บทความ

เบื้องหลัง “การไต่สวนพระเยซู” ที่ไม่ชอบมาพากล

“พระเยซูผู้ชอบธรรม โดนตัดสินโดยคนอธรรม แบบไม่ยุติธรรม กลับนำมาซึ่งความรอดของคนอธรรม”

ในช่วงวันอีสเตอร์ คริสเตียนและคริสตจักรส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องที่พระเยซูฟื้นจากความตาย โดยมักอธิบายถึง “เหตุผลทางความรอด” ว่าการที่พระเยซูมาตายที่กางเขนก็เพื่อมาไถ่บาปให้คนบาปอย่างเรา ดังนั้น การฟื้นจากความตายของพระเยซู ซึ่งเป็นการแสดงว่าพระเยซูเอาชนะความบาปได้ จึงเป็นความหวังและแก่นความเชื่อที่สำคัญสำหรับคริสตชนทั้งโลก (1 โครินธ์ 15:14-19)

แต่อย่างไรก็ตาม อะไรคือ “เหตุผลทางกฎหมาย” ที่พระเยซูถูกจับจริงๆ กันแน่ และ การใช้กฎหมายดังกล่าวมีความไม่ชอบมาพากลตรงไหนบ้าง เราลองมาพิจารณาไปพร้อมๆ กัน

1. การวางแผนจับกุม

ก่อนที่ยูดาสจะอายัดพระเยซู ผู้นำทางศาสนายิวมีความพยายามจับผิดพระเยซูอยู่หลายครั้ง เช่น

  • การส่งส่วยให้กับซีซาร์ (มัทธิว 22:15-22) ในครั้งนี้พากลุ่มเฮโรดไปด้วย ซึ่งหากพระเยซูพูดผิดจากกฎหมายของโรมัน ก็คงโดนจับแน่ๆ
  • เรื่องการหย่าร้าง (มัทธิว 19:1-3) เหตุการณ์ตอนนั้นอยู่ที่กาลิลี พื้นที่ซึ่งถูกปกครองโดยเฮโรด เมื่อเฮโรดได้รับนางเฮโรเดีย (ภรรยาของน้องชาย) มาเป็นภรรยาของตนเอง (มัทธิว 14:3) นั่นหมายความว่าเฮโรดทำผิดเรื่องล่วงประเวณี ดังนั้นฟาริสีจึงตั้งใจถามคำถามว่า “ผู้ชายจะหย่าภรรยาของเขาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามธรรมบัญญัติหรือไม่?” โดยหวังว่าคำตอบจะเป็นเหตุให้เฮโรดลงโทษพระเยซู เหมือนกับที่ลงโทษยอห์นบัพติศมานั่นเอง (มัทธิว 14:1-12)

และยังมีอีกหลาย ๆ ตอน เช่น ยอห์น 12:9-11, มาระโก 3:6, ลูกา 20:19-20, ยอห์น 11:53 จนในที่สุดพวกเขาก็ทำสำเร็จ โดยสาวกพระเยซูคนหนึ่งชื่อ ยูดาส อิสคาริโอท ทำการทรยศด้วยค่าจ้าง 30 เหรียญเงิน (มัทธิว 26:14-16) โดยการทรยศนี้ได้ถูกทำนายเอาไว้ล่วงหน้ามากกว่า 500 ปี (เศคาริยาห์ 11:12-13) และแล้วพระเยซูก็ถูกจับกุมที่สวนเกทเสมนี (มัทธิว 26:47-56)


2. การไต่สวน

หลังจากถูกจับกุม พระเยซูถูกไต่สวนอยู่ 6 ครั้ง โดยผู้มีอำนาจ 5 คน โดยที่ทั้ง 3 ครั้งแรกเป็นถูกดำเนินการตามกฎของชาวยิว ส่วน 3 ครั้งหลังถูกดำเนินการตามกฎของโรมัน ตามตารางด้านล่าง

*Source: Mills, M. (1999). The Life of Christ: A Study Guide to the Gospel Record.

ครั้งที่ 1 ถูกไต่สวนโดย อันนาส (Annas)

อันนาส ผู้ที่เคยเป็นมหาปุโรหิต แต่ถูกโรมันบีบบังคับให้ต้องออกจากตำแหน่ง เพราะอันนาสมีอำนาจมากเกินไป แต่ถึงแม้ว่าอันนาสจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งมหาปุโรหิต (ตัวเขายังคงถูกเรียกว่า มหาปุโรหิต อยู่เพราะถือเป็น lifetime position) เขาเองก็ยังมีอำนาจมาก เพราะเขาเป็นพ่อตาของ คายาฟาส (Caiaphas) ซึ่งเป็นมหาปุโรหิตคนปัจจุบัน

ตัวอันนาสอาจมีประเด็นไม่พอใจพระเยซูที่ไปทำลายการซื้อขายในวิหาร ซึ่งเป็นกิจการของเขา ดังนั้นเขาคนนี้เองที่เป็นเบื้องหลังในการวางแผนจับกุมพระเยซู อีกทั้งน่าจะเป็นคนที่ให้สินบนกับยูดาสด้วย แต่เนื่องจากอันนาสไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินโทษ การไต่สวนครั้งนี้จึงเป็นเพียงการรอความพร้อมของ สภาแซนเฮดริน (the Great Sanhedrin) เท่านั้น

ครั้งที่ 2 ถูกไต่สวนโดย คายาฟาส

คายาฟาสเป็นมหาปุโรหิตคนปัจจุบัน นี่ถือเป็นการไต่สวนส่วนตัว ก่อนจะส่งไป สภาแซนเฮดริน

ครั้งที่ 3 ถูกได่สวนโดย สภาแซนเฮดริน

สภาแซนเฮดริน ซึ่งเป็นสภาสูงของชาวยิว มีอำนาจเต็มที่ในการพิพากษา และยืนตามคำพิพากษาส่วนตัวของ คายาฟาส แต่สภานี้สั่งลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี และอื่นๆ ได้ แต่ไม่มีอำนาจในการสั่งประหาร โทษประหารจะต้องได้รับการอนุมัติจาก เจ้าเมืองปีลาต (Pilate) ก่อน จึงจะดำเนินการได้

ครั้งที่ 4 ถูกไต่สวนโดย ปีลาต

ปุโรหิตรู้ว่า ข้อหา “หมิ่นประมาทพระเจ้า” ไม่สามารถทำให้ ปีลาต ลงโทษประหารได้ จึงทำการใส่ร้ายว่าพระเยซูจะเป็นกษัตริย์ของยิว และ ต่อต้านโรม (ลูกา 23:1-3) แต่ปีลาตรู้เท่าทันพิรุธของปุโรหิต เพราะหากพระเยซูจะต่อต้านโรมจริงๆ พระเยซูย่อมเป็นฮีโร่ของชาวยิว เป็นไปไม่ได้ที่จะส่งตัวมาให้ประหารทิ้ง ดังนั้นปีลาตจึงไม่พบความผิดใดๆ ของพระเยซู ที่กระทบต่อโรม จึงส่งต่อไปให้ เฮโรด (Herod)

ครั้งที่ 5 ถูกไต่สวนโดย เฮโรด

เฮโรด เป็นถูกแต่งตั้งมาปกครองแคว้นกาลิลี (Ruler of Galilee) โดยปุโรหิตก็ยังทำเหมือนเดิมเพื่อใส่ร้ายพระเยซู แต่ เฮโรดก็เห็นว่าไม่เป็นภัยกับโรม จึงส่งกลับไปหาปีลาต

ครั้งที่ 6 ถูกไต่สวนโดย ปีลาต

เมื่อปีลาตไต่สวนอีกครั้ง ก็ยังไม่พบความผิดของพระเยซู เขาจึงพยายามสมดุลระหว่าง “ความยุติธรรม” และ “เอาใจชาวยิว” โดยจะลงโทษพระเยซูและปล่อยตัวไป (ลูกา 23:13-16) แต่ชาวยิวบางส่วนไม่ยอม ต้องการตรึงพระเยซูและยอมปล่อย บารับบัส (Barabbas) แทน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ปุโรหิตทำผิดกฎของโมเสส ใน ลูกา 24:16 คนที่หมิ่นประมาทพระเจ้า ต้องถูกเอาหินขว้างตาย ไม่ใช่ตรึงกางเขน

3. ความไม่ชอบมาพากลใน “ระบอบไต่สวนของยิว” (Jewish Trials)

เนื่องจากผู้นำศาสนาของยิว (โดยเฉพาะอันนาส) ตั้งใจจะทำลายพระเยซู (มาระโก 11:18) จึงทำให้ต้องผ่อนปรนข้อห้ามหลายข้อ ถือว่าผู้นำทางศาสนาของยิวก็ได้ทำข้อผิดพลาดอยู่หลายจุด เริ่มตั้งแต่

1) การจับกุมพระเยซูเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะว่า

  • เกิดขึ้นในเวลากลางคืน – ตามกฎหมายของชาวยิว หากไม่ฉุกเฉิน ห้ามมีการจับกุมในเวลากลางคืน
  • ยูดาสเป็นคนชี้ตัว – หากพระเยซูมีความผิด ยูดาสซึ่งเป็นสาวกก็นับว่าเป็นผู้ช่วยเหลือ ย่อมผิดด้วย แต่ในเมื่อไม่มีการจับกุมยูดาส ก็ไม่สามารถจับกุมพระเยซูด้วยเช่นกัน

2) การไต่สวนแบบส่วนตัวของ อันนาส กับ คายาฟาส เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะว่า

  • เกิดขึ้นในเวลากลางคืน – ตามกฎหมายของชาวยิว ห้ามทำการไต่สวนตอนกลางคืน (หลักคิด คือ การไต่สวนต้องเปิดเผยทำในที่แจ้ง เพื่อ ให้สามารถตรวจสอบได้)
  • ทำแบบส่วนตัว – ตามกฎหมายของชาวยิว ห้ามไต่สวนส่วนตัว ต้องมีผู้พิพากษาท่านอื่นๆ ด้วย

3) ข้อกล่าวหาต่อพระเยซู เป็น สิ่งที่ผิดกฎหมาย เพราะว่า

  • ไม่ชัดเจน – คนไต่สวนก็ยังไม่รู้เลยว่าจับพระเยซูในข้อหาอะไร สิ่งที่พยายามทำ คือ ให้พระเยซูสารภาพว่าทำผิด
  • ถูกโน้มนำโดย อันนาส – ในการไต่สวนครั้งแรก อันนาส ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ดังนั้นจึงไม่สามารถส่งต่อไปที่ สภาแซนเฮดรินได้

4) กระบวนการไต่สวนขัดกับกฎหมาย เพราะว่า

  • เกิดขึ้นในเวลากลางคืน – เหตุผลเดียวกัน
  • ทำก่อน การถวายสัตวบูชาในตอนเช้า (the morning sacrifice) – โดยธรรมเนียมของชาวยิว จะต้องถวายสัตวบูชาก่อนว่าคดีความ
  • ทำในวันศุกร์ – ห้ามมีการพิจารณาคดีในวันศุกร์ เพราะเกรงว่า คดีจะลากยาวไปถึงวันสะบาโต
  • ทำในช่วงเทศกาลปัสกาและขนมปังไร้เชื้อ – เหตุผลคล้ายวันสะบาโต

5) คำพิพากษาเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพราะว่า

  • เป็นการทำในวันเดียว – คำพิพากษาลงโทษแบบอื่นสามารถทำได้ภายใน 1 วัน แต่คำพิพากษาโทษประหารต้องทำหลังวันไต่สวนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อความชัดเจนของหลักฐาน
  • ไม่มีผู้พิพากษาเห็นต่าง – คล้ายๆ กับปัจจุบันที่ต้องมีทนายฝั่งจำเลยช่วยแก้ต่าง
  • ไม่ได้ทำในห้อง Chamber of Hewn Stone ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระวิหาร – คำพิพากษาประหารจะทำได้เฉพาะในห้องที่กำหนดไว้เท่านั้น
  • มหาปุโรหิตฉีกเสื้อคลุม –มหาปุโรหิตห้ามฉีกเสื้อตำแหน่งของตน ดังนั้น สิ่งที่ทำใน มัทธิว 26:65 ขัดกับ เลวีนิติ 21:10
  • การลงคะแนนผิดปกติ – โดยทั่วไปต้องให้ลงคะแนนจากสมาชิกของสภา (ทั้งหมด 71 คน) ที่มีอายุน้อยสุดโหวตก่อนเพื่อป้องกันอิทธิพลของสมาชิกอายุมาก แต่พระคัมภีร์บันทึกว่า “ท่านก็ได้ยินเขาพูดหมิ่นประมาทพระเจ้าแล้ว พวกท่านคิดอย่างไร?” พวกเขาตอบว่า “เขาสมควรตาย” (มัทธิว 26:65-66) ซึ่งไม่ใช่โทนของการลงคะแนนเสียงแต่อย่างใด
  • สมาชิกในสภาแซนเฮดริน ไม่มีคุณสมบัติ – สมาชิกหลายคนนั้นเป็นศัตรูกับพระเยซู ซึ่งตามกฎหมายของชาวยิว ห้ามศัตรูของจำเลยเป็นผู้พิพากษา
  • ไม่มีพยานแก้ต่าง – มีการเบิกพยานกล่าวหา แต่ไม่มีการเบิกพยานแก้ต่าง

6) การตรึงการเขนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายยิว เพราะว่า

  • การตรึงกางเขนไม่ใช่รูปแบบการลงโทษของชาวยิว – การลงโทษของชาวยิวมีเพียง 5 แบบ คือ ติดคุก, โบยตี, ทาส, ไปอยู่เมืองลี้ภัย และ ประหาร โดยวิธีการประหารมีเพียง 4 แบบเท่านั้น คือ ตัดหัว, รัดคอ, เทของร้อนลงในคอ และ หินขว้าง ซึ่งในกรณีของพระเยซู โทษของการหมิ่นประมาทพระเจ้า คือ เอาหินขว้าง
  • การตรึงกางเขนเป็นรูปแบบการลงโทษของชาวโรมัน – แม้ว่าปีลาตและเฮโรดก็ไม่ได้เอาผิดพระเยซู แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบารับบัสต้องโทษถูกตรึงกางเขน และให้พระเยซูไปรับโทษแทนบารับบัส ดังนั้นพระเยซูจึงต้องตายด้วยวิธีการตรึงกางเขนนั่นเอง

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คริสตชน เข้าใจพระเยซูและรักพระองค์ มากขึ้นนะครับ ขอพระเจ้าอวยพระพร

“แน่ทีเดียวท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเรา และหอบความเจ็บปวดของเราไป กระนั้นพวกเรายังคิดว่าที่ท่านถูกตี คือถูกพระเจ้าทรงโบยตีและข่มใจ แต่ท่านถูกแทงเพราะความทรยศของเรา ท่านบอบช้ำเพราะความบาปผิดของเรา การตีสอนที่ตกบนท่านนั้นทำให้พวกเรามีสวัสดิภาพ และที่ท่านถูกเฆี่ยนตีก็ทำให้เราได้รับการรักษา” – อิสยาห์ 53:4-5 –

อ้างอิง

  • Alfred Edersheim, The Life and Times of Jesus the Messiah: New Updated Edition, (Hendrickson Pub, 1993).
  • Benny, Philip Berger, The Criminal Code of the Jews, According to the Talmud, (The Lawbook Exchange, 2006).
  • Isaac M Wise, The Martyrdom of Jesus of Nazareth: A Historical Treatise on the Last Chapter of the Gospel, (The Bloch Publishing, 1883).
  • Mendelsohn, Criminal Jurisprudence of the Ancient Hebrews: Complied from the Talmud and the Other Rabbinical Writings, and Compared with Roman and English Penal Jurisprudence, (The Lawbook Exchange, 2002).
  • Miall Edwards, International Standard Bible Encyclopaedia.
  • M.M. Lemann, Jesus Before the Sanhedrin.
  • Walter M Chandler, The Trial of Jesus from a Lawyer’s Standpoint, Vol I (of II): The Hebrew Trial, (CreateSpace Independent Publishing Platform, 2015).

 

บทความ:  ดร.อาณัติ เป้าทอง
ภาพ:  Sebastian Pichler, Scott Rodgerson , Mads Schmidt Rasmussen on Unsplash
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง