พระธรรมโยบ เขียนโดยใครหรือเวลาเจาะจงเมื่อไรยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาตลอดมาสรุปได้ว่า โยบเป็นผู้มั่งคั่งของแผ่นดินอูสซึ่งมีความมั่งคั่งจนถือว่ามากที่สุดในดินแดนตะวันออกในเวลานั้น และอาจประเมินได้ว่าโยบเป็นผู้มีอำนาจบารมีคนหนึ่งในแผ่นดินอูสเลยทีเดียว ช่วงชีวิตโยบอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับกลุ่มอัครปิตา คือ อับราฮัม อิศอัค ยาโคบ นั่นคือประมาณสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล
The Patient Job โดยศิลปินชาวเบลเยี่ยม Gerard Seghers (1591–1651)
ภาพต้นฉบับตั้งอยู่ที่ Sternberg Palace กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก
เรื่องราวของโยบเริ่มต้นขึ้นเมื่อมารซาตานมาขอพระเจ้าเพื่อทดลองโยบ พระเจ้าทรงอนุญาตแต่ห้ามแตะต้องโยบจนถึงชีวิต จากนั้นเรื่องราวก็ดำเนินไปอย่างน่าตกใจ โยบสูญเสียลูก สูญเสียความมั่งคั่ง แม้แต่ร่างกายก็ทรุดโทรมไป โยบไม่เข้าใจเหตุผลได้แต่ยอมรับน้ำพระทัยพระเจ้าด้วยความขมขื่น
จนสหายสามคนของโยบคือ เอลีฟัสชาวเทมาน บิลดัดชาวชูอาห์ และโศฟาร์ชาวนาอาเมห์ เขามาพบโยบถึงกับตกใจร้องไห้ไปกับโยบ ในที่สุดก็กล่าวคำปลอบโยนโยบ แต่คำปลอบโยนเหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยทัศนคติที่ผ่านมุมมองอันคับแคบ จนท้ายสุดพระเจ้าออกมาตำหนิทัศนคติของเพื่อนโยบทั้งสาม รวมทั้งโยบที่คร่ำครวญว่าพระเจ้าไม่ยุติธรรมต่อชีวิตของเขา
พระธรรมโยบมีอะไรน่าเรียนรู้
- โยบเข้าใจและเชื่อจริงๆ ว่าตนเองชอบธรรม เพราะเขาได้กระทำความดีไม่ตกไปสักอย่างเดียว
- พระเจ้าอนุญาตให้มารทดลองโยบ เพื่อสอนโยบให้เข้าใจความจริงว่าไม่มีใครจะชอบธรรมต่อพระพักตร์พระเจ้าได้เลย คือมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาปจึงขาดจากพระสิริพระเจ้าไม่สามารถชอบธรรมด้วยความดีของตนเอง
- เพื่อนทั้ง 3 ของโยบ คือ เอลีฟัส บิลดัด และโศฟาร์ (ยกเว้นเอลีฮู) ได้กล่าวโทษโยบตามความเข้าใจของเขาเอง คือ เมื่อเห็นโยบต้องอยู่ในสภาพที่ตกยากลำบาก เขาก็เข้าใจว่าเป็นเพราะโยบไม่กลับใจจากบาปจึงถูกลงโทษ ในทำนองเดียวกันเขาก็มีทัศนคติเดียวกับโยบคือถ้าไม่ทำบาปก็คงไม่มีปัญหาอะไร สามารถเป็นคนชอบธรรมได้ด้วยการกระทำ
- เมื่อพระเจ้าตรัสกับโยบ และโยบเข้าใจจนสารภาพออกมาว่าตนเองเป็นคนบาปต้องกลับใจใหม่ พระเจ้าทรงให้อภัย ยกเว้นเพื่อนทั้ง 3 ของโยบ เพราะเขากล่าวถึงพระเจ้าอย่างไม่ถูกต้อง
เป็นไปได้ไหมว่า…ความทุกข์ยากของพี่น้องสักคน ไม่ว่าจะเพราะสาเหตุใดก็ตาม พระเจ้าอาจอนุญาตให้เขาทุกข์ยากเพื่อสอนคนรอบข้างให้มีความเข้าใจเรื่องของพระเจ้าอย่างถูกต้องก็ได้ และเมื่อเรามีโอกาสเข้าไปร่วมแบกรับภาระ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับบางคน ให้เราสนใจความเป็นอยู่ ช่วยเหลือด้วยความจริงใจ โดยไม่ตัดสินเขาจากทัศนคติของตัวเราเอง
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องในการอ่านพระธรรมโยบนะครับ
บทความ: กนก ลีฬหเกรียงไกร
ภาพ: McKenna Phillips on Unsplash
ออกแบบ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น