บทความ

การ sound check สำหรับทีมนมัสการทำอย่างไร?

ทุกครั้งก่อนจะมีการแสดงดนตรีสดต้องมีการ sound check ทุกครั้ง

Sound check คืออะไร? มันแค่การเทส 1,2 ฮัลโหลเทส? หรือมันคือการเล่นโชว์เพลงหนึ่งหรือเปล่า?

การทำ Sound check คือ การทดสอบระบบเสียงทั้งหมด ตั้งแต่เครื่องดนตรี ไปจนออกลำโพง

จุดประสงค์หลักๆ มีอยู่ 3 ประการ

  1. เครื่องดนตรีและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ใช้งานได้ไม่มีปัญหา
  2. มอนิเตอร์สำหรับนักร้อง/นักดนตรี มีเสียงดนตรีเหมาะสมกับนักร้อง/นักดนตรี
  3. เสียงออกที่ FOH (Front of House) สำหรับที่ประชุม รวมถึงการผสมเสียง (Mix) ให้ไพเราะเหมาะสม

*ในบทความนี้ขอเก็บขั้นตอนการ Mix FOH เอาไว้สำหรับบทความถัดไปนะครับ

เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า

ขั้นตอนการ sound check มีดังนี้

1. เปิดเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบระบบไฟฟ้า

เช่น กระแสที่เพียงพอ และ ground loop ซึ่งเป็นต้นเหตุของสัญญาณรบกวน ทดสอบว่าเครื่องดนตรีเล่นแล้วมีเสียง เช่น กีต้าร์ไฟฟ้า เอฟเฟก และ แอมป์

*ทิปสำหรับแอมป์กีต้าร์ที่เป็นชนิดหลอดสูญญากาศ (tube amp หรือที่เรียกกันติดปากว่า แอมป์หลอด) ควรเปิด power เพื่ออุ่นเครื่องไว้สัก 10 นาที แต่ให้อยู่ในโหมด standby เพื่อจะได้ไม่เกิดเสียงที่ไม่ได้ตั้งใจเวลาถอดเสียบสายแจ็ค

ข้อควรระวังสำหรับแอมป์หลอดแบบหัวแอมป์แยกกับตู้ลำโพงคือ ต้องเสียบกับตู้ลำโพงก่อนเปิดสวิตซ์เสมอ มิฉะนั้นแอมป์จะเสียได้ และให้นักดนตรีปรับเสียงให้เป็นที่พอใจ

2. เปิดเสียง (unmute) ในมิกเซอร์

ทดสอบว่ามีสัญญาณถึงมิกเซอร์ปกติดี ปรับตั้ง gain (มิกเซอร์ใช้คำว่า trim) กดดูสัญญาณเข้าให้อยู่ประมาณ -6 dB จริงๆแล้วขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่โดยส่วนตัวระดับสัญญาณประมาณนี้เหลือ headroom เผื่อไว้ก่อนเสียงจะแตก ตามหลักการยิ่งมากยิ่งดีแต่ห้ามเกิน 0dB

3. กดปุ่มตัดเสียงย่านต่ำมากออก (low cut/high pass filter)

บางรุ่นเป็นปุ่มกดตัดเสียงตั้งแต่ 100Hz ลงไปออก บางรุ่นก็ตัดที่ 80Hz มิกเซอร์รุ่นใหม่ๆ จะปรับความถี่ได้ว่า ตัดที่กี่ Hz

สำหรับเครื่องดนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมีความถี่ต่ำมากๆ โดยทั่วไปตัดทุกเครื่องยกเว้น kick drum, floor tom เพื่อความชัดเจนเมื่อผสมกันทั้งวง

4. ส่งสัญญาณไปที่มอนิเตอร์นักร้อง/นักดนตรีให้ได้ยินเสียงตัวเองชัดเจน

และรวมถึงเครื่องอื่นตามความจำเป็น โดยให้เล่นพร้อมกันทั้งวง จะได้ยินภาพรวมและจะจัดการมอนิเตอร์ได้ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการส่งมอนิเตอร์โดยเล่นทีละชิ้น จะเป็นสาเหตุของเสียงมอนิเตอร์ล้นออกนอกเวทีส่งผลให้ทำการมิกซ์ FOH ยากขึ้น

พยายามอธิบายนักดนตรีให้ขอมอนิเตอร์ให้น้อยที่สุด บางทีการขยับเครื่องดนตรีหรือตำแหน่งที่นั่ง/ยืน เพื่อให้ได้ยินเครื่องของตัวเองโดยไม่ต้องขอมอนิเตอร์จะช่วยได้มาก

5. ใช้ Equalizer ปรับแต่งบางย่านที่มีปัญหาออก

ควรเลือกตัดออก แต่หากจำเป็นจริงๆ จึงเพิ่ม (boost) โดยเฉพาะไมโครโฟน สามารถป้องกันเสียงหอนจากมอนิเตอร์ได้ระดับหนึ่ง โดยถือไมค์แกว่งไปมาหน้าลำโพงมอนิเตอร์เมื่อเจอเสียงหอนก็ให้ eq ย่านนั้นลดลงไป

—————-

การซาวด์เช็คที่ดีจะช่วยให้การเล่นดนตรีนมัสการที่คริสตจักรไปเป็นได้อย่างดีราบรื่น ฉะนั้น ทั้ง 5 ขั้นตอนนี้เป็นเพียงแนวทาง และสิ่งหลักๆ ที่ควรคำนึงถึง

แต่อย่าลืมนะครับสิ่งที่สำคัญที่สุดในการนมัสการพระเจ้าคือ “หัวใจที่เชื่อฟัง”

 

บทความ:  ภาษิต ภัทรานุกูล
ภาพ:  Photo by Abigail Keenan on Unsplash

ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง