ในขณะที่มีข้อพระคัมภีร์จำนวนไม่น้อยที่สนับสนุน “ความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์” (ซึ่งผมจะค่อย ๆ เรียบเรียงเขียนออกมา) แต่จะมีบางกลุ่มที่ปฏิเสธตรีเอกานุภาพ (nontrinitarian) ก็จะพยายามแก้ต่าง, บิดเบือน ข้อพระคัมภีร์เหล่านั้นในหลายรูปแบบ ดั่งตัวอย่างที่เราเห็นในพระธรรมยอห์น 1:1 ที่พวกเขาบิดเบือนไวยกรณ์ภาษากรีกเพื่อลดความน่าเชื่อถือของตรีเอกานุภาพ ซึ่งผมอยากจะให้ความมั่นใจกับพี่น้องว่า การโจมตีของ nontrinitarian อาจจะลุกล้ำเข้าไปในบางพื้นที่ของคริสตจักรได้บ้าง แต่ยังห่างไกลและไม่สามารถเข้ามาลุกล้ำ ในแวดวงวิชาการพระคัมภีร์ตามสถาบันพระคัมภีร์, บทความ หรือ วารสารต่าง ๆ ได้
เนื้อหาต่อไปนี้ผมได้สรุปข้อคิดจากบทที่ 5 ของหนังสือชื่อ The Forgotten Trinity เขียนโดย James White ซึ่งผู้เขียนได้เสนอกรอบแนวคิด 2 อย่างเบื้องต้นที่น่าสนใจในการคุยเรื่องตรีเอกานุภาพ
กรอบที่ 1 – “ความแตกต่างในสิ่งที่ทำ” ไม่ใช่ “ความด้อยกว่าในสิ่งที่เป็น”
“𝐃𝐢𝐟𝐟𝐞𝐫𝐞𝐧𝐜𝐞 𝐢𝐧 𝐟𝐮𝐧𝐜𝐭𝐢𝐨𝐧” 𝐢𝐬 𝐧𝐨𝐭 “𝐈𝐧𝐟𝐞𝐫𝐢𝐨𝐫 𝐢𝐧 𝐧𝐚𝐭𝐮𝐫𝐞”
เนื่องจากวิธีการโจมตีส่วนมากของ nontrinitarian คือ หาความแตกต่างในสิ่งที่ทำของพระบิดา, พระเยซู และ พระวิญญาณบริสุทธิ์ เช่น (1) พระบิดาสร้างทุกสิ่งผ่านพระเยซู, (2) พระบิดาส่งพระวิญญาณมารับรองพระเยซู และก็สรุปว่า พระเยซู หรือ พระวิญญาณมีความด้อยกว่าพระบิดา
การที่ unitarian ตั้งข้อสมมติว่า “ต้อง DO เหมือนกัน จึงจะ BE เหมือนกัน” จึงเป็นการสมมติว่า unitarian เป็นจริงเอาไว้ตั้งแต่แรก (presupposition) โดยสิ่งที่ทำจะมีอยู่ 2 แนวทาง คือ (1) นำเสนอข้อพระคัมภีร์ที่พระบิดา, พระบุตร หรือ พระวิญญาณ DO ต่างกัน เพื่อนำเสนอว่า BE ต่างจากพระบิดา หรือ (2) บิดเบือนข้อพระคัมภีร์ที่มีความเด่นชัด เพื่อสร้างความสับสน ดังที่ทำกับ พระธรรมยอห์น 1:1
อย่างไรก็ตาม คำถามที่สมเหตุสมผล คือ ทำไมพระบิดา, พระเยซู และ พระวิญญาณจึงต้อง DO ต่างกัน แน่นอนว่าพระคัมภีร์ไม่ได้ให้เหตุผลละเอียดขนาดนั้นกับเรา แต่คำอธิบายที่ดีอันหนึ่งคือ ก่อนการสร้างทุกอย่าง (เนื่องจากเป็นสภาวะที่ยังไม่มีเวลา ผมตระหนักว่าคำว่า “ก่อน” ก็เป็นคำที่ยังไม่เหมาะสมนัก แต่ก็หาคำอื่นไม่ได้จริง ๆ) พระบิดา, พระบุตร และ พระวิญญาณ (ที่มี BE เหมือนกัน) อาจจะตกลงกันว่าบุคคลไหนจะรับบทบาทไหน เช่น บทบาทสร้าง, บทบาทไถ่, บทบาทผู้ช่วย โดยที่แต่ละบุคคลไม่จำเป็นต้อง DO ในสิ่งเดียวกัน ซึ่งบทบาทที่แตกต่างกันทำให้เรารับรู้ถึง “ความแตกต่างด้านบุคคล” เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงความแตกต่างด้าน Being แต่อย่างใด
กรอบที่ 2 – “การปกป้องด้วยการโจมตี”
𝐃𝐨𝐧’𝐭 𝐥𝐞𝐭 𝐭𝐡𝐞𝐦 𝐨𝐟𝐟 𝐭𝐡𝐞 𝐡𝐨𝐨𝐤
กรอบที่ 1 จะเป็นการใช้ในลักษณะปกป้อง ซึ่งโดยส่วนตัว การสนทนาส่วนใหญ่ ผมชอบที่จะรับบทบาทปกป้องมากกว่าโจมตี เพราะว่า (1) เราแค่ทำความเข้าใจในความเชื่อของเรา และ (2) ไม่ต้องสนใจความเชื่อของคู่สนทนา แต่อย่างไรก็ตามในบางสนทนา การโจมตีก็มีความสำคัญเช่นกัน เพื่อทำให้คู่สนทนาต้องคิดทบทวนความเชื่อของเขาเช่นกัน
หากเรามั่นใจว่าตรีเอกานุภาพถูกต้อง ก็ย่อมหมายความว่าแนวคิดอื่น ๆ ที่ต่างจากตรีเอกานุภาพย่อมไม่ถูกต้องและมีจุดอ่อนให้โจมตีเสมอ ซึ่งหากเราศึกษาในรายละเอียดไปเรื่อย ๆ ย่อมหาจุดอ่อนของแนวคิดดังกล่าวได้ เช่น
ตัวอย่างที่ 1 พยานพระยะโฮวาห์
แน่นอนว่า พยานพระยะโฮวาห์ เชื่อว่า พระเยซูไม่ใช่พระเจ้า จึงทำให้พวกเขาต้องโจมตีตรีเอกานุภาพ แต่คำถามที่ควรถามต่อ คือ แล้วพวกเขาเชื่อว่าพระเยซูเป็นอะไร คำตอบก็คือ “พระเยซูคือทูตสวรรค์ที่มีชื่อมิคาเอล” โดยหยิบยกพระคัมภีร์มาบางข้อบางตอน เช่น มิคาเอลเป็นแม่ทัพของทูตสวรรค์ (วิวรณ์ 12:7) เปรียบเทียบกับ พระเยซูก็เป็นหัวหน้าทูตสวรรค์ (2ธส.1:7) ดังนั้นในการสนทนากับพยานพระยะโฮวาห์ เราอาจจะโจมตีกลับไปได้บ้างว่า
มิคาเอล คือ the Way, the Truth และ the Life ด้วยไหม (ยอห์น 14:6)
มิคาเอลจะบอกว่า “บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา” ได้ด้วยไหม (มัทธิว 11:28)
มิคาเอลเป็น King of kings, Lord of lords ด้วยไหม (วิวรณ์ 19:16)
มิคาเอล จะบอกว่า ใครเห็นเราก็เห็นพระบิดา ได้ไหม (ยอห์น 14:9)
และอีกมากมายหลายข้อที่มีปัญหาและยากในการตอบ
ตัวอย่างที่ 2 Unitarian
Unitarian บางกลุ่มเชื่อว่า พระเยซูเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ถูกพระเจ้าเข้าสิง จึงไม่ทำบาป และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับมนุษย์ ดังนั้นในการสนทนากับกลุ่มนี้ เราอาจจะโจมตีกลับไปได้บ้างว่า
หากเหตุผลที่พระเยซูไม่ทำบาป เป็นเพราะพระเจ้าเข้าสิง แล้วทำไมพระเจ้าไม่เข้าสิงอดัมไปตั้งแต่แรก (หรือเข้าสิงทุกคนไปเลย)
เนื่องจากพระเจ้าเข้าสิงพระเยซู ดังนั้นการตัดสินใจต่าง ๆ ย่อมไม่ได้มาจาก freewill ของพระเยซู และทำไมพระเจ้าจึงต้องยกย่องพระเยซู
ปัจจุบันนี้พระเจ้ายังเข้าสิงพระเยซูอยู่ไหม
และอีกมากมายหลายคำถามที่มีปัญหาและยากในการตอบ
ตัวอย่างที่ 3 Latter-Day Saints (Mormonism)
LDS มีความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูที่แตกต่างจากคริสเตียนกระแสหลักค่อนข้างมาก เช่น (1) Heavenly Father + Heavenly Mother ให้กำเนิดพระเยซูในส่วนที่เป็นวิญญาณ (first spirit child) (2) เป็นพี่น้องกับลูซิเฟอร์, (3) Heavenly Father ร่วมเพศกับนางมารีย์ให้กำเนิดพระเยซูในส่วนที่เป็นร่างกาย, (4) พระเยซูแต่งงานอย่างน้อย 3 ครั้ง, (5) ได้รับสภาพพระเจ้าหลังจากถูกตรึงกางเขน ดังนั้นในการสนทนากับกลุ่มนี้ จึงมีคำถามมากมาย
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการสนทนาแบบนี้ คือ เราต้องรู้และเข้าใจที่มาที่ไปของหลักข้อเชื่อของคู่สนทนาในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะว่า บนโลกใบนี้มีระบบความเชื่อต่าง ๆ มากมาย จะให้ไปศึกษาทั้งหมดก็คงจะไม่ไหว
สำหรับผู้อ่านท่านใด้ที่ยังไม่ได้อ่านบทความตอนที่ 2 สามารถคลิกรูป หรือ ลิงก์ด้านล่างนี้ เพื่ออ่านได้
ตรีเอกานุภาพ ตอนที่ 2 – ตรีเอกานุภาพ คืออะไร (𝐓𝐫𝐢𝐧𝐢𝐭𝐲 𝐏𝐚𝐫𝐭 𝟐 – 𝐖𝐡𝐚𝐭 𝐢𝐬 𝐓𝐫𝐢𝐧𝐢𝐭𝐲?)
บทความโดย : ดร.อาณัติ เป้าทอง
Graphics by : Rainnie Design
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น