บทความ

7 วิธีรับมือเมื่อคนไทยเห็น GDP ติดลบ 8.1%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศคาดการณ์ GDP ปี 2563 มีโอกาสติดลบสูงถึง -8.1% หลังจากที่เคยประเมินไว้ที่ระดับ -5.3% ความรุนแรงของผลกระทบเมื่อลองเปรียบเทียบกับ วิกฤตซับไพรม์ในปี 2008-2009 ที่ติดลบเพียง -0.7% เท่านั้น

ในสภาวะเศรษฐกิจที่มืดมนและมีสัญญาณว่าจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เราอาจรู้ว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาส คำนี้ยังใช้ได้ แต่จะเป็นโอกาสสำหรับบางคนที่หาหนทางพบเท่านั้น แต่การปรับตัวจะเกิดขึ้นแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้กระทั่งผู้ที่พบโอกาสในวิกฤต

จากการสัมผัสความรู้สึกของคนในแวดวงนักธุรกิจ บรรยากาศของเศรษฐกิจในบ้านเรา และการศึกษาความรู้ตัวเลขทางเศรษฐกิจ มีอย่างน้อย 7 เรื่องที่เราน่าจะพิจารณาเรียนรู้ระมัดระวังไปด้วยกันเพื่อเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างมีความเข้าใจครับ

1. ธุรกิจต้องปรับใหญ่ ไม่ใช่จูนเครื่องเล็กๆ น้อยๆ

ปรับการลงทุนและบุคลากรให้สอดคล้องกับช่องทางที่มีโอกาสสร้างกำไร การปรับยังหมายถึงปรับวิธีคิดของตัวเองและทีมงานด้วย และสิ่งที่น่ากลัวมากคือการเพิกเฉยไม่คิดว่าภาวะเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบอะไรกับเรา

2. บุคลากรอาจต้องพบกับการปรับตัวครั้งใหญ่

พยายามรับผลกระทบให้ได้และรีบเรียนรู้กับความคุ้นเคยในสิ่งใหม่ๆ Re-learn เรียนรู้ know-how ใหม่ๆ อย่าต่อต้านกับการเปลี่ยนแปลง Un-learn ลืมความสำเร็จในอดีต ลืมวิธีการได้มาซึ่งความสำเร็จในแบบเดิมๆ Re-skill พัฒนาทักษะใหม่ให้รวดเร็ว

3. บุคคลากรบางคนอาจถูกให้ออก

อาจมีการ early retire บางคนจะถูกให้ออก ซึ่งจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ช้าก็เร็ว เพราะค่าใช่จ่ายในการจ้างบุคคลากรจะสูงมาก และจะเป็นค่าใช้จ่ายที่จะถูกพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ แน่นอน คนที่จะไปก่อนคือคนที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนไม่ทัน ผมขอยืนยันว่าหากคุณออกจริงๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณผิดอะไร แต่เพราะองค์กรต้องปรับตัวในโครงสร้างค่าใช้จ่ายเท่านั้น และหากบริษัทเปิดให้มีการเจรจาลดงเงินเดือน บุคลากรต้องลองคิดดูระหว่างการไม่มีเลยกับการมีน้อยลง ต้องชั่งใจและตัดสินใจเองครับ

4. การใช้จ่ายส่วนตัวต้องปรับใหญ่

ลดระดับการใช้จ่าย การกินการอยู่ลง ปรับให้ชินแล้วคุณอาจจะเซอร์ไพรส์ที่เงินเก็บของคุณอาจจะมากขึ้นจากปกติก็ได้

5. ไม่หยุดออมทรัพย์ ไม่หยุดใช้หนี้

แม้ GDP ติดลบ แต่ดอกเบี้ยเงินฝากยังบวกอยู่ อาจจะออมได้น้อยลง แต่อย่าหยุดออมครับ และเช่นกันหากเป็นหนี้ รีบเจรจาลดหนี้ อย่าหายตัว หรือทำเฉยๆ ยิ่งเราลดหนี้ลง เรายิ่งจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงนะครับ แต่หากคุณเลือกที่จะไม่ใช้หนี้ คุณอาจจะพาตัวเองไปสู่ชั้นศาล และอาจเลวร้ายไปถึงถูกบังคับคดียึดทรัพย์ได้เลย

6. ศึกษาโครงสร้างบัญชีและต้นทุนให้ดี

สำหรับนักธุรกิจทุกระดับ เรื่องนี้เป็นปัญหา เพราะส่วนใหญ่จะไม่ชอบตัวเลข ธุรกิจใหญ่ก็ให้มืออาชีพดูให้ ตัวเองไม่อยากดู นักธุรกิจเล็กก็ไม่ดูเอาเสียเลย มองแต่กระแสเงินเข้ารายวัน หลักคือ รายได้ไม่ใช่กำไร! อย่าเพลิดเพลินใช้เงินจากรายได้เป็นอันขาด! มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย อันนั้นจริงสำหรับมนุษย์เงินเดือน แต่ถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจคิดแบบนั้นไม่ได้นะครับ เพราะรายได้มาจากการขายอะไรบางอย่างได้ แต่ขายอะไรบางอย่าง ก็ต้องมีต้นทุนอะไรบางอย่างเหมือนกัน ฉะนั้นรายได้ที่แท้จริงมาจาก “รายได้ – ต้นทุน – รายจ่ายมากมาย = กำไร” ถ้าเข้าใจหลักนี้ คุณจะเปลี่ยนความคิด ไม่กล้าใช้เงินจากรายได้แน่นอน

7. อธิษฐานพึ่งพาพระเจ้า

เรื่องนี้ควรเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ และตลอดทั้งกระบวนการ พระเจ้ายังทรงพระชนม์ ทรงเป็นห่วงเรา สถานการณ์เศรษฐกิจที่กระทบทั้งโลกก็กระทบเราด้วยและพระเจ้าเข้าใจดี ให้เราขอความเมตตาจากพระเจ้าให้ทรงปกป้องธุรกิจการงาน ประทานโอกาสดีๆ ความเข้าใจใหม่ๆ ความอดทน ความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา ฯลฯ คำอธิษฐานจะช่วยให้เราเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าได้


ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านให้เกิดความตระหนักและสามารถผ่านวิกฤตทั้งตอนนี้และอนาคตข้างหน้าไปได้อย่างราบรื่นตามสมควรนะครับ อย่าลืมว่าครอบครัวเป็นกำลังสำคัญในชีวิตของเราเสมอ ขอพระเจ้าอวยพรครับ

 

บทความ:  อ.กนก ลีฬหเกรียงไกร
ออกแบบภาพ:  Promise

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง