่เป็นฉากหลักๆ ในพระกิตติคุณ

ธรรมศาลา หรือ Synagogue
เป็นที่ที่ชาวยิวมารวมกันเพื่อศึกษาพระบัญญัติและนมัสการพระเจ้า ธรรมศาลาเกิดขึ้นเมื่อชาวยิวตกเป็นเชลยของบาบิโลน ไม่มีพระวิหารให้รวมตัวกันนมัสการพระเจ้า ชาวยิวจึงมารวมกันที่ธรรมศาลาเพื่อรักษาความเชื่อของพวกตนเอาไว้

ในธรรมศาลาจะมีนายธรรมศาลา เป็นผู้อาวุโสที่ทำหน้าที่นำประชุมและให้คำแนะนำกับผู้ที่มาทำตัวให้ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ธรรมศาลาจะดูแลการจัดการทั่วไป เก็บรักษาพระคัมภีร์ ทำหน้าที่เป่าแตรเรียกคนเข้ามาประชุมกันในวันสะบาโต เป็นต้น

เมื่อผู้คนมารวมกันแล้ว ก็เริ่มต้นด้วยการท่อง Shema (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4) ซึ่งเป็นหัวใจของความเชื่อยิว จากนั้นจะมีการอธิษฐาน ร้องเพลงจากบทสดุดี อ่านธรรมบัญญัติและผู้เผยพระวจนะคู่กับคำอธิบายจากหนังสือทาร์กุม (เขียนด้วยภาษาอาราเมคเพราะชาวยิวรุ่นหลังไม่คุ้นเคยกับภาษาฮีบรูในช่วงระหว่างถึงหลังเป็นเชลย) นายธรรมศาลาจะเป็นผู้เลือกคนมาอ่าน เราจะเห็นได้จากตอนที่พระเยซูถูกเลือกให้อ่านหนังสือม้วน หรือเปาโลที่ได้มีโอกาสเทศนาในธรรมศาลา

สภาแซนเฮดริน
เกิดขึ้นในตอนที่ชาวยิวเป็นเชลยที่บาบิโลน ทำหน้าที่ทั้งในด้านกฎหมาย การตัดสินคดีความต่างๆ สมาชิกเป็นผู้ใหญ่ชาวยิวจำนวนประมาณ 70 คน โดยมีมหาปุโรหิตเป็นประธานสภา และตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ คือสะดูสี ฟาริสี และธรรมาจารย์ มาเป็นสมาชิกสภา ในด้านศาสนาทำหน้าที่รักษา คัดลอกพระคัมภีร์ และจัดงานสำคัญทางศาสนายิว

ส่วนด้านการเมือง ทำหน้าที่เป็นศาลสูง โดยฝ่ายโรมันให้สภาแซนเฮดรินตัดสินความที่เกิดขึ้นในหมู่คนยิวด้วยกันเอง แต่ถ้าโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต จะต้องได้รับการเห็นชอบจากฝ่ายโรมก่อน สมาชิกสภาแซนเฮดรินขัดแย้งกับพระเยซูหลายครั้ง บางคนพยายามจับกุมพระเยซู วางแผนฆ่า และต่อมาสภานี้ก็เป็นตัวหลักในการข่มเหงอัครสาวกในพระธรรมกิจการด้วย (กิจการ 5:21)

บทสรุป

อิสราเอลหลังจากกลับมาจากการเป็นเชลยก็ได้สร้างประเทศขึ้นใหม่ แต่ก็ยังอยู่ภายใต้จักรรวรรดิกรีกและโรมันจนถึงสมัยของพระเยซูคริสต์ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมประกอบกับการที่พระเจ้าไม่ได้ตรัสกับอิสราเอลเป็นเวลากว่า 400 ปี ทำให้มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นต่างจากบริบทในพระคัมภีร์เดิมเช่น ธรรมศาลา กลุ่มคณะฟาริสี สะดูดี สภาแซนเฮดริน กษัตริย์จากตระกูลของเฮโรด เป็นต้น

ความรู้ในเรื่องราวของยุคเงียบ เป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อเรื่องราวจากพระคัมภีร์ และช่วยทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่มและตลอดพระคัมภีร์ใหม่ได้ดีขึ้น สัมผัสได้ถึงประเด็นที่เป็นปัญหาที่ผู้คนถามพระเยซู กลุ่มคนต่างๆ ที่ตอบสนองต่อพระองค์ต่างๆ กัน เป็นต้น

นอกจากนั้นเรายังเรียนรู้ด้วยว่าในขณะที่ดูเหมือนพระเจ้า “เงียบ” ต่ออิสราเอลนั้น แท้จริงกำลังมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นอยู่ คำสัญญาที่พระเจ้าให้ไว้ในพระคัมภีร์เดิมสุดท้ายก็เกิดขึ้นจริง “ดังสนั่น” สมบูรณ์ในพระเยซูคริสต์

เพราะฉะนั้นในชีวิตของเราเช่นกัน อาจมีบางช่วงบางเวลาที่รู้สึกว่าพระเจ้าเงียบ หรือแอบคิดว่าพระองค์ไม่ทรงทำอะไรเลยในท่ามกลางวิกฤต ภัยพิบัติ สงครามการเมืองและเศรษฐกิจ และความชั่วร้ายที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในโลก แต่แท้จริงแล้วนี่คือยุคที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำกิจอยู่ในเราแต่ละคน ขอให้เราคาดหวังรอคอยเสียงที่พระองค์จะทรงตรัสกับเราอย่างเจาะจง รวมถึงยังหวังใจและเชื่อมั่นในพระสัญญาพระเจ้าในการเสด็จกลับมาของพระเยซูอย่างแน่นอน

 

บทความ:  ปดิพัทธ์ สันติภาดา
ภาพ:  Nathaniel Shuman on Unsplash
ออกแบบ:  Zippy

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง