มนุษย์พยายามจะเปลี่ยนสุนัขป่าที่ดุร้ายโดยเลี้ยงให้เชื่องเป็นเวลากว่าหลายร้อยปีแล้ว แต่จุดเริ่มต้นอย่างไรนั้น ยังคงเป็นปริศนาที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์น้อยเหลือเกิน
ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ใช้เวลา 6 ทศวรรษของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในไซบีเรีย ที่พยายามจะค้นหาคำตอบในการพยายามเปลี่ยนนิสัยดุร้ายอันตรายของสุนัขป่าให้กลายมาเป็นสุนัขที่เชื่องได้ โดยพวกเขาตัดสินใจเลี้ยง ‘จิ้งจอกป่า’ รุ่นแล้วรุ่นเล่า จนสุนัขจิ้งจอกกลุ่มล่าสุดมีพฤติกรรมดุจหมาเชื่องๆ และมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างเห็นได้ชัดเจน
Lyudmila Trut นักพันธุศาสตร์สูงอายุชาวรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพันธุกรรมและวิวัฒนาการจากสถาบัน Cytology and Genetics ในไซบีเรีย ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จตราบเท่าที่เธอยังมีลมหายใจ
การตัดสินใจเลี้ยงสุนัขจิ้งจอกกลุ่มหนึ่งให้เชื่อง โดยใช้เวลากว่า 6 ทศวรรษ เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์สุนัขป่ารุ่นแล้วรุ่นเล่า จึงถือเป็นครั้งแรกที่วิทยาศาสตร์ได้ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของสัตว์กลุ่มสุนัข โดยเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในอายุขัยของพวกเรา
มนุษย์เราสามารถเรียนรู้วิธีการที่จะทำให้สัตว์ป่าเชื่องได้ ด้วยวิธีการและขั้นตอนที่ซับซ้อน แต่ไม่ยากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นหมูจิ๋วเวียดนามหรือหมาป่าไซบีเรีย หลายคนสนุกกับการสอนลิงให้ “แสดง” ในหนังโฆษณา หรือฝึกกวางให้กินอาหารจากมือ การฝึกฝนช้าง ตั้งแต่เล็กๆ ให้ทำตามที่เราต้องการ
เช่นเดียวกับที่อัครทูตยากอบเขียนไว้ว่า
“เพราะสัตว์เดียรัจฉานทุกชนิด ทั้งนก สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ในทะเลก็เลี้ยงให้เชื่องได้ และมนุษย์ก็ได้เลี้ยงให้เชื่องแล้ว” (ยากอบ 3:7)
แต่…ท่านยากอบกลับชี้ว่า มีสิ่งเล็กๆ หนึ่งอย่างที่ยากจะทำให้เชื่องได้อยู่มือได้ นั่นคือ ลิ้น
“แต่ลิ้นนั้นไม่มีมนุษย์คนใดสามารถทำให้เชื่องได้” (ยากอบ 3:8)
เราพบปัญหากับการควบคุมอวัยวะเล็กๆ ที่เรียกว่าลิ้น ปัญหาหลายอย่างในชีวตจึงมักเกิดจากการไม่ระมัดระวังคำพูด บางคนตัดสินใจฆ่าตัวตายเพียงเพราะคนบางคนพูดไม่ถูกหู บางคนชีวิตตกอับเพราะพูดโดยไม่ยั้งคิด
เพราะเหตุใด ถึงแม้คำพูดจะออกมาจากปลายลิ้น แต่กลับเริ่มต้นมาจากส่วนลึกภายในเรา
“ด้วยว่าปากนั้น พูดจากสิ่งที่มาจากใจ” (มัทธิว 12:34)
ด้วยเหตุนี้ลิ้นจึงถูกนำไปใช้ทั้งในทางดีและไม่ดี (ยากอบ 3:9) หรือตามที่ ปีเตอร์ เดวิดส์ นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ในแง่หนึ่ง [ลิ้น] ก็เคร่งศาสนาได้อย่างที่สุด แต่ในอีกแง่หนึ่ง ลิ้นก็หมิ่นศาสนาได้ร้ายแรงที่สุดเช่นกัน”
กษัตริย์ซาโลมอน ผู้เขียนพระธรรมสุภาษิตเกือบทั้งหมดได้เขียนเกี่ยวกับอำนาจของคำพูดบ่อยครั้ง ท่านกล่าวว่า “ความตายความเป็นอยู่ที่อำนาจของลิ้น”(สุภาษิต 18:21) คำพูดทำให้เกิดผลดีหรือผลร้ายก็ได้ (สุภาษิต 18:20) มีอำนาจเสริมสร้างชีวิตผ่านการหนุนใจและความซื่อตรง หรือฆ่าและทำลายด้วยคำโกหกและนินทา
เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะมีคำพูดที่ก่อให้เกิดผลดี มีทางเดียวคือ เราต้องหมั่นรักษาจิตใจ “จงรักษาใจของเจ้าด้วยความระวังระไวรอบด้านเพราะชีวิตเริ่มต้นออกมาจากใจ” (สุภาษิต 4:23)
ถ้าเราไม่สามารถทำลิ้นให้เชื่องได้ ลิ้นจะกลายเป็นปัญหาประจำวันของเรา คอยแต่จะพูดสิ่งที่ไม่ดีอย่างนั้นหรือ (ยากอบ 3:10) ด้วยพระคุณของพระเจ้าจะไม่เป็นเช่นนั้น เราไม่ต้องจัดการกับมันตามลำพัง
พระเจ้าจะทรง “ตั้งยาม” เฝ้าปากของเรา พระองค์จะทรง “รักษาประตูริมฝีปากของข้าพระองค์” (สดุดี 141:3) พระองค์ทรงทำลิ้นที่ไม่เชื่องให้เชื่องได้
ดังนั้นเราจะสามารถคุมลิ้นได้ เมื่อเราเปิดทางให้พระคริสต์ทรงครอบครองจิตใจเรา เพราะ “ด้วยว่าปากนั้น พูดจากสิ่งที่มาจากใจ” (มัทธิว 12:34)
แหล่งอ้างอิง: มานาประจำวัน / The Matter / สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน / Domesticated Silver Fox / The Evolution Institute
เรียบเรียง: พร้อมมิตร
ภาพ และตกแต่ง: พร้อมมิตร
ผู้สนับสนุนบทความ: เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น