บทความ

Telephone Game กับความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์ไบเบิ้ล

ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราอาจเคยเล่นเกมสันทนาการมามากมาย และมีอยู่เกมหนึ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจ นั่นคือ เกมกระซิบส่งสาร (Telephone Game) วิธีเล่นคือให้ผู้เล่นทั้งหมดยืนเรียงกันเป็นแถว โดยคนแรกที่อยู่หัวแถวจะอ่านข้อความหรือประโยคสั้นๆ ให้คนที่สอง จากนั้นก็กระซิบบอกข้อความนั้นต่อไปให้กับคนถัดไป และคนถัดไปก็กระซิบบอกต่อกันไปเรื่อยๆ จนถึงคนสุดท้าย ซึ่งคนสุดท้ายนี้จะเขียนข้อความที่ได้ฟังลงในกระดาษ และเอาข้อความไปเปรียบเทียบกับของคนแรก ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ข้อความที่คนสุดท้ายได้รับจะคลาดเคลื่อนไปจากคนแรก โดยเกมนี้มักจะเรียกเสียงหัวเราะได้เสมอ และเมื่อจบเกม ผู้นำบรรยากาศจึงแบ่งปันข้อคิดที่ได้จากเกม นั่นคือ ปัจจัยที่มีต่อความเคลื่อนของการสื่อสาร คือ จำนวนผู้เล่น และ ความซับซ้อนของข้อความ

โดยข้อคิดของเกมนี้ ถูกนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการโจมตีความน่าเชื่อของพระคัมภีร์ไบเบิล ว่าพระคัมภีร์ที่มีอายุเก่าแก่หลายพันปี เมื่อถูกส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ก็ย่อมเกิดความคาดเคลื่อนเช่นเดียวกัน ในบทความนี้จะแบ่งปันถึงวิธีการอธิบายการโจมตีนี้ เพื่ออาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในการปกป้องความเชื่อของตัวเองในอนาคตนะครับ

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิล

คริสเตียนเชื่อว่าพระคัมภีร์ไบเบิลไม่มีข้อผิดพลาด (Inerrancy) โดยมีเหตุผลง่าย ๆ คือ

เหตุผล 1  >> พระเจ้าไม่มีผิดพลาด
เหตุผล 2 >> พระเจ้าดลใจในการเขียนพระคัมภีร์ (Inspiration)
ข้อสรุป >>  ดังนั้นพระคัมภีร์จึงไม่มีข้อผิดพลาด

จุดสำคัญที่หลายคนเข้าใจผิด รวมทั้งคริสเตียนเองหลายคนก็เข้าใจผิดนั่นคือ “ข้อความข้างต้นจะใช้กับพระคัมภีร์ต้นฉบับ (Original Manuscript) เท่านั้น ไม่รวมฉบับคัดลอก (Copy) หรือ ฉบับแปล (Translation)”

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจข้อเท็จจริงก่อนว่า เนื่องจากการบันทึกสมัยก่อนใช้กระดาษที่เสื่อมสลายได้ ดังนั้นพระคัมภีร์ต้นฉบับของทุกศาสนาบนโลกจึงไม่มีอยู่จริง สิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน คือ สิ่งที่เรียกว่า ฉบับคัดลอกทั้งสิ้น

ดังนั้นจุดสำคัญจึงอยู่ที่ ระบบการคัดลอก (Transmission) ว่ามีความแม่นยำ และ น่าเชื่อถือมากแค่ไหนนั่นเอง ซึ่งพระคัมภีร์ไบเบิลก็มีคลาดเคลื่อนในการคัดลอกด้วยเหมือนกัน ผมขอยกตัวอย่างการคัดลอกที่คลาดเคลื่อน เช่น อายุของกษัตริย์อาหัสยาห์ที่ไม่ตรงกัน

2 พงษ์กษัตริย์ 8:26
เมื่ออาหัสยาห์ทรงเป็นกษัตริย์นั้น พระองค์มีพระชนมายุ 22 พรรษา และทรงครองราชย์ในกรุงเยรูซาเล็ม 1 ปี

2 พงศาวดาร 22:2
อาหัสยาห์มีพระชนมายุ 42 พรรษา เมื่อทรงเป็นกษัตริย์ และครองราชย์ในกรุงเยรูซาเล็ม 1 ปี

แม้ว่าฉบับคัดลอกจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่เราก็สามารถวางใจในพระคัมภีร์ได้ เพราะว่า (1) จำนวนข้อความคลาดเคลื่อนแบบข้างต้นมีน้อยมากและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และ (2) จุดที่คลาดเคลื่อนทั้งหมดเป็นเพียงตัวเลข ชื่อคน หรือ ชื่อสถานที่ และไม่ได้สิ่งผลต่อหลักข้อเชื่อใดๆ ของคริสเตียน

ในเนื้อหาเกี่ยวกับการคัดลอกยังมีอีกหลายจุดที่น่าสนใจ ซึ่งผมจะทยอยเขียนในบทความต่อ ๆ ไปนะครับ

การใช้ Telephone Game โจมตีพระคัมภีร์

จุดโจมตีหลักก็คือ
(1) พระคัมภีร์ไบเบิลที่เก่าแก่และมีอายุหลายพันปี
(2) ถูกส่งมารุ่นต่อรุ่น
(3) ข้อความในไบเบิลมีความซับซ้อน
(4) ชาวยิวในสมัยโบราณส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือได้ มีประชากรเพียงน้อยนิดที่สามารถอ่านหรือเขียนได้ การสื่อสารจึงใช้การพูดเป็นหลัก หรือแม้แต่การเรียนพระพระคัมภีร์ก็อาศัยการฟังเท่านั้น

ดังนั้น “จุดโจมตียอดนิยม” คือ พระคัมภีร์ฉบับคัดลอกย่อมมีความคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับมากแน่นอน คล้ายกับ ข้อคิดที่ได้จาก Telephone game

แม้ฟังดูเป็นเหตุผลที่เป็นไปได้ว่า ฉบับคัดลอกจะมีความคลาดเคลื่อนมากมาย แต่ผู้ที่ศึกษาพระคัมภีร์อย่างจริงจังและมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์สามารถลบล้างข้อกล่าวนี้ได้อย่างง่ายดาย

ภาพจาก scottmanning.com

การตอบโต้

1) การคัดลอกพระคัมภีร์เป็นการเขียนไม่ใช่การพูดปากต่อปาก

ในการเล่น Telephone Game ผู้เล่นอาศัยความทรงจำ และส่งต่อข้อความแบบปากต่อปาก แต่การคัดลอกพระคัมภีร์ใช้การเขียนลง Scroll หรือหนังสือม้วน โดยคัดลอกมาจาก ฉบับ Master Scrolls ซึ่งไม่ใช่การท่องจำ

ดังนั้นความคลาดเคลื่อน (หากมี) ก็ย่อมน้อยกว่าแบบปากต่อปากมากนัก ลองนึกภาพตามว่า หากเราเปลี่ยนกฎของ Telephone Game จากส่งต่อข้อความแบบปากต่อปาก เป็น ส่งต่อข้อความแบบเขียน เราก็จะพบว่าความคลาดเคลื่อนนั้นคงน้อยลงไปมาก หรือ แทบจะไม่มีเลยก็ได้

2) ระหว่างคัดลอกพระคัมภีร์ คนที่คัดลอกสามารถกลับไปตรวจสอบกับต้นฉบับได้

ในการเล่น Telephone Game ผู้เล่นคนต่อๆ ไปไม่สามารถเดินไปถามข้อความจากคนแรกได้ จึงทำให้ความคลาดเคลื่อนมีการสะสม แต่การคัดลอกพระคัมภีร์ ผู้คัดลอกสามารถตรวจสอบความถูกต้องจากต้นฉบับได้ตลอดเวลา โดยที่ฉบับ Master Scroll ก็จะถูกทำลาย (เอกสารถูกทำลายด้วยการฝังหรือ เก็บเอาไว้ในสุสาน) ก็ต่อเมื่อ การคัดลอกและตรวจทานเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น

ดังนั้นหากมีความคลาดเคลื่อน ก็ย่อมน้อยมาก ลองนึกภาพตามว่าหากเราเปลี่ยนกฎของ Telephone Game ให้คนหลังๆ สามารถเดินไปถามคนแรกได้ เราก็จะพบว่าความคลาดเคลื่อนจะน้อยลงไปมาก หรือ อาจจะไม่มีเลยก็ได้

3) อาชีพนักคัดลอก และ รูปแบบการคัดลอก

ในการเล่น Telephone Game รูปแบบการส่งต่อไม่ซับซ้อน จึงเกิดความคลาดเคลื่อนได้ง่าย แต่การคัดลอกพระคัมภีร์นั้นแตกต่างมาก โดยการคัดลอกแต่ละครั้งจะมีกฎระเบียบมากมาย เช่น

  • หมึกที่ใช้ต้องเป็นสีดำ โดยมีส่วนผสมที่มีลักษณะเฉพาะ
  • ต้องเปล่งเสียงทุกครั้ง ในทุกคำที่จะเขียนลงไป
  • ต้องล้างปากกา และ ชำระตัวทุกครั้งที่จะเขียนคำว่าพระเจ้า
  • หากค้นพบว่ามีความคลาดเคลื่อน ฉบับคัดลอกนั้นจะถูกทำลายทิ้ง และเขียนใหม่ทั้งเล่ม
  • เมื่อคัดลอกจบหนึ่งย่อหน้า ให้ทำการนับตัวอักษร (Scribe แปลว่า นับ) หากผิดพลาดให้เขียนใหม่ทั้งหมด
  • ฉบับคัดลอกที่เสร็จแล้ว จะถูกเก็บเอาไว้เป็นอย่างดี

เราจึงเห็นได้ว่า รูปแบบการคัดลอกที่มีความรัดกุมแบบนี้ มีโอกาสยากมากที่จะเกิดความคลาดเคลื่อน

4) อาชีพและแรงจูงใจการของนักคัดลอก

เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องพิมพ์ นักคัดลอกพระคัมภีร์ หรือ ธรรมาจารย์ (Scribe) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องบทบัญญัติ จึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากในสังคมยิว ผู้คัดลอกจะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างเคร่งครัดและผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเท่านั้นจึงสามารถคัดลอกพระคัมภีร์ได้

ในการเล่น Telephone Game ผู้เล่นส่วนใหญ่ เล่นเพื่อสนุก โดยรางวัลจากการชนะเกมอาจจะเป็นของขวัญเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในการคัดลอกพระคัมภีร์ ผู้คัดลอกพระคัมภีร์กำลังคัดลอกสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากต่อสังคมชาวยิว อีกทั้งเนื้อหาในพระคัมภีร์เกี่ยวกับความเป็นความตาย ดังนั้นผู้คัดลอกจึงต้องทำอย่างสุดความสามารถ เพราะความผิดพลาดจากการคัดลอก จะส่งผลเสียต่ออาชีพและสถานะทางสังคมของผู้คัดลอกเป็นอย่างมาก

5) ความแม่นยำ

ในสมัยก่อน พระคัมภีร์ฉบับคัดลอกเก่าแก่ที่สุดที่เรามี คือ ค.ศ. 895 แต่ในปี 1947 ได้มีการค้นพบฉบับคัดลอกที่มีอายุเก่ามาก ราว ๆ 100 ก.ค.ศ. และหลายปีต่อมาก็ได้ค้นพบฉบับคัดลอกในบริเวณนั้นอีกมากมาย ซึ่งถูกเรียกว่า Dead Sea Scrolls โดยที่ใน Dead Sea Scrolls นี้มีพระคัมภีร์เดิมทุกเล่มยกเว้น พระธรรมเอสเธอร์ หลายๆ เล่มนั้นอาจมีแค่บางส่วน แต่หนังสืออิสยาห์นั้นสมบูรณ์ทั้งเล่ม และเมื่อนำเนื้อหาพระคัมภีร์ใน Dead Sea Scrolls กับพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมภาษาฮีบรูที่ตีพิมพ์ในปัจจุบันมาเทียบกัน ก็พบว่าตรงกัน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันของความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์ได้เป็นอย่างดี

สรุป

แม้ว่าพระคัมภีร์ต้นฉบับจะสูญหายไปตามกาลเวลา แต่พระคัมภีร์ฉบับคัดลอกก็ยังคงความน่าเชื่อถือได้มาก เพราะว่า ชาวยิวมีระบบการคัดลอกที่เข้มงวดเป็นอย่างมาก การใช้ Telephone Game มาเป็นตัวเปรียบเทียบ เพื่อโจมตีความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะว่า รูปแบบ และ แรงจูงใจ ในการส่งต่อนั้นแตกต่างกันมาก ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านคงได้รับประโยชน์จากบทความนี้นะครับ

อ้างอิง

 

บทความ:  ดร.อาณัติ เป้าทอง / ณัฐชา อินเปล่ง
ออกแบบภาพ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง