บทความ

การตอบสนองทางจิตวิญญาณในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

ก่อนอื่นขอเป็นกำลังใจให้คุณหมอ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกคนให้สามารถรับมือกับโรคโควิด-19 ขอพระเจ้าอวยพรให้ปลอดภัย สามารถคิดยาหรือวัคซีนออกมาโดยเร็ว

การจัดการกับภัยโรคระบาดเป็นเรื่องที่ยากลำบากเพราะเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากที่ใช้ชีวิตแตกต่างกัน ยากที่จะควบคุมให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องใช้หลายหน่วยงานเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน

แม้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปไกลเพียงใด แต่หลายปัจจัยยากที่จะควบคุม เช่น
1) Knowledge Development ซึ่งกำลังค้นคว้าอย่างเต็มที่ 2) Operational Skill ทักษะที่ต้องพัฒนาผ่านความรู้และประสบการณ์ และ 3) Human Error ความผิดพลาดของมนุษย์ซึ่งไม่แน่นอนควบคุมยากมาก

การกลับมาพิจารณาทางจิตวิญญาณจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความจริง และสงบลงพร้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ให้เรามาทำความเข้าใจก่อนว่าศาสนศาสตร์เรื่องสิ่งสุดท้าย (Eschatology) มีการใช้คำอย่างไรเพื่อให้เราอ้างอิงได้ในความหมายที่เป็นสากล

วาระสุดท้าย หรือ สิ่งสุดท้า(Eschatology)
เป็นคำกลางๆ ที่หมายถึง ศาสนศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับวาระสุดท้าย (the doctrine of the last things) ซึ่งอาจรวมถึงคำพยากรณ์จากพระคัมภีร์เดิมที่เล็งถึงวาระสุดท้าย

วาระสุดท้ายของยุคนี้ (Last times or last days of this age)
เป็นช่วงเวลาที่เราอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเราสามารถสรุปได้เป็น 2 แนวคิด ว่า วาระสุดท้ายเริ่มต้นเมื่อ
1) ตั้งแต่วันเพ็นเทคอส (กิจการฯ 2:17)
2) ตั้งแต่วันที่พระเยซูทรงบังเกิดขึ้นในโลก (ฮีบรู 1:2, 1 โครินธ์ 10:11; โรม 12:2)

ยุคสุดท้าย (Last age)
เป็นยุคที่ครอบคลุมช่วงเวลาของแผ่นดินพระเจ้าหลังจากที่พระเยซูทรงเสด็จกลับมาเพื่อตั้งราชอาณาจักรนิรันดร์ ซึ่งเป็นยุคอนาคต ยุคในนิรันดร์กาล (1 เปโตร 1:3-5; วิวรณ์ 21:4)

แผ่นดินของพระเจ้า (Kingdom of God)
หมายถึงการครอบครองของพระเจ้าที่มาแล้วเมื่อพระเยซูทรงปรากฏ และกำลังจะมาอย่างเต็มรูปแบบในยุคสุดท้าย (มัทธิว 3:2; 4:17; มาระโก 4:11; วิวรณ์ 11:15)

โรคระบาดโควิดคืออะไร?

ให้เรามาทำความเข้าใจกับความหมายของโคโรน่าไวรัส (Coronavirus) ก่อนครับ

โคโรน่าไวรัสเป็นลักษณะของไวรัสที่อยู่ในสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชื่อมาจากรูปทรงมงกฏ เมื่อขยายด้วยกล้องจุลทัศน์ เป็นไวรัสประเภทที่สามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ โคโรนาไวรัสเป็นชื่อกลางๆ ซึ่ง Middle East Respiratory Syndrome (MERS) และ Severe Acute Respiratory Syndrome (SARS) เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

ลักษณะของโคโรนาไวรัส (Coronavirus)

ส่วน Coronavirus disease (COVID-19) เป็นไวรัสประเภท Coronavirus ที่อุบัติใหม่ หรือเพิ่งค้นพบในปี 2019 ภายหลังได้ตั้งชื่อเป็นโควิด-19 (COVID-19)

นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นอย่างชัดเจนว่า ไวรัสชนิดนี้มีต้นกำเนิดจากโคโรนาไวรัสที่พบในค้างคาว ซึ่งนักวิจัยจากหลายประเทศยืนยันในเรื่องนี้ เช่น Kristian Andersen, PhD, an associate professor of immunology and microbiology at Scripps Research, Robert F. Garry, of Tulane University; Edward Holmes, of the University of Sydney; Andrew Rambaut, of University of Edinburgh; W. Ian Lipkin, of Columbia University ชื่อแรกที่ตั้งไว้คือ SARS-CoV-2

โรคระบาดโควิดเป็นสัญญาณเตือนถึงการมาของยุคสุดท้ายหรือไม่?

ทั้งพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ให้ทัศนะที่น่าสนใจ คือ โรคระบาดมักมีสาเหตุมาจากความบาปของมนุษย์ ทำให้เกิดพระพิโรธมาจากสวรรค์ นั่นเป็นมุมมองทางความเชื่อ แต่หากมองในความเป็นมนุษย์ โรคระบาดมาจากเชื้อโรคที่ติดต่อกันไปเรื่อยๆ และบางเชื้อก็ถึงตาย สมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยี จึงสรุปสิ่งที่เขาหาคำตอบไม่ได้ว่าเป็นมาจากพระเจ้า

ผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดจากประวัติศาสตร์จนถึง COVID-19

พระคัมภีร์เดิมมักพูดถึงโรคระบาดที่มักมาพร้อมๆ กับสงคราม การกันดารอาหาร (ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดเฉพาะเกิดโรคระบาดอย่างเดียวไม่ได้) บ้านเมืองวุ่นวายเกิดสงครามขึ้นจะเพราะเหตุผลใดก็ตาม เมื่อคนล้มตายมากมายย่อมก่อให้เกิดการขาดแคลนแรงงานเพื่อการผลิตอาหารทั้งภาคเกษตรและปศุสัตว์จนเกิดการกันดารอาหาร และโรคระบาดจากการเน่าของซากศพก็ตามมาในที่สุด

เหยื่อจากการกันดารอาหารแยกตามทวีปตั้งแต่ยุค 1860s

และ​เมื่อ​เขา​ถาม​เจ้า​ว่า ‘เรา​จะ​ไป​ที่​ไหน?’ เจ้า​จง​พูด​กับ​เขา​ว่า พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​ดัง​นี้​ว่า คน​เหล่า​นั้น​ที่​ถูก​กำ​หนด​ให้​แก่​โรค​ระบาด​จะ​ไป​เป็น​โรค​ระ​บาด คน​ที่​ถูก​กำ​หนด​ให้​แก่​ดาบ​จะ​โดน​ดาบ คน​ที่​ถูก​กำ​หนด​ให้​แก่​การ​กัน​ดาร​อา​หาร จะ​พบ​การ​กัน​ดาร​อา​หาร คน​ที่​ถูกกำ​หนด​ให้​แก่​การ​เป็น​เชลย​จะ​เป็น​เชลย” – เยเรมีย์ 15:2 –

พระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่พูดถึงภัยพิบัติ 4 ประการ คือ เพิ่มสัตว์ร้ายเข้ามา

“เพราะ​พระ​ยาห์​เวห์​องค์​เจ้า​นาย​ตรัส​ดัง​นี้​ว่า ยิ่ง​กว่า​นั้น​สัก​เท่า​ใด เมื่อ​เรา​ส่ง​ภัย​แห่ง​การ​พิ​พาก​ษา​ร้าย​แรง​ทั้ง​สี่​ประ​การ​ของ​เรา​คือ ดาบ การ​กัน​ดาร​อา​หาร สัตว์​ร้าย​และ​โรค​ระ​บาด​มา​เหนือ​เยรู​ซา​เล็ม เพื่อ​กำ​จัด​มนุษย์​และ​สัตว์​เสีย​จาก​นคร​นั้น – เอเสเคียล 14:21 –

แล้ว​ข้าพ​เจ้า​เห็น และ​นี่​แน่ะ ม้า​สีกะ​เลียว​ตัว​หนึ่ง ผู้​ที่​ขี่​ม้า​ตัว​นี้​มี​ชื่อ​ว่า​มัจ​จุ​ราช และ​แดน​คน​ตาย​ก็​ติด​ตาม​มา​ด้วย พระ​องค์​ทรง​ให้​ทั้ง​สอง​นี้​มี​อำ​นาจ​เหนือ​แผ่น​ดิน​โลก​หนึ่ง​ใน​สี่​ส่วน ที่​จะ​ทำ​ลาย​ได้​ด้วย​คม​ดาบ ด้วย​ความ​อด​อยาก ด้วย​โรค​ระบาด และ​ด้วย​สัตว์​ร้าย​แห่ง​แผ่น​ดิน – วิวรณ์ 6:8 –

พระเยซูพยากรณ์ถึงแผ่นดินไหว ​ความ​น่า​สะ​พรึง​กลัว ​และ​หมาย​สำ​คัญ​ใหญ่ๆ จาก​ฟ้า​สวรรค์เพิ่มเข้ามาซึ่งยังไม่มีรายละเอียดว่าคืออะไร

แล้ว​พระ​องค์​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ว่า “ประ​ชา​ชาติ​กับ​ประ​ชา​ชาติ​และ​อา​ณา​จักร​กับ​อา​ณา​จักร​จะ​ต่อ​สู้​กัน ทั้ง​จะ​เกิด​แผ่น​ดิน​ไหว​ใหญ่ การ​กัน​ดาร​อาหาร และ​โรค​ระบาด​ใน​ที่​ต่างๆ และ​จะ​เกิด​ความ​น่า​สะ​พรึง​กลัว​และ​หมาย​สำ​คัญ​ใหญ่ๆ จาก​ฟ้า​สวรรค์ – ลูกา 21:10-11 – 

แต่พระเจ้าก็สามารถใช้ทุกสิ่งเพื่อให้เราถ่อมใจ ฉุกคิด ทบทวนเรื่องราวต่างๆ ได้ เช่น ลาที่พูดเตือนบาลาอัม, ปลาใหญ่ที่กินโยนาห์เข้าไป, ภัยพิบัติในอียิปต์

พระ​บิดา​ของ​พวก​ท่าน​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ก็​ทรง​เป็น​อย่าง​นั้น​แหละ พระ​องค์ไม่​ทรง​ปรารถ​นา​ให้​ผู้​เล็ก​น้อย​เหล่า​นี้​สัก​คน​หนึ่ง​พินาศ​ไป​เลย – มัทธิว 18:14 –

พระ​เจ้า​ทรง​รัก​โลก​ดัง​นี้ คือ​ได้​ประทาน​พระ​บุตร​องค์​เดียว​ของ​พระ​องค์ เพื่อ​ทุก​คน​ที่​วาง​ใจ​ใน​พระ​บุตร​นั้น​จะ​ไม่​พินาศ แต่​มี​ชีวิต​นิรันดร์ – ยอห์น 3:16 – 

องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ไม่​ได้​ทรง​เฉื่อย​ช้า​ใน​เรื่อง​พระ​สัญ​ญา​ของ​พระ​องค์ ตาม​ที่​บาง​คน​คิด​นั้น แต่​ทรง​อด​ทน​กับ​พวก​ท่าน พระ​องค์​ไม่​ทรง​ประ​สงค์​ให้​ใคร​พินาศ​เลย แต่​ประ​สงค์​ให้​ทุก​คน​กลับ​ใจ​ใหม่ – 2 เปโตร 3:9 –

เราอาจสรุปได้ในเบื้องต้นว่า ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด สงคราม หรือการกันดารอาหาร หรืออะไรก็ตาม น่าจะทำให้เราตระหนักว่ามนุษย์มีส่วนทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นด้วยไม่มากก็น้อย ยอมรับว่าเรามีความจำกัดในการแก้ปัญหา สิ่งที่ดีที่สุดคือกลับมาพิจารณาตนเองและกลับใจใหม่จากพฤติกรรมที่นำไปสู่ความหายนะ รวมถึงพึ่งพาพระเจ้าให้ผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ เหล่านั้นไปได้

วาระสุดท้ายของโลกนี้มีแน่นอน แต่เมื่อไรไม่มีใครรู้ สัญญาณต่างๆ ของธรรมชาติอาจช่วยเตือนใจเราให้ถ่อมใจลงต่อพระเจ้า แต่อย่ากลัว อย่าวิตก เพราะเวลาเป็นของพระเจ้า พระคัมภีร์ได้ทำนายไว้ถึงกลียุค (Tribulation) ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก แต่ยังมาไม่ถึง ส่วนกลียุคหน้าตาเป็นอย่างไร มีแนวคิดหลากหลาย อย่าเพิ่งสอนแบบฟันธงจนทำให้พี่น้องเกิดความวิตกจนเกินไป

พวก​เขา​ทูล​ถาม​พระ​องค์​ว่า “พระ​อา​จารย์ เหตุ​การณ์​พวก​นี้​จะ​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​ไหร่? อะไร​เป็น​หมาย​สำ​คัญ​ว่า​ใกล้​จะ​เกิด​ขึ้น​แล้ว?” พระ​องค์​จึง​ตรัส​ว่า “ระวัง​ให้​ดี อย่า​ให้​ใคร​ล่อ​ลวง​ท่าน​ให้​หลง เพราะ​ว่า​จะ​มี​หลาย​คน​มา​ต่าง​อ้าง​นาม​ของ​เรา​บอก​ว่า ‘เรา​เป็น​ผู้​นั้น’ และ​บอก​ว่า ‘เวลา​นั้น​ใกล้​เข้า​มา​แล้ว’ อย่า​ตาม​พวก​เขา​ไป​เลย เมื่อ​พวก​ท่าน​ได้​ยิน​เรื่อง​สง​คราม​และ​การ​จลา​จล อย่า​ตื่น​ตก​ใจ เพราะ​ว่า​สิ่ง​เหล่า​นั้น​จำ​เป็น​ต้อง​เกิด​ขึ้น​ก่อน แต่​วัน​สิ้น​ยุค​จะ​ยัง​ไม่​มา​ถึง​ทัน​ที” – ลูกา 21:7-9 –

วันหนึ่งทุกอย่างจะจบลงเมื่อพระเยซูเสด็จกลับมา เราน่าจะมองไปตรงนี้มากกว่ามองที่ความยากลำบาก และให้เราเร่งทำการของพระเจ้าประกาศออกไป ขณะเดียวกันเติบโตขึ้นในความเชื่อ ในลักษณะชีวิต ในความสัตย์ซื่อ ในความบริสุทธิ์ รักพระเจ้า รักพี่น้อง เป็นชุมชนที่ยอมรับพระเจ้าให้พระองค์เป็นจอมเจ้านายในชีวิต นั่นเป็นสิ่งที่ดียอดเยี่ยมที่คริสเตียนทุกคนควรใส่ใจครับ

อ้างอิง

[1] Joe Hasell and Max Roser. Famines. Our World in Data. Accessed on April 7, 2020. [https://ourworldindata.org/famines].
[2] LePan, Nicholas. Visualizing the History of Pandemics. Accessed on April 7, 2020. [https://www.visualcapitalist.com/history-of-pandemics-deadliest].
[3] Science Daily. COVID-19 coronavirus epidemic has a natural origin. Accessed on April 7, 2020. [https://www.sciencedaily.com/releases/2020/03/200317175442.htm].
[4] Steve Taylor. Systematic Theology III. Bangkok Bible Seminary, 2016.
[5] WHO. Coronavirus. Accessed on April 7, 2020. [https://www.who.int/health-topics/coronavirus#tab=tab_1].
[6] WHO. Q&A on coronaviruses (COVID-19). Accessed on April 7, 2020. [https://www.who.int/news-room/q-a-detail/q-a-coronaviruses].
[7] จอห์น เดวิส. เพิ่มความรู้. กรุงเทพมหานคร: กนกบรรณสาร, 1992.
[8] อิริคสัน, มิลลาร์ด เจ. ศาสนศาสตร์คริสเตียน เล่ม 2. กรุงเทพมหานคร: พระคริสตธรรมกรุงเทพ, 2009.

 

บทความ:  กนก ลีฬหเกรียงไกร
ภาพ:  Hasan Almasi on Unsplash
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง