เราทุกคนย่อมเคยรู้สึกเจ็บช้ำใจอย่างแสนสาหัส ไม่ว่าจากการทรยศของคู่ครอง คำนินทาจากเพื่อน การตัดสินอย่างเกลียดชังจากคนในโบสถ์ การให้ร้ายจากเพื่อนร่วมงาน ความลำเอียงจากเจ้านายหรือพ่อแม่…
ยิ่งเรารู้สึกเจ็บลึกมากเท่าไรก็ยิ่งให้อภัยยากเท่านั้น จนบางครั้งก็ไม่อยากให้อภัยเลยด้วยซ้ำ เราสั่งสมความชังไว้จนเป็นความเกลียดเข้ากระดูกดำ แล้วก็หล่อเลี้ยงความรู้สึกไม่พอใจนี้ไว้ตลอด ท้ายที่สุดเรากลายเป็นนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ในความเจ็บปวดซึ่งคอยทำร้ายสมองเราเอง
มันเป็นธรรมชาติที่จะรู้สึกเจ็บปวดเวลามีใครทำให้เราเจ็บช้ำใจ พระเจ้าสร้างสมองมาเพื่อให้เราเอาตัวรอดจากความรู้สึกถูกคุมคาม โดยจะตอบสนองด้วยกลไกที่เรียกว่า “สู้-หนี-หยุดชะงัก” (fight-flight-freeze) เจ้ากลไกนี้ถูกควบคุมโดยสมองส่วนที่เรียกว่า “อะมิกดาเล” (amygdalae) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเม็ดอัลมอนด์เล็กๆ 2 เม็ด
เมื่อสมองส่วนอะมิกดาเลถูกกระตุ้น สารเคมีต่างๆ จะถูกหลั่งออกมา ต่อมหมวกไต (adrenal gland) ซึ่งอยู่เหนือไตก็จะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียด ชื่อ “คอร์ติซอล” (cortisol) ออกมาในร่างกาย ส่วนสมองจะหลั่งสารสื่อประสาทออกมาในสมอง กระบวนการเหล่านี้จะไปกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) ส่งผลให้เราโฟกัสในการหาทางเอาตัวรอด เราไม่รู้สึกหิว ม่านตาเปิดกว้าง ต่อมน้ำลายทำงานช้าลง ความดันโลหิตและอัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อพร้อมเคลื่อนไหว ทำให้ร่างกายเราเตรียมพร้อมเพื่อที่จะ สู้-หนี-หยุดชะงัก
กระบวนการเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ทั้งในกรณีที่ตัวเราตกอยู่ในอันตรายจริงๆ หรือมีใครทำให้เราเจ็บช้ำ หรือแม้เพียงแค่เข้าใจไปว่ามีคนพยายามทำให้เราเจ็บใจ
การไม่ยอมให้อภัย จึงทำให้ร่างกายและสมองเราตกอยู่ในภาวะตื่นตัวตลอดเวลาและไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ
การครุ่นคิด: การปล่อยตัวเองให้ครุ่นคิดและคอยรื้อฟื้นความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น มันไปกระตุ้นอารมณ์ด้านลบและทำให้เหตุการณ์ความเจ็บปวดนั้นฝังลึกลงในระบบประสาท ทำให้เราไม่สามารถจดจ่อกับเรื่องต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้า เพราะตัวตนข้างในเราตั้งโปรแกรมพร้อมจะรื้อฟื้นความทรงจำที่เจ็บปวดอยู่ตลอด
ความทรงจำเสื่อมลง: เมื่อเราสะสมความเครียดเป็นเวลานาน (เช่น ปฎิเสธที่จะให้อภัย) ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะทำให้สมองส่วนศูนย์ความทรงจำที่เรียกว่า “ฮิปโปแคมปัส” (hippocampus) ฝ่อลง
เล่นใหญ่กับอารมณ์ด้านลบ: การปล่อยให้ความเครียดผูกติดกับชีวิตไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้สมองส่วนอะมิกดาเลทำงานไวขึ้น ส่งผลให้เราไวต่อความรู้สึกเจ็บใจมากขึ้น
ความรู้สึกสะใจเมื่อคนที่ทำร้ายเราล่มจม: เมื่อเรารู้สึกสะใจเมื่อเห็นคนที่ทำร้ายเรามาเจอเรื่องไม่ดีในชีวิตบ้าง ร่างกายเราจะผลิตสารสื่อประสาทแห่งความพึงพอใจที่ชื่อว่า “โดพามีน” (dopamine) ออกมา
การที่เรารู้สึกดีเมื่อสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับคนที่เราไม่ให้อภัย เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับถ้อยคำที่พระเยซูสอนให้อธิษฐานเผื่อศัตรู ฉะนั้นเมื่อเราไม่ให้อภัยใครก็ตาม มันไม่เพียงเป็นโซ่ที่ล่ามเราไว้กับคนที่เราผูกใจเจ็บ มันยังส่งผลกระทบอย่างคาดไม่ถึงต่อร่างกายและจิตใจเราด้วย
————————
แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้อภัยได้ล่ะ? มีมุมมองที่จะช่วยให้คุณยกโทษให้อภัยคนที่สร้างบาดแผลให้กับคุณ
- เริ่มต้นยอมรับความรู้สึกเจ็บช้ำที่เกิดขึ้น: เมื่อเรายอมรับว่าเรารู้สึกเจ็บช้ำใจ (แค่ยอมรับ อย่าไปคิดรื้อฟื้นมัน) อารมณ์เชิงลบก็จะรุนแรงน้อยลง
- จดบันทึก: ไตร่ตรองความรู้สึกเจ็บช้ำนี้ผ่านการเขียน ซึ่งจะทำให้ความเจ็บช้ำลดลงและมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่ระวังอย่าให้การจดบันทึกกลายเป็นการรื้อฟื้นความทรงจำที่ไม่ดีแทน ในระหว่างที่เขียนควรขอพระเจ้าให้ทรงรักษาใจเราและให้มุมมองที่ดีของพระองค์กับเรา
- เริ่มที่จะให้อภัยกับคนๆ นั้น: เห็นไหมว่าผมใช้คำว่า “เริ่ม” การกระทำบางอย่างมันง่ายที่จะให้อภัย บางอย่างมันต้องใช้เวลานานที่จะให้อภัยได้อย่างหมดใจ ความเจ็บช้ำใจยิ่งหยั่งรากลึกยิ่งต้องใช้เวลานานเพื่อให้อภัย
การให้อภัยอย่างแท้จริงไม่ใช่เรื่อง “การลืม” ความเจ็บปวดที่เกิดนั้นให้มากขึ้น แต่คือ “การจดจำ” สิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวดให้น้อยลงเรื่อยๆ ต่างหาก
- พึ่งพาพระคุณพระเจ้าอย่างสุดใจ: ความเชื่อคริสเตียนอยู่บนพื้นฐานของพระคุณ เราได้รับพระคุณจากพระเจ้าเราก็ควรทำอย่างเดียวกันแก่คนที่ทำให้เราเจ็บช้ำใจเหมือนที่อัครทูตเปาโลเตือนใจเราว่า จงยกโทษให้กันเหมือนที่พระเยซูทรงยกโทษให้คุณ
“…และถ้าใครมีเรื่องราวต่อกัน ก็จงให้อภัยกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยพวกท่านอย่างไร ท่านก็จงทำอย่างนั้นด้วย” (โคโลสี 3:13)
มีข้อคิดใดบ้างที่คุณอยากเอาไปใช้เพื่อให้อภัยผู้อื่น?
บทความ: What Unforgiveness Does to Your Brain, Charles Stone
แปล: กลมกลม
ภาพ: André François McKenzie on Unsplash
ออกแบบ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น