“ไม้เรียวและคำตักเตือนให้ปัญญา” — สภษ. 29:15
ผมเองก็ประสบปัญหานี้เหมือนกันครับ
ครั้งหนึ่งผมทะเลาะกับแฟน เพราะนางมาสาย 30 นาที แล้วตอนที่มาถึง แทนที่นางจะทำหน้าสำนึกผิด พูดขอโทษ… ไม่ใช่เลยครับ! นางมาด้วยใบหน้ายิ้มแฉ่ง ราวกับว่าไม่ได้ทำอะไรผิด
ด้วยความที่ผมเป็นคนตรงต่อเวลา จึงทำให้ผมหงุดหงิดสุดๆ ทำหน้าเบี้ยว และต่อว่าแฟนอย่างรุนแรง
ผมก็นึกไปว่า ไอ้สิ่งที่ผมตักเตือนไปจะช่วยทำให้นางปรับปรุงตัว → เป็นคนตรงต่อเวลา
ปรากฎว่า เกมพลิก….
เพราะนอกจากแฟนผมจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมพูดแล้ว นางยังพลิกข้างกลับเป็นฝ่ายโกรธ เพราะไม่เข้าใจว่าเรื่องแค่นี้ทำไมต้องโกรธกันด้วย
อย่างที่ทุกคนพอเดาได้ เย็นวันนั้นผมต้องเป็นคนขอโทษ #ตึ่งโป๊ะ
ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นกับทุกคนครับ แล้วก็เกิดขึ้นมานานแล้วด้วย จนในที่สุด ปี 1971 Marshall B. Rosenberg ก็คิดค้นวิธีการแก้ปัญหานี้ และเขียนหนังสือชื่อ Nonviolence Communication (NVC) ออกมาเพื่อช่วยให้คนทั้งโลกสื่อสาร-feedback กันอย่างมีประสิทธิภาพ
ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และพบว่า มันเปลี่ยนวิธีในการให้ feedback ของผมไปอย่างสิ้นเชิง จึงอยากจะมาแชร์ต่อให้หลายๆ คนได้อ่านกัน
ผมขอสรุปเป็น 3 ขั้นตอนง่ายๆ ตามนี้
1. ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
พูดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น (Observation) ไม่ใช่ความคิดเห็นของคุณ (Evaluation)
เช่น Observation = เธอมาสายจากเวลาที่เรานัดกัน 30 นาที และไม่ได้พูดขอโทษ
Evaluation = เธอชอบมาสายอยู่เรื่อย
เมื่อคุณพูดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างเดียว มันจะช่วยป้องกันไม่ให้คุณมีอคติ และอีกฝ่ายก็มีแนวโน้มจะรับฟังมากขึ้นครับ
2. รู้สึกยังไง
หาให้เจอว่าจริงๆ แล้วคุณรู้สึกยังไงกับเรื่องที่เกิดขึ้น
แล้วคุณก็เล่าให้อีกฝ่ายฟัง ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันทำให้คุณรู้สึกแบบนั้นได้อย่างไร?
เช่นการที่เธอมาสาย 30 นาที และไม่คิดจะขอโทษ นั่นทำให้เราคิดไปว่า เธอไม่เห็นความสำคัญของเวลาเรา ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดสุดๆ
การใช้ความรู้สึกในการสื่อสารจะทำให้อีกฝ่ายรับฟังมากขึ้นครับ เพราะมันจะดูอ่อนโยนและเป็นความจริงเสมอโดยไม่ต้องเถียงในหลักการ
3. คำขอที่ชัดเจน
ระบุให้ชัดๆ กันไปเลยว่าคุณอยากให้เขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเรา
โดยพยายามพูดเชิงบวก ว่าอยากให้เขาทำอะไร “เพิ่ม” ไม่ใช่สั่งให้เขา “หยุด”
เช่น ครั้งหน้าถ้ามาสายก็ช่วยทำหน้าสำนึกผิดและพูดขอโทษได้ไหม? นั่นจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นเยอะ
แต่ก็เป็นไปได้ว่าคำขอของคุณอาจจะยากเกินไปสำหรับเขา ในกรณีนี้ต้องคุยกันดีๆ หาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายพอใจ
ผมใช้ 3 ขั้นตอนนี้แล้ว เวิร์คมากเลยครับ!!!!
ตั้งแต่นั้นมาผมเตือนคนใกล้ตัวด้วย Nonviolence Communication ทีไร พวกเขาก็รับฟังตลอด มันทำให้การเตือนของเราเป็นเชิงบวกมากๆ
แล้วก็… อย่าเพิ่งรีบเตือนตอนที่ยังโกรธอยู่นะครับ ไม่อย่างงั้นเราจะเต็มไปด้วยอคติ เมื่อเราใจเย็นแล้ว เราก็มีแนวโน้มจะเตือนด้วยการพูดความจริงด้วยใจรัก (อฟ. 4:15) ได้มากกว่าครับ
ลองดูครับ!
ปล. อันที่จริงแล้ว NVC มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ใครที่สนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติม คลิกที่นี่
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น