วันเพ็นเทคอสต์ (Pentecost) เป็นหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญของชาวยิวที่ฉลองกันอยู่จนถึงปัจจุบัน วันเพ็นเทคอสต์คือวันที่ 50 นับจากเทศกาลปัสกา (Passover) ชาวยิวเรียกเทศกาลเพ็นเทคอสต์นี้ว่า Shavuot (שבועות หรือ חג השבועות) ซึ่งแปลว่า “สัปดาห์” พระคัมภีร์เดิมเรียกเทศกาลนี้ว่า Feast of the Week หรือเทศกาลสัปดาห์ (อพยพ 34:22)
สิ่งที่น่าสนใจคือหลังจากที่พระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์แล้ว พระองค์ทรงสั่งสอนสาวกอยู่อีก 40 วัน จากนั้นทรงประทานพระมหาบัญชา และได้กำชับให้สาวกรออยู่ในกรุงเยรูซาเล็มก่อนเพื่อรับฤทธิ์เดชจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พระองค์จะทรงประทานหลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ไปแล้ว (กจ.1:3–5)
กิจการของอัครทูต 1:4–5 “เมื่อพระองค์ได้ทรงพำนักอยู่กับอัครทูต จึงกำชับเขามิให้ออกไปจากกรุงเยรูซาเล็ม แต่ให้คอยรับตามพระสัญญาของพระบิดา คือพระองค์ตรัสว่า “ตามที่ท่านทั้งหลายได้ยินจากเรานั่นแหละ” นั่นก็คือยอห์นให้รับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่อีกไม่นานพวกท่านจะรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์”
ในวันเพ็นเทคอสต์นี้เอง ฤทธิ์เดชของพระวิญญาณฯ ได้เทลงมายังสาวกที่รอคอยอยู่ในเวลานั้น ต่างคนต่างพูดภาษาแปลกๆ (กิจการ 2:1–4) เป็นภาษาที่ทำให้ชาวยิวและชาวต่างชาติผู้เข้ารีตยิวจากหลายประเทศแปลกใจว่าเหตุใดชาวกาลิลีถึงสามารถกล่าวคำสรรเสริญพระเจ้าในภาษาของเขาได้
เวลานั้นเองเปโตรและพวกอัครทูตจึงยืนขึ้นเทศนาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น และมีผู้เชื่อเข้ามาเป็นสาวกในวันนั้นคราวเดียวถึง 3,000 คน (ดู กิจการ 2:41)
เปโตรจึงกล่าวกับเขาทั้งหลายว่า “จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมา ในพระนามของพระเยซูคริสต์ให้หมดทุกคน เพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านทั้งหลาย แล้วพวกท่านจะได้รับของประทานคือพระวิญญาณบริสุทธิ์” (กิจการ 2:38)
เหตุการณ์ในวันเพ็นเทคอสต์ (ตามธรรมบัญญัติ) ถือเป็นเหตุการณ์ที่พิเศษมาก และสำหรับคริสเตียนถือเป็นวันกำเนิดคริสตจักรอีกด้วย
สาระสำคัญของวันเพ็นเทคอสต์สำหรับสาวกของพระเยซูคริสต์และเราทั้งหลายที่เป็นคริสเตียนคือการได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามพระสัญญา อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์วันนั้นนำมาซึ่งคำอธิบายที่หลากหลายโดยเฉพาะเรื่องการบัพติศมาพระวิญญาณและการพูดภาษาภาษาแปลกๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากเชิญทุกท่านมาพิจารณาร่วมกัน
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระเจ้าพระภาคที่สามในพระตรีเอกภาพ ทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียว ทรงมีความเป็นพระเจ้าและเท่าเทียมกับพระบิดาและพระบุตร ทรงถ่อมพระทัย ทรงเป็นพระผู้ช่วยที่อยู่กับสาวกทุกคน ทรงช่วยในการดำเนินชีวิต และการรับใช้
บทบาทที่สำคัญบางประการของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตคริสเตียน
1.ประทานการบังเกิดใหม่และสร้างเราให้จำเริญขึ้น (ยอห์น 3:5; โรม 8:14–16, ทิตัส 3:5)
พระเจ้าประทานความรอดผ่านทางพระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์จะนำการบังเกิดใหม่ สร้างเราให้จำเริญขึ้น
ยอห์น 3:5 พระเยซูตรัสว่า เราบอกความจริงกับท่านว่า ถ้าใครไม่ได้เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ คนนั้นจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้
ทิตัส 3:5 พระองค์ก็ทรงช่วยเราให้รอด ไม่ใช่เพราะความชอบธรรมที่เราทำเอง แต่ด้วยพระเมตตาของพระองค์โดยผ่านการชำระให้บังเกิดใหม่และสร้างใหม่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์
2.เป็นเครื่องหมายรับรองความเป็นลูกของพระเจ้า (โรม 8:16; เอเฟซัส 1:13)
เราจึงตั้งมั่นคงอยู่ ไม่หวั่นไหว ไม่สงสัยในความรอด เพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานในใจของผู้เชื่อทุกคนว่าเราเป็นลูกของพระเจ้า
โรม 8:16 พระวิญญาณนั้นเป็นพยานร่วมกับจิตวิญญาณของเราว่า เราเป็นลูกของพระเจ้า
เอเฟซัส 1:13 ในพระคริสต์ ท่านทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้นด้วย คือเมื่อพวกท่านได้ยินสัจวาทะคือข่าวประเสริฐเรื่องความรอดของท่าน และวางใจในพระองค์แล้ว พวกท่านก็ได้รับการประทับตราด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามที่ทรงสัญญาไว้
3.เป็นผู้ช่วยในชีวิตและการรับใช้ (ยอห์น.14:26; เอเฟซัส 2:22)
พระวิญญาณบริสุทธิ์จะสนับสนุนเรา เตือนสติ สอนให้เราระลึกถึงถ้อยคำของพระเยซูคริสต์ ช่วยเราในการรับใช้ นำทิศนำทาง หนุนน้ำใจ ประทานกำลังแก่เรา
ยอห์น 14:26 แต่องค์ผู้ช่วยคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งพระบิดาจะทรงใช้มาในนามของเรานั้นจะทรงสอนพวกท่านทุกสิ่ง และจะทำให้ระลึกถึงทุกสิ่งที่เรากล่าวกับท่านแล้ว
เอเฟซัส 2:22 และในพระองค์นั้น พวกท่านก็กำลังถูกก่อร่างสร้างขึ้นด้วยกันให้เป็นที่สถิตของพระเจ้าโดยพระวิญญาณ
ภาษาแปลกๆ ในบัพติศมาในพระวิญญาณ
ยอห์นผู้ให้บัพติศมาได้เปรียบเทียบกิจของตนเองในการให้บัพติศมาในน้ำกับกิจของพระเมสสิยาห์ผู้ที่จะให้บัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์
ยอห์น 1:33 – ข้าพเจ้าเองไม่รู้จักพระองค์ แต่พระองค์ผู้ทรงใช้ข้าพเจ้ามาให้บัพติศมาด้วยน้ำ ได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘เมื่อเห็นพระวิญญาณเสด็จลงมาสถิตอยู่กับคนใด คนนั้นแหละจะเป็นคนให้บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์’
1.เป็นหมายสำคัญของการได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กิจการ 2:4; 10:46; 19:6)
กิจการ 2:4 – พวกเขาทั้งหมดก็เต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงเริ่มต้นพูดภาษาอื่นๆ ตามที่พระวิญญาณทรงให้พูด
กิจการ 19:6 – เมื่อเปาโลวางมือบนตัวพวกเขาแล้ว พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เสด็จลงมาสถิตกับพวกเขา พวกเขาจึงพูดภาษาแปลกๆ และเผยพระวจนะ
2.เป็นภาษาที่มีความหมายถึงเรื่องราวพระราชกิจที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ผู้พูดอาจไม่เข้าใจความหมาย (กิจการ 2:6, 11; 1 โครินธ์ 14:13–14)
กิจการ 2:11 – ซึ่งมีทั้งพวกยิวกับพวกที่เข้าจารีตยิว และเป็นชาวครีตและชาวอาระเบีย เราต่างได้ยินคนเหล่านี้กล่าวถึงกิจการที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าในภาษาของเราเอง
1 โครินธ์ 14:13–14 – ฉะนั้นคนที่พูดภาษาแปลกๆ ก็ควรอธิษฐานขอให้แปลได้ด้ว เพราะถ้าข้าพเจ้าอธิษฐานเป็นภาษาแปลกๆ จิตวิญญาณของข้าพเจ้าอธิษฐานก็จริง แต่ความคิดก็ไม่เป็นประโยชน์
3.เป็นประโยชน์ต่อผู้พูดเพราะพูดต่อพระเจ้าในความล้ำลึกโดยพระวิญญาณ ทำให้ผู้พูดจำเริญขึ้นเป็นการส่วนตัว (1 โครินธ์ 14:2–3)
1 โครินธ์ 14:2–3 – เพราะว่าคนที่พูดภาษาแปลกๆ นั้น ไม่ได้พูดกับมนุษย์ แต่ทูลต่อพระเจ้า เพราะว่าไม่มีใครเข้าใจได้ เขาพูดเป็นความล้ำลึกโดยพระวิญญาณ แต่ผู้ที่เผยพระวจนะนั้น พูดกับมนุษย์เพื่อให้เจริญขึ้น ให้มีการชูใจและการปลอบใจ
4.ไม่มีประโยชน์ในเชิงความหมายต่อผู้ที่ยังไม่เชื่อที่เข้ามาประชุมในคริสตจักรหากไม่ได้เป็นภาษาของเขา (1 โครินธ์ 14:22)
1 โครินธ์ 14:22 – ฉะนั้นการพูดภาษาแปลกๆ จึงไม่เป็นหมายสำคัญสำหรับพวกที่เชื่อ แต่สำหรับพวกที่ไม่เชื่อ แต่การเผยพระวจนะนั้น ไม่ใช่สำหรับพวกที่ไม่เชื่อ แต่สำหรับพวกที่เชื่อแล้ว
5.ไม่มีการห้ามพูดภาษาแปลกๆ ในที่ประชุม แต่ต้องไม่ทำให้เกิดการสะดุดหรือวุ่นวาย (1 โครินธ์ 14:33, 39–40)
1 โครินธ์ 14:39–40 – ฉะนั้นพี่น้องทั้งหลาย จงขวนขวายการเผยพระวจนะ ส่วนการพูดภาษาแปลกๆ นั้นก็อย่าห้ามเลย แต่จงให้ทุกสิ่งมีความเหมาะสมและเป็นระเบียบเถิด
ข้อพึงระวังเกี่ยวกับการพูดภาษาแปลกๆ
1.การได้รับพระวิญญาณที่นำมาซึ่งการบังเกิดใหม่กับการบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถมองเป็นเรื่องเดียวกันได้ เพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นผู้ประทานความรอด การได้รับพระวิญญาณฯ เข้ามาในชีวิตหมายถึงประสบการณ์เต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณฯ ซึ่งเป็นความหมายของการบัพติศมาในพระวิญญาณนั่นเอง (ทิตัส 3:5–6)
ทิตัส 3:5–6 – พระองค์ก็ทรงช่วยเราให้รอด ไม่ใช่เพราะความชอบธรรมที่เราทำเอง แต่ด้วยพระเมตตาของพระองค์โดยผ่านการชำระให้บังเกิดใหม่และสร้างใหม่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระวิญญาณองค์นี้แหละที่พระเจ้าประทานให้แก่เราอย่างบริบูรณ์ผ่านทางพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดของเรา
2.ของประทานจากพระเจ้าทั้งสิ้นมาโดยพระคุณ ไม่ว่าเราจะมองว่าการพูดภาษาแปลกๆ เป็นหมายสำคัญ หรือของประทานการเผยพระวจนะก็ตาม ทั้งหมดล้วนมาโดยพระคุณ โดยพระวิญญาณองค์เดียวกัน ฉะนั้นการพูดหรือไม่พูดภาษาแปลกๆ จะต้องไม่ทำให้เกิดการแบ่งแยก เปรียบเทียบ เหลื่อมล้ำ หรือไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในพระวรกาย (เอเฟซัส 4:3, 7)
เอเฟซัส 4:3 – จงพยายามรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่มาจากพระวิญญาณนั้น โดยมีสันติภาพเป็นเครื่องผูกพัน
เอเฟซัส 4:7 – แต่ว่าพระคุณนั้นประทานแก่เราแต่ละคนตามขนาดที่พระคริสต์ประทาน
3.การพูดภาษาแปลกๆ หรือไม่นั้นจะเน้นผลของการใช้ภาษาแปลกๆ ว่าทำให้คริสตจักรเจริญขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์หากมุ่งแต่จะพูดโดยไม่คำนึงถึงการเสริมสร้างกันและกัน (1 โครินธ์ 14:9, 26)
1 โครินธ์ 14:9 – ท่านทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น คือในการพูดภาษาแปลกๆ ถ้าท่านไม่ใช้ถ้อยคำที่เข้าใจได้ คนจะเข้าใจคำพูดนั้นได้อย่างไร? สิ่งที่ท่านพูดนั้นจะหายไปกับสายลม
1 โครินธ์ 14:26 – เพราะฉะนั้น พี่น้องทั้งหลายจะว่าอย่างไร? เมื่อพวกท่านมาชุมนุมกัน แต่ละคนก็มีเพลงสดุดี มีคำสอน มีคำวิวรณ์ มีการพูดภาษาแปลกๆ มีการแปลภาษาแปลกๆ จงทำทุกสิ่งเพื่อให้เขาเจริญขึ้น
4.งานรับใช้ที่สะท้อนความรักนั้นสำคัญมากกว่าการพูดภาษาแปลกๆ (1 โครินธ์ 13:1)
1 โครินธ์ 13:1 – แม้ข้าพเจ้าจะพูดภาษาแปลกๆ ที่เป็นภาษามนุษย์หรือทูตสวรรค์ได้ แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าเป็นเหมือนฆ้องหรือฉาบที่กำลังส่งเสียง
5.ชีวิตที่ประกอบด้วยพระวิญญาณ คือความชื่นชมยินดี ความรัก ความเชื่อฟังพระเจ้า เป็นสิ่งพระเจ้าคาดหวังจากผู้ที่มีพระวิญญาณ (เอเฟซัส 5:18–20)
เอเฟซัส 5:18–20 – และอย่าเมาเหล้าองุ่นซึ่งจะทำให้เสียคน แต่จงเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณ จงปราศรัยกันด้วยเพลงสดุดี เพลงนมัสการ และเพลงฝ่ายจิตวิญญาณ คือร้องเพลงและสดุดีจากใจของพวกท่านถวายองค์พระผู้เป็นเจ้า จงขอบพระคุณพระเจ้าคือพระบิดาอยู่เสมอสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ในพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา
ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์สร้างชีวิตเราทั้งหลายให้เจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณ สะท้อนพระลักษณะพระเจ้า จนคนมากมายเห็นพระเจ้าผ่านชีวิตของเรา และเข้ามาสู่ความรอดทุกวันๆ
ดร. กนก ลีฬหเกรียงไกร
ออกแบบ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น