บทความ

ตรีเอกานุภาพ ตอนที่ 4 – คำสารภาพของโธมัส (𝐓𝐫𝐢𝐧𝐢𝐭𝐲 𝐏𝐚𝐫𝐭 𝟒 – 𝐓𝐡𝐨𝐦𝐚𝐬’𝐬 𝐂𝐨𝐧𝐟𝐞𝐬𝐬𝐢𝐨𝐧)

ตรีเอกานุภาพ ตอนที่ 4 – คำสารภาพของโธมัส (𝐓𝐫𝐢𝐧𝐢𝐭𝐲 𝐏𝐚𝐫𝐭 𝟒 – 𝐓𝐡𝐨𝐦𝐚𝐬’𝐬 𝐂𝐨𝐧𝐟𝐞𝐬𝐬𝐢𝐨𝐧)
แม้ว่าพระธรรมยอห์น 1:1 จะให้ความชัดเจนอย่างมากเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ ทว่าผู้อ่านต้องมีความรู้และความเข้าใจในหลักไวยกรณ์ภาษากรีกในระดับหนึ่ง ในครั้งนี้ผมจึงอยากจะนำเสนอหลักฐานที่เรียบง่ายกว่า นั่นคือ “คำสารภาพของโธมัส” จากพระธรรมยอห์นบทที่ 20 ข้อที่ 24-29 ที่มีความตรงไปตรงมาและชัดเจนเช่นกัน โดยไม่ต้องอาศัยความรู้ภาษากรีกมากนัก

ยอห์น 20:24-25

24 โธมัสที่เขาเรียกกันว่าดิดุโมสซึ่งเป็นสาวกคนหนึ่งในสิบสองคนนั้น ไม่ได้อยู่กับพวกเขาเมื่อพระเยซูเสด็จมา
25 สาวกคนอื่นๆ จึงบอกโธมัสว่า “เราเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” แต่โธมัสตอบพวกเขาว่า “ถ้าข้าไม่เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ของพระองค์ และไม่ได้เอานิ้วของข้าแยงเข้าไปที่รอยตะปูนั้น และไม่ได้เอามือของข้าแยงเข้าไปที่สีข้างของพระองค์แล้ว ข้าจะไม่เชื่อเลย”
ผู้เขียนระบุว่า โธมัสไม่ได้อยู่ในตอนที่พระเยซูปรากฎตัวกับสาวกในครั้งแรก ซึ่งทำให้เขาได้พลาดในสิ่งสำคัญที่สาวกคนอื่น ๆ ได้รับรู้เกี่ยวกับพระเยซู ถึงระดับที่พวกสาวกได้เป็นพยานว่า “เราได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” โดยคำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แปลมาจาก ภาษากรีกคำว่า τὸν κύριον โดยที่ τὸν เป็น article และ κύριον แปลว่า เจ้านาย (Lord)
*** แน่นอนว่าคำว่า κύριον มีความหมายได้หลากหลาย เช่น เจ้าของ, เจ้านาย, คำแสดงการให้เกียรติ, คำที่ใช้เรียกพระเจ้า (แปลจากฮีบรูคำว่า Adonai) หรือ คำใช้เรียกเมสสิยาห์ แต่หากดูจากบริบทแล้ว สาวกเหล่านั้นย่อมมองว่าพระเยซูเป็นมากกว่าเจ้านายธรรมดาแน่ ๆ
แม้ว่าโธมัสจะได้ยินคำบอกเล่าจากเพื่อนสาวกด้วยกัน เขาก็ยังตอบสนองโดยการไม่เชื่อ แต่ต้องการ “หลักฐานเพิ่มเติมที่จับต้องได้ด้วยตัวเอง” (1) ดูรอยตะปูที่มือ (2) นิ้วแยงไปที่มือ และ (3) มือแยงเข้าไปที่สีข้าง
*** คนช่างสงสัยบางประเภท จะต้องการหลักฐานหรือเหตุผลเพิ่มเติม โดยจะกำหนดหลักฐานหรือเหตุผลที่ตัวเองต้องการออกมาอย่างชัดเจน เพื่อที่จะใช้ในการตัดสินใจว่า “เชื่อ/ไม่เชื่อ” แต่จะมีคนช่างสงสัยบางประเภท เอาแต่เพียงตั้งคำถาม และพยายามหาช่องว่างเพื่อปฏิเสธทุกประเภทของหลักฐานและเหตุผล จากการพูดคุยเรื่องตรีเอกานุภาพ ผมพบว่าคนที่เป็น nontrinitarian หลายท่านก็จะมีลัษณะแบบนี้ กล่าวคือ เลือกตั้งคำถามในข้อที่กำกวม และพยายามบิดเบือนและปฏิเสธในข้อที่เด่นชัด

ยอห์น 20:26-27

26 เมื่อผ่านไปแปดวันแล้ว พวกสาวกของพระองค์อยู่ด้วยกันในบ้านนั้นอีกและโธมัสอยู่กับพวกเขาด้วย ประตูก็ปิดแล้ว แต่พระเยซูเสด็จเข้ามาและทรงยืนอยู่ท่ามกลางเขาตรัสว่า “สันติสุขจงดำรงอยู่กับท่านทั้งหลาย”
27 แล้วพระองค์ตรัสกับโธมัสว่า “เอานิ้วของท่านแยงที่นี่ และดูที่มือของเรา ยื่นมือของท่านออกมาคลำที่สีข้างของเรา อย่าสงสัยเลย แต่จงเชื่อ”
แล้วพระเยซูก็มาปรากฎตัวกับเหล่าสาวกอีกครั้งในรูปแบบเดิม คือ (1) เข้ามาทั้ง ๆ ที่ประตูปิด, (2) ยืนอยู่ท่ามกลางพวกเขา และ (3) พูดว่า “สันติสุขจงดำรงอยู่กับท่านทั้งหลาย” (ยอห์น 20:19) โดยสิ่งที่เพิ่มเติม คือ พระองค์สนทนากับโธมัส โดยไม่ได้ต่อว่าความสงสัยของเขา แต่พระองค์ได้แสดงหลักฐานทั้ง 3 อย่าง ที่โธมัสต้องการ และบอกเขาอย่างเรียบง่ายว่า “จงเชื่อ”

ยอห์น 20:28-29

28 โธมัสทูลพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์”
29 พระเยซูตรัสกับเขาว่า “เพราะท่านเห็นเราท่านจึงเชื่อหรือ? คนที่ไม่เห็นเราแต่เชื่อก็เป็นสุข”
หลังจากที่โธมัสได้รับหลักฐานที่เขาต้องการ เขาจึงเชื่อและสารภาพประโยคที่กลายเป็นข้อสนับสนุนตรีเอกานุภาพ ว่า “My Lord and my God” ประโยคตีความแบบตรงไปตรงมาชัดเจนเพราะว่า (1) โธมัสคุยกับพระเยซูโดยตรง และ (2) “โธมัสยอมรับว่าพระเยซูไม่เป็นเพียงเจ้านายเท่านั้น แต่พระเยซูเป็นพระเจ้าด้วย” ซึ่งหากพระเยซูไม่ใช่พระเจ้า ก็ย่อมแก้ไขคำพูดของโธมัส เฉกเช่นเดียวกับที่ เปโตรไม่ยอมให้โครเนลิอัสมานมัสการตัวเอง (กิจการ 10:26), เปาโลปฏิเสธความเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ (กิจการ 14:15), ทูตสวรรค์ปฏิเสธการนมัสการ (วิวรณ์ 22:9) แต่เราจะเห็นว่าพระเยซูไม่แก้ไขใด ๆ แต่กลับสอนแบบเรียบง่ายเกี่ยวกับความเชื่อ ว่าผู้ที่เชื่อแต่ไม่เห็นก็เป็นสุข
ดังนั้นเรื่องราว “คำสารภาพของโธมัส” จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สนับสนุนหลักข้อเชื่อตรีเอกานุภาพที่ชัดเจนและเรียบง่าย หวังว่าพี่น้องคงได้ประโยชน์นะครับ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ไปเยี่ยมเยียนน้องคนหนึ่งที่เวอร์จิเนีย โดยน้องได้เล่าถึงคำถามของกับมุสลิมว่า “พระเจ้าที่ยิ่งใหญ่ ย่อมไม่สามารถสำแดงตัวเองเป็นมนุษย์แน่ ๆ” ผมก็ตอบไปแบบเรียบง่ายว่า หากพระเจ้ายิ่งใหญ่จริง ๆ อย่าว่าแต่สำแดงเป็นมนุษย์เลย พระเจ้าย่อมสำแดงเป็นสัตว์หรือสิ่งของ อะไรก็ได้ทั้งนั้น ทำไมเราจึงไปจำกัดว่าพระเจ้าทำไม่ได้ล่ะ

สำหรับผู้อ่านท่านใด้ที่ยังไม่ได้อ่านบทความตอนที่ 3 สามารถคลิกรูป หรือ ลิงก์ด้านล่างนี้ เพื่ออ่านได้

ตรีเอกานุภาพ ตอนที่ 3 – การสนทนาเบื้องต้นเรื่องตรีเอกานุภาพ (𝐓𝐫𝐢𝐧𝐢𝐭𝐲 𝐏𝐚𝐫𝐭 𝟑 – 𝐑𝐢𝐠𝐡𝐭 𝐚𝐭 𝐒𝐭𝐚𝐫𝐭)

บทความโดย : ดร.อาณัติ เป้าทอง
Graphics by : Rainnie Design

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง