บทความ

พระเยซูถูกตรึงกางเขนวันไหน?

เทศกาลอีสเตอร์ เป็นโอกาสที่คริสเตียนจะได้ขอบพระคุณความรักของพระเจ้าที่ส่งพระบุตรมาตายไถ่บาปที่กางเขน โดยในสัปดาห์นั้นจะมีพิธีต่างๆ มากมาย เช่น Palm Sunday, Ash Wednesday, Good Friday และ Easter

อย่างไรก็ตาม มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอีสเตอร์ว่า อะไรคือปัจจัยทำให้นักวิชาการคริสเตียนรู้ว่าพระเยซูถูกตรึงกางเขนในวันศุกร์ และอะไรเป็นเบาะแสชี้ไปที่เดือนเมษายน บทความนี้ผมขอเสนอเบาะแส 7 ประการที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

เบาะแสที่ 1 – มหาปุโรหิตคายาฟาส

พระกิตติคุณระบุว่า พระเยซูถูกตรึงในสมัยของมหาปุโรหิตที่ชื่อ “คายาฟาส” (มัทธิว 26:3-4, ยอห์น 11:49-53) โดยหลักฐานภายนอก (หมายถึงหลักฐานที่ไม่ได้อยู่ในไบเบิ้ล) บันทึกว่า เขาดำรงตำแหน่งมหาปุโรหิตในช่วง คศ. 18 ถึง 36

เบาะแสที่ 2 – พอนทิอัส ปิลาต

พระกิตติคุณทั้ง 4 เล่ม ระบุว่าพระเยซูถูกตรึงโดยคำสั่งของผู้ปกครองที่ชื่อ “ปิลาต” (มัทธิว 27:24-26, มาระโก 15:15, ลูกา 23:24, ยอห์น 19:15-16) โดยหลักฐานภายนอก บันทึกว่า เขาเป็นผู้ปกครองในแคว้นยูเดีย ในช่วง คศ. 26 ถึง 36

เบาะแสที่ 3 – ทิเบริอัส

พระกิตติคุณลูกา ระบุว่ายอห์นได้เริ่มพันธกิจในช่วงปีที่ 15 ของรัชสมัยของซีซาร์ทิเบริอัส (ลูกา 3:1-2) โดยหลักฐานภายนอก บันทึกว่า เขาเป็นซีซาร์ในช่วง คศ. 14 ถึง 37 ซึ่งเท่ากับว่าในปีที่ 15 ที่ยอห์นเริ่มต้นจึงหมายถึง คศ. 29 นั่นเอง

และพระกิตติคุณทั้ง 4 เล่มระบุว่าพระเยซูได้เริ่มพันธกิจหลังจากการรับบัพติศมา (มัทธิว 3, มาระโก 1, ลูกา 3, ยอห์น 1) นั่นแสดงว่า พระเยซูเริ่มพันธกิจหลังจากปี คศ. 29 นั่นเอง

เบาะแสที่ 4 วันศุกร์

พระกิตติคุณทั้ง 4 เล่มระบุว่า พระศพพระเยซูได้ถูกนำไปที่อุโมงค์ใน “วันเตรียม – the day of preparation” (มัทธิว 27:62, มาระโก 15:42, ลูกา 23:54, ยอห์น 20:1) เพราะตามธรรมเนียมชาวยิว วันสะบาโต จะเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินของวันศุกร์ และไปสิ้นสุดที่ดวงอาทิตย์ตกดินในวันเสาร์ โดยที่ชาวยิวจะไม่สามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ในวันนั้น (รวมถึงการฝังศพ)

Jewish Encyclopedia เรียกวันเตรียมว่า Ereb Shabbat (The Eve of Sabbath) โดยคำว่า Ereb หมายถึง ตอนเย็น (Evening) หรือ ส่วนผสม (admixture) ดังนั้น Ereb จึงหมายถึง ตอนเย็นของวันก่อนวันสะบาโต ซึ่งใช้ในการเตรียมอาหารสำหรับวันต่อไป

ดังนั้น วันเตรียมหรือวันที่พระเยซูต้องสิ้นพระชนม์จึงต้องอยู่ในวันศุกร์ก่อนตะวันจะตกดินนั่นเอง

เบาะแสที่ 5 เทศกาลปัสกา

พระกิตติคุณทั้ง 4 เล่มระบุว่าพระเยซูถูกตรึงในช่วงเทศกาลปัสกา (มัทธิว 26:2, มาระโก 14:1, ลูกา 22:1, ยอห์น 18:39) จากเบาะแส 2 ข้อแรก เราจึงควรย้อนไปดูปฏิทินของชาวยิวด้วยกันว่าเทศกาลปัสกาในช่วงปี คศ. 29–36 เป็นวันไหนบ้าง

  • วันจันทร์ที่ 28 เมษายน คศ. 29
  • วันศุกร์ที่ 7 เมษายน คศ. 30
  • วันอังคารที่ 27 มีนาคม คศ. 31
  • วันจันทร์ที่ 14 เมษายน คศ. 32
  • วันศุกร์ที่ 3 เมษายน คศ. 33
  • วันพุธที่ 24 มีนาคม คศ. 34
  • วันอังคารที่ 12 เมษายน คศ. 35
  • วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม คศ. 36

ฉะนั้นจากเบาะแสที่ 4 วันที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดจึงเหลือเพียง 2 วัน คือ ศุกร์ที่ 7 เมษายน คศ. 30 กับ ศุกร์ที่ 3 เมษายน คศ. 33

เบาะแสที่ 6 เทศกาลปัสกาในพระธรรมยอห์น

พระกิตติคุณยอห์นได้ระบุเทศกาลปัสกาเอาไว้ 3 จุด คือ ยอห์น 2:13, 6:4 และ 11:55 นั่นแปลว่าพระเยซูทำพันธกิจอย่างน้อย 2 ปี (คริสเตียนส่วนใหญ่เชื่อว่าพระเยซูทำพัธกิจ 3 ปี ครึ่ง) ซึ่งจากเบาะแสที่ 3 ที่ระบุว่ายอห์นเริ่มพันธกิจในปี คศ. 29 จึงทำให้ตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ วันศุกร์ที่ 3 เมษายน คศ. 33

เบาะแสที่ 7 ชั่วโมงที่เก้า

พระกิตติคุณทั้ง 3 เล่มระบุว่า พระเยซูสิ้นพระชนม์ ณ ชั่วโมงที่เก้า (มัทธิว 27:45-50, มาระโก 15:34-37, ลูกา 23:44-46) ซึ่งคำว่า “ชั่วโมงที่เก้า” จะเทียบเท่ากับเวลา บ่าย 3 ของปัจจุบัน

ดังนั้นจากเบาะแสทั้ง 7 ข้อนี้ ทำให้นักวิชาการจึงระบุอย่างเจาะจงว่า พระเยซูสิ้นพระชนม์ตอน “บ่าย 3 ของวันศุกร์ที่ 3 เมษายน คศ. 33”


ในเชิงวิชาการยังมีข้อถกเถียงอีกหลายจุด เช่น ระยะเวลาการถูกฝัง หรือ วันไหนคือเทศกาลปัสกา (ในพระธรรมมัทธิว มาระโก และ ลูกา พระเยซูกินอาหารปัสกาในวันพฤหัสบดี แต่ในพระธรรมยอห์นชี้ว่าในเช้าวันศุกร์มหาปุโรหิตยังไม่ได้กินอาหารปัสกา) ซึ่งข้อถกเถียงดังกล่าวจะส่งผลต่อข้อสรุปข้างต้น

แต่อย่างไรก็ตาม “WHEN พระเยซูสิ้นพระชนม์”
แทบไม่มีความสำคัญ เมื่อเทียบกับ “WHY พระเยซูสิ้นพระชนม์”

จากบทความที่แล้ว เราทราบดีว่าพระเยซูถูกจับกุม ถูกไต่สวน และ ถูกพิพากษาแบบไม่ชอบมาพากล  แม้ว่าคำตอบของ “WHEN”  อาจจะคลุมเครือ และ เปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต แต่ คำตอบของ “WHY” นั้นชัดเจนในหัวใจของคริสเตียนทุกคน และ ถูกบันทึกอย่างชัดเจนในพระคัมภีร์ ยอห์น บทที่ 3 ข้อ 16

พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้
คือได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์
เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ
แต่มีชีวิตนิรันดร์

 

บทความ:  ดร.อาณัติ เป้าทอง
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง