บทความ

ศอกตบแล้วจบมั้ย?

ศอกตบแล้วจบมั้ย | Christlike คริสเตียน

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (13 และ 30 มีนาคม 2022) มีข่าว 2 ข่าวที่ทำให้คนทั่วโลกต้องตะลึงและรู้สึกสะเทือนใจกับพฤติกรรมของบุคคลในข่าว

ข่าวแรกคือการที่นักฟุตบอลไทยฟันศอกใส่คู่แข่งขันเนื่องจากถูกคู่แข่งขันเตะขาด้านหลังขณะที่ตนวิ่งไปเก็บลูกฟุตบอลที่กลิ้งออกไปข้างสนาม ผลที่มาก็คือเขาถูกปลดออกจากการเป็นนักกีฬาของสโมสร และเป็นที่คาดเดาไม่ยากว่าคงไม่มีสโมสรใดรับจะเขาเข้าเป็นนักกีฬาของสโมสรในช่วงเวลาเช่นนี้ ทำให้มีโอกาสสูงมากที่เขาจะหมดอนาคตด้านการเป็นนักกีฬาอาชีพ

ข่าวที่สองคือข่าวที่นักแสดงชื่อดังชาวอเมริกันเดินขึ้นไปตบหน้าเพื่อนนักแสดงอีกคนหนึ่งบนเวทีประกาศผลรางวัลออสก้าร์ เนื่องจากเพื่อนนักแสดงคนดังกล่าวเล่นมุกตลกล้อเลียนทรงผมของภรรยาของเขาซึ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพของเธอ

คลิปวีดีโอของทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นคลิปไวรัล (viral) ที่แพร่กระจายไปตามสื่อออนไลน์อย่างรวดเร็วจนคนทั่วโลกรับรู้เหตุการณ์ภายในไม่กี่นาทีหลังจากเกิดเหตุ เหตุการณ์ในลักษณะนี้มักจะทำให้คนทั่วโลกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือกลุ่มที่เห็นว่าผู้ใช้อารมณ์นั้นทำถูกต้องเนื่องจากเป็นการปกป้องตนเอง ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าพฤติกรรมของทั้งนักกีฬาและนักแสดงทั้งสองนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ไม่ว่าจะกระทำด้วยเหตุผลใดก็ตามเพราะความรุนแรงไม่เคยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง แม้ว่าบุคคลในข่าวทั้งสองได้ออกมากล่าวคำขอโทษต่อผู้ที่ตนกระทำรุนแรงไปแล้ว แต่สังคมก็ยังคงถกเถียงกันต่อไปว่าทั้งสองคนนี้มีทางเลือกใดบ้างที่เหมาะสมกว่าในการที่จะจัดการกับสถานการณ์ซึ่งตนเป็นผู้ถูกกระทำก่อนเช่นนี้

พระคริสตธรรมคัมภีร์ได้ให้แนวทางและข้อคิดกับเราไว้มากมายเกี่ยวกับสาเหตุและผลกระทบต่างๆ ของความฉุนเฉียวและความผิดพลาดในการจัดการกับอารมณ์โกรธ ซึ่งเป็นแนวทางที่สมเหตุสมผลไม่ฝืนต่อธรรมชาติของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและมีความเป็นธรรม

ความโกรธที่ไม่ชอบธรรมและความโกรธที่ชอบธรรม

“พี่น้องที่รักของข้าพเจ้า จงเข้าใจในเรื่องนี้ คือให้ทุกคนไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ เพราะว่าความโกรธของมนุษย์ไม่ก่อให้เกิดความชอบธรรมของพระเจ้า” (ยากอบ 1:19-20 THSV)

พระธรรมยากอบให้ข้อมูลกับเราว่าความโกรธนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1) ความโกรธที่ไม่ก่อให้เกิดความชอบธรรมของพระเจ้า (ความโกรธแบบมุนษย์)

2) ความโกรธที่ทำให้เกิดความชอบธรรมของพระเจ้า

พระธรรมยากอบ 1:19-20 นี้ทำให้เราต้องตีความต่อไปว่าความโกรธในลักษณะที่ทำให้เกิดความชอบธรรมของพระเจ้ามีลักษณะอย่างไร? และคงจะไม่มีใครสำแดงความโกรธที่ชอบธรรมนี้ได้ดีไปกว่าองค์พระเยซูคริสต์เอง
เมื่อเราศึกษาชีวิตของพระเยซูคริสต์เราก็พบว่าพระองค์ทรงสำแดงความไม่พอพระทัยออกมาในหลายๆ เหตุการณ์ แต่ในบทความนี้เราจะเลือกเหตุการณ์ที่มีประเด็นของความโกรธที่ชอบธรรมมา 3 เหตุการณ์เพื่อช่วยอธิบายพระธรรมยากอบ 1:20 ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์ได้แก่

1) เมื่อพระองค์ทรงรักษาคนมือลีบในธรรมศาลา (มาระโก 3:4-5)
4แล้วพระองค์ตรัสกับคนทั้งหลายว่า “ในวันสะบาโตควรจะทำการดีหรือทำการร้าย ควรจะช่วยชีวิตหรือทำลายชีวิต?” คนทั้งหลายก็นิ่งอยู่ 5พระองค์ทอดพระเนตรดูรอบๆ ด้วยพระพิโรธและเสียพระทัย ที่จิตใจของพวกเขากระด้าง แล้วพระองค์ตรัสกับชายคนนั้นว่า “จงเหยียดมือออกเถิด” เขาก็เหยียดออก และมือของเขาก็หายเป็นปกติ

2) เมื่อสาวกไม่ยอมให้เด็กเล็กๆ เข้ามาพบพระองค์ (มาระโก 10:13-14)
13ขณะนั้นมีบางคนพาเด็กเล็กๆ มาหาพระองค์เพื่อจะให้พระองค์สัมผัสตัวเด็กเหล่านั้น แต่พวกสาวกห้ามไว้ 14เมื่อพระเยซูทอดพระเนตรเห็นอย่างนั้นก็ไม่พอพระทัย ตรัสกับพวกสาวกว่า “จงยอมให้เด็กเล็กๆ เข้ามาหาเรา อย่าห้ามเขาเลย เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของคนอย่างพวกเขา”

3) เมื่อทรงชำระพระวิหาร (ยอห์น 2:15-17)
15พระองค์ทรงเอาเชือกทำเป็นแส้ไล่คนเหล่านั้นพร้อมกับแกะและวัวออกไปจากบริเวณพระวิหาร และพระองค์ทรงเทเงินและทรงคว่ำโต๊ะของบรรดาคนรับแลกเงิน 16และพระองค์ตรัสกับพวกคนขายนกพิราบว่า “เอาของพวกนี้ออกไป อย่าทำให้พระนิเวศของพระบิดาเรากลายเป็นตลาด” 17พวกสาวกของพระองค์ก็ระลึกขึ้นได้ถึงคำที่เขียนไว้ว่า “ความร้อนใจในเรื่องพระนิเวศของพระองค์จะท่วมท้นข้าพระองค์”

ในเหตุการณ์ที่ 1

พระเยซูคริสต์ทรงมีพระพิโรธเนื่องจากคนที่กำลังป่วยและตกทุกข์ได้ยากนี้กำลังถูกริดรอนโอกาสในการหายป่วยเพียงเพราะผู้นำในสังคมต้องการรักษากฎระเบียบที่พวกพ้องของตนเองตั้งขึ้นเองซึ่งไม่ใช่เจตนาที่แท้จริงของธรรมบัญญัติเรื่องวันสะบาโต พระเยซูคริสต์จึงไม่ทรงพอพระทัยที่คนในสังคมไม่เห็นคุณค่าของคนที่กำลังมีความทุกข์และความจำเป็นในเวลานั้น คนป่วยคนนี้กำลังได้รับความไม่เป็นธรรม

ในเหตุการณ์ที่ 2

พระเยซูคริสต์ทรงมีพระพิโรธเนื่องจากเด็กและเยาวชนกำลังถูกริดรอนโอกาสในการเข้าเฝ้าและรับพระพรจากพระองค์เพียงเพราะผู้ใหญ่บางคนมองข้ามความสำคัญของพวกเขาด้วยเหตุผลบางประการ (การที่พระคัมภีร์ไม่ได้ระบุเหตุผลของพวกสาวกเอาไว้ก็อาจจะเป็นเพราะว่าเหตุผลอะไรก็ไม่สำคัญพอที่จะกีดกันเด็กๆ จากการเข้ามาเฝ้าพระองค์) เด็กๆ เหล่านี้กำลังได้รับความไม่เป็นธรรม

ในเหตุการณ์ที่ 3

พระเยซูคริสต์ทรงมีพระพิโรธเนื่องจากสถานที่ซึ่งถูกกำหนดไว้ให้เป็นสถานนมัสการได้ถูกนำไปใช้เพื่อหาประโยชน์ส่วนตัวโดยพวกผู้นำทางศาสนาในเวลานั้น สาธารณชนจำนวนหนึ่งซึ่งมีสิทธิในการใช้บริเวณพระวิหารเพื่อการนมัสการนั้นกลับถูกริดรอนสิทธิอันชอบธรรมของพวกเขาในการเข้าเฝ้าพระเจ้า พระเยซูคริสต์จึงทรงเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมนี้คืนมาสู่ผู้คนซึ่งสมควรได้สิทธิของเขา ผู้ที่ต้องการมานมัสการพระเจ้าที่พระวิหารกำลังได้รับความไม่เป็นธรรม

จากเรื่องราวใน 3 เหตุการณ์ด้านบนเราจึงสรุปได้ว่าพระเยซูคริสต์มิได้มีพระพิโรธอันเนื่องมาจากการปกป้องผลประโยชน์ของพระองค์เองแต่อย่างใดเลย แต่ทรงไม่พอพระทัยเมื่อมีคนในสังคมไม่ได้รับความเป็นธรรมซึ่งพวกเขาควรจะได้รับโดยเฉพาะคนที่ขาดโอกาสหรืออ่อนแอกว่าคนอื่นๆ ในสังคม นี่คือความโกรธที่ชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้า จะสังเกตได้ว่าพระองค์ไม่ได้มีพระพิโรธหรือตอบโต้ด้วยความรุนแรงในเวลาที่ผู้นำศาสนากระทำหยาบช้าอย่างไม่เป็นธรรมต่อพระองค์ “…พระองค์ไม่ได้ทรงกล่าวตอบเขาด้วยคำหยาบคายเลย เมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ พระองค์ไม่ได้ทรงขู่อาฆาต แต่ทรงมอบพระองค์เองไว้แก่พระเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม” (1 เปโตร 2:23) พระองค์ทรงมีพระพิโรธเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่นเท่านั้น ไม่ทรงพิโรธเพื่อประโยชน์ของพระองค์เองแต่อย่างใด นี่คือความโกรธที่ชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้า

ส่วนความโกรธของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความโกรธแบบที่ทำให้เกิดความชอบธรรมของพระเจ้า ความโกรธของมนุษย์เป็นความโกรธอันเนื่องมาจากความปรารถนาในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เป็นความต้องการทำร้าย ทำลาย หรือเอาชนะผู้อื่นเพื่อให้ตนเองรู้สึกสบายใจหรือได้ชำระแค้น ความโกรธแบบมนุษย์นี้มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งจบยากขึ้นและมีโอกาสที่จะนำไปสู่ความรุนแรงและสงครามในที่สุด (ยากอบ 4:1-2)

เรื่องของนักฟุตบอลที่สับศอกใส่คู่แข่งขันนั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นความโกรธแบบมนุษย์ที่ต้องการจะแก้แค้นด้วยการทำให้คนที่กลั่นแกล้งตนนั้นได้รับความเจ็บปวด แต่เรื่องของนักแสดงที่ตบหน้าเพื่อนนักแสดงด้วยกันนั้นดูเหมือนจะเป็นการโกรธที่ชอบธรรม เพราะเป็นความโกรธเพื่อจะปกป้องคนในครอบครัวของตนจากการกลั่นแกล้งรังแกด้วยถ้อยคำ (verbal bullying) ไม่ใช่ความโกรธเพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยตรง อย่างไรก็ตามนักแสดงท่านนี้ผิดพลาดในการเลือกวิธีการแก้ไขปัญหา คือใช้ความรุนแรงทางกายภาพในการตอบโต้ความรุนแรงด้านวาจา เขามีทางเลือกที่น่าจะเหมาะสมกว่านั้นหลายทาง เช่น เดินขึ้นไปบนเวทีแล้วขอให้เพื่อนนักแสดงคนนั้นกล่าวคำขอโทษคนในครอบครัวของเขา และชี้แจงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับภรรยาของเขานั้นเป็นเหตุผลด้านสุขภาพไม่ใช่เรื่องของแฟชั่น หรือวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความรุนแรง

อารมณ์ “ชั่ววูบ” นั้นมักจะทำให้เราทำ “ชั่ว” ใน “วูบ” ของอารมณ์หนึ่ง ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะขอกำลังจากพระเจ้าในการฝึกฝนจิตใจและเสริมสร้างชีวิตฝ่ายวิญญาณให้สามารถรับมือกับอารมณ์เช่นนี้ พระคัมภีร์สอนเราต่อไปว่า “จะโกรธก็โกรธได้ แต่อย่าทำบาป” อย่าให้ถึงตะวันตกแล้วยังโกรธอยู่ อย่าให้โอกาสแก่มาร (เอเฟซัส 4:26-27) ความโกรธนั้นเป็นดั่งไฟ ไฟมีทั้งประโยชน์และโทษ ไฟจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อไฟอยู่ภายใต้การควบคุมที่เหมาะสมเท่านั้น หากไฟอยู่นอกเหนือการควบคุมเมื่อไหร่มันก็มีโอกาสจะเผาทำลายสิ่งที่เรารักและสร้างความเสียหายแบบประเมินค่ามิได้ และบางครั้งความเสียหายนั้นก็อาจจะถึงชีวิตได้ และถึงแม้ไฟจะมีประโยชน์แต่การปล่อยให้ไฟลุกไหม้ต่อไปในช่วงเวลาที่ไม่มีความจำเป็น ไฟก็อาจจะสร้างความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุได้ เช่น เตาแก๊สมีประโยชน์ก็จริง แต่ถ้าทำอาหารเสร็จแล้วยังปล่อยให้ไฟติดอยู่บนเตา ก็อาจจะเกิดเหตุร้ายได้เนื่องจากไฟนี้ได้ ซึ่งนี่เป็นสาเหตุที่พระคัมภีร์กำชับว่า “อย่าให้ตะวันตกแล้วท่านยังโกรธอยู่” ซึ่งหมายความว่าแม้คุณจะโกรธด้วยเหตุผลที่ถูกต้องและตอบสนองด้วยวิธีการที่เหมาะสมแล้ว แต่คุณก็ไม่ควรโกรธนานเกินความจำเป็น

จากพระธรรมเอเฟซัส 4:26 เราอาจจะสรุปได้เป็นหลักการ 2 ดี (2Ds) ดังต่อไปนี้คือ
Decision -> อย่าเลือกทำ WRONG things
Duration -> อย่าปล่อยให้ความโกรธอยู่ LONG time

ขอพระเจ้าประทานสติปัญญาให้เราใช้ความโกรธอย่างเหมาะสมและเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้อ่อนแอหรือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม และขอทรงปกป้องเราจะการแสดงความโกรธแบบมนุษย์ซึ่งเป็นความโกรธที่เห็นแก่ตัวและทำเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น อาเมน.

บทความ:  ศจ.ชาติชาย จารุวาที  บรรณาธิการบทความ Christlike
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง