บทความ

อะไรคือการบัพติศมาด้วยไฟ?

หลังจากกลับใจเป็นสาวกของพระเยซูแล้ว ผมเป็นสมาชิก ต่อมาเป็นอาสาสมัครรับใช้ และหลังจากนั้นเป็นศิษยาภิบาลของคริสตจักรจีนแห่งหนึ่งที่ฝั่งธนบุรีเป็นเวลา 12 ปีติดต่อกัน ในสมัยนั้นผู้นำในคริสตจักรจะเชิญผู้รับใช้อาวุโสหลายท่านแวะเวียนกันมาสอนพระคัมภีร์ในคืนวันอาทิตย์ ซึ่งแต่ละครั้งจะมีทั้งอนุชนและสมาชิกอื่นๆ มาร่วมเรียนด้วยความกระตือรือร้นคืนละหลายสิบคน ธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เราทำกันในยุคนั้นก็คือ การเขียนคำถามถามผู้สอนเกี่ยวกับข้อสงสัยต่างๆ  บางครั้งจะเป็นคำถามซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านสอน  แต่ในอีกหลายๆ ครั้งก็เป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง  แต่ท่านก็ยินดีตอบด้วยความเต็มใจ

จำได้ว่าในการศึกษาพระคัมภีร์คืนวันหนึ่ง  ผู้รับใช้พระเจ้าที่สอนเราในคืนนั้นสอนพระธรรมมัทธิว 3:1-12  เมื่อมาถึงตอนท้ายของการเรียน แทนที่เราจะเป็นฝ่ายถามท่าน ท่านกลับเป็นฝ่ายตั้งคำถามถามเราว่า  “มีใครบ้างในที่ประชุมนี้ที่ได้รับบัพติศมาด้วยไฟ?” ผลปรากฏว่าทุกคนนั่งเงียบกันหมด ด้วยเหตุผลง่ายๆว่า  ไม่มีใครรู้แน่ว่าบัพติศมาด้วยไฟที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาพูดถึงในพระธรรมตอนนั้นหมายถึงอะไร  หลังจากสักครู่หนึ่ง  ท่านก็กล่าวต่อว่า  “ถ้าหากคุณได้รับบัพติศมาด้วยไฟแล้วละก้อ  นี่เป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียวแหละ!!!”

จากวันนั้นมาถึงวันนี้  เวลาผ่านไปประมาณ 40 ปี  ดูเหมือนนี่ยังเป็นคำถามที่ค้างคาใจของพี่น้อง คริสเตียนหลายท่านอยู่  ในช่วง 2-3 ปีหลังนี้มีคนถามผมต่างกรรมต่างวาระหลายครั้งว่า การบัพติศมาด้วยไฟนั้นหมายถึงอะไร ดังนั้น  เพื่อช่วยท่านผู้อ่านซึ่งอาจมีข้อกังขาเดียวกันคลายความข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราจะพิจารณาด้วยกันว่า การบัพติศมาด้วยไฟ (มธ.3:11) นั้นแท้ที่จริงหมายถึงอะไรแน่

บริบทแวดล้อม

พระธรรมมัทธิว 3:1-12 บันทึกเกี่ยวกับพันธกิจของยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาในแคว้นยูเดีย ท่านประกาศให้ผู้ฟังของท่านหันกลับมามีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้าด้วยการกลับใจใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้ และองค์พระเมสสิยาห์กำลังมา พร้อมทั้งให้บัพติศมาซึ่งแสดงถึงการกลับใจใหม่ที่ริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดน

ยอห์นคงจะสร้างความแตกตื่นขึ้นในหมู่ฝูงชนทางตอนใต้ของแผ่นดินอิสราเอลในเวลานั้นไม่น้อย  เพราะถึงแม้ว่าท่านจะไม่ใช่รับบีผู้สอนศาสนาที่ใช้เหตุผล  อ้างอิงคำสอนที่ตกทอดกันมาและให้ตัวเลือกแก่ผู้ฟัง ไม่ใช่ปุโรหิตที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ หรือธรรมาจารย์ที่กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ผู้ฟังกระทำตาม  แต่ก็มีฝูงชนมากมายพากันมาหาท่านเพื่อรับบัพติศมจากท่าน (มธ.3:5-6)

ในท่ามกลางฝูงชนที่ฟังท่านนั้นมี “พวกฟาริสีและพวกสะดูสีมากันเป็นจำนวนมาก” (มธ.3:7) ตามปกติแล้วผู้นำทางศาสนาทั้ง 2 กลุ่มนี้แม้ว่าจะเป็นสมาชิกในสภาแซนเฮดรินเหมือนกัน แต่มักจะเข้ากันไม่ค่อยได้ในหลายๆ เรื่อง  เพราะความแตกต่างทางด้านความเชื่อ อุดมคติและการปฏิบัติของพวกเขา  แต่ในพระธรรมตอนนี้พวกเขาร่วมมือกัน คงเพราะว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของสภาแซนเฮดริน ซึ่งเป็นสภาสูงทางศาสนาของชาวยิวที่ถูกส่งมายังสถานที่ที่ยอห์นกำลังให้บัพติศมาอยู่ [1]

พวกเขามาทำอะไรที่ริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดนซึ่งยอห์นกำลังให้บัพติศมาอยู่? 

ภาษากรีกของมัทธิว 3:7 มีเนื้อความที่ไม่กระจ่างนักเกี่ยวกับจุดประสงค์การมาของพวกเขา พระคัมภีร์ฉบับแปลบางฉบับถอดความว่า พวกเขามาเพื่อจะรับบัพติศมาจากยอห์น[2] ในขณะที่บางฉบับแปลใกล้เคียงภาษากรีกมากกว่าว่า พวกเขา “มายังที่ซึ่งเขา (หมายถึงยอห์น) ให้บัพติศมาอยู่”[3]

ในระหว่างความเป็นไปได้ทั้งสองนั้น อย่างหลังน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าเพราะเหตุผลหลายประการ  เช่น หากพวกเขาเป็นตัวแทนของสภาแซนเฮดรินที่ถูกส่งมา  จุดประสงค์น่าจะมาเพื่อสังเกตการณ์และตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น  ทำไมคนจำนวนมากมายจึงพากันมาหายอห์นเพื่อรับบัพติศมาจากท่าน  ทั้งๆ ที่ยอห์นเองก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาสูงนั้น

การมาตรวจสอบนี้อาจรวมไปถึงการจับผิดสิ่งที่ยอห์นกำลังทำด้วย ในกรณีอย่างนี้  มัทธิว 16:1-4 ยืนยันว่า  เมื่อ 2 กลุ่มนี้ร่วมมือกัน  พวกเขาร่วมมือกันด้วยความประสงค์ร้ายต่อผู้ที่พวกเขาประเมินว่าเป็นภัยคุกคามพวกเขา  นอกจากนั้น แม้ว่าอาจจะเป็นไปได้ที่มีผู้นำทางศาสนาบางคนที่มีความสนใจในเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าและข่าวประเสริฐ (มก.12: 28-34; 15:43-47; ยน.3:1-15) แต่ผู้นำทางศาสนาแบบนี้เป็นกรณียกเว้นและมีจำนวนที่จำกัดมาก ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่พวกเขา “จำนวนมาก” (มธ. 3:7) จะเกิดความสนใจในการประกาศของยอห์นจนพากันมาหายอห์นเพื่อรับบัพติศมาจากท่านพร้อมๆกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ลูกา 7:29-30 น่าจะเป็นพระธรรมที่ชี้ขาดในเรื่องนี้  “ทุก​คน​รวม​ทั้ง​บรรดา​คน​เก็บ​ภาษี เมื่อ​ได้​ยิน​ก็​ยอม​รับ​ว่า​พระ​เจ้า​ทรง​ยุติ​ธรรม โดย​เขา​ได้​รับ​บัพ​ติศ​มา​จาก​ยอห์น​แล้ว  แต่​พวก​ฟา​ริสี​และ​พวก​ผู้​เชี่ยว​ชาญ​บัญ​ญัติ​ไม่​ยอม​รับ​พระ​ประ​สงค์​ของ​พระ​เจ้า​ที่​มี​ต่อ​พวก​เขา โดย​เขา​ไม่​รับ​บัพ​ติศ​มา​จาก​ยอห์น”

ด้วยเหตุนี้ การมาของพวกเขาจึงน่าจะมีความประสงค์ร้ายมากกว่าดี  พวกเขาคอยจับผิดพระเยซูในเวลาต่อมาฉันใด  พวกเขาก็คงจะมาด้วยเจตนาที่ไม่ต่างกันนักในกรณีของยอห์นในมัทธิว 3 ฉันนั้น

ยอห์น กล่าวกับพวกเขาโดยตรงว่า “พวกชาติงูร้าย” ซึ่งมีความหมายว่า พวกเขามีพิษมีอันตรายมากไม่ต่างไปจากอสรพิษ อันเป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงการไม่กลับใจใหม่  พวกเขาไม่ได้มีผลที่สมกับการกลับใจใหม่ (มธ. 3:8) ด้วยเหตุนี้ ถ้อยคำของยอห์นที่ว่า “ใครเตือนพวกท่านให้หนีจากพระพิโรธที่จะมานั้น” (มธ.3:7) จึงน่าจะเป็นถ้อยคำเสียดสีเหน็บแนม (irony) [4] ซึ่งสื่อความหมายว่า “ในเมื่อพวกเจ้าไม่ได้กลับใจใหม่  พวกเจ้าจะมายังที่ที่เราให้บัพติศมาทำไมกัน?”

หลังจากกล่าวเตือนพวกเขาว่าชาติตระกูลไม่สามารถช่วยให้พ้นจากพระพิโรธของพระเจ้าแล้ว (มธ.3:8-9) ยอห์นจึงจบถ้อยคำประกาศของท่านใน 3 ข้อถัดมาด้วยการกล่าวว่า

“บัดนี้ขวานวางไว้ที่โคนต้นไม้แล้ว และทุกต้นที่ไม่เกิดผลดีจะต้องถูกตัดแล้วโยนทิ้งในกองไฟ  ข้าพเจ้าให้ท่านรับบัพติศมาด้วยน้ำแสดงว่ากลับใจใหม่ก็จริง แต่พระองค์ผู้จะมาภายหลังข้าพเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่าข้าพเจ้า  ซึ่งข้าพเจ้าไม่คู่ควรแม้แต่จะถือฉลองพระบาทของพระองค์  พระองค์จะทรงให้พวกท่านรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ  พระองค์ทรงถือพลั่วอยู่ในพระหัตถ์แล้ว  และจะทรงชำระลานข้าวของพระองค์ให้ทั่ว  พระองค์จะทรงรวบรวมเมล็ดข้าวของพระองค์ไว้ในยุ้งฉาง  แต่พระองค์จะทรงเผาแกลบด้วยไฟที่ไม่มีวันดับ” (มัทธิว 3:10-12)

ข้อสังเกตบางประการ

ก่อนที่จะพิจารณาความหมายของการ “บัพติศมาด้วยไฟ” ที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาพูดถึง  ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับพระธรรมตอนนี้ในมัทธิวบทที่ 3 และข้อพระคัมภีร์คู่ขนานที่พูดถึงเหตุการณ์เดียวกันแต่ไปปรากฏอยู่ในพระธรรมเล่มอื่นๆ ในพันธสัญญาใหม่  มีสิ่งที่น่าสังเกตหลายอย่างด้วยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้

ประการแรก เราสามารถจำแนกคนในกลุ่มผู้ฟังของยอห์นในวันนั้นได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่กลับใจใหม่ สารภาพความผิดบาป และรับบัพติศมาจากยอห์นเพื่อแสดงถึงการกลับใจใหม่ (3:5-6) และกลุ่มผู้นำทางศาสนาของคนยิวที่ไม่ได้กลับใจใหม่  แต่ก็ยังมายังที่ที่ยอห์นกำลังให้รับบัพติศมาด้วยจุดประสงค์เพื่อสังเกตการณ์และอาจจะเพื่อจับผิดสิ่งที่ยอห์นเทศนาและทำด้วย (3:7-9)

ประการที่ 2 ในคำประกาศของยอห์นใน 3:10-12 ยอห์นพูดถึงสิ่งต่างๆ เป็นคู่ ทั้งที่ระบุชัดเจนและที่บ่งบอกเป็นนัยเท่านั้น โดยส่วนหนึ่งของแต่ละคู่มีความหมายในเชิงลบ และอีกส่วนหนึ่งมีความหมายในเชิงบวก

ในข้อ 10 ท่านพูดถึงต้นไม้ที่ไม่เกิดผลดีว่าจะต้องถูกตัดแล้วโยนทิ้งในกองไฟ (เชิงลบ) ซึ่งบ่งบอกเป็นนัยว่าต้นไม้ที่ไม่ถูกตัดทิ้งก็คือต้นไม้ที่เกิดผลดี (เชิงบวก) และผลที่ว่านี้ก็คือผลที่สมกับการกลับใจใหม่ (3:8)

หลังจากนั้น ในข้อ 12 ท่านพูดถึง “เมล็ดข้าว” ซึ่งจะถูกเก็บไว้ในยุ้งฉาง (เชิงบวก) ส่วน “แกลบ” นั้นจะถูกเผาด้วยไฟ (เชิงลบ)

ประการที่ 3 ในข้อ 10-12 ยอห์นพูดถึงไฟทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน เนื้อหาทำให้เห็นชัดว่า

ไฟในข้อ 10 หมายถึงการพิพากษา (“ทุกต้นที่ไม่เกิดผลดีจะต้องถูกตัดแล้วโยนทิ้งในกองไฟ”)
และไฟในข้อ 12 ก็หมายถึงการพิพากษาเช่นกัน (“พระองค์จะทรงเผาแกลบด้วยไฟที่ไม่มีวันดับ”)

ทั้ง 2 ข้อนี้ล้อมกรอบข้อ 11 ซึ่งพูดถึงการบัพติศมาด้วยไฟ  ในเมื่อ 3 ข้อนี้อยู่ติดกันและใช้ภาพของไฟเหมือนกัน ในเนื้อหาที่เป็นคำประกาศจากคนคนเดียวกันที่กล่าวต่อฝูงชนเดียวกัน  ดังนั้น ไฟทั้งสามครั้งน่าจะมีควาหมายเหมือนกัน

ประการที่ 4 คำกรีกที่แปลว่า “ไฟ”[5] ปรากฏในมัทธิวทั้งหมด 12 ครั้ง (3:10, 11, 12; 5:22; 7:19; 13:40, 42, 50; 17:15; 18:8, 9; 25:41)

ถ้าไม่นับ 3:11 ซึ่งเป็นข้อที่เรากำลังพิจารณาอยู่ ในจำนวน 11 ครั้งที่เหลือนั้น มีถึง 10 ครั้งด้วยกันที่ไฟสื่อความหมายถึงการพิพากษา (ยกเว้น 17:15 ที่หมายถึงไฟจริงๆตามตัวอักษร) ดังนั้น ในภาพรวมของพระธรรมมัทธิว ภาพของไฟเกือบจะทั้งหมดเป็นภาพของการพิพากษา

ประการที่ 5 ถึงแม้ว่าถ้อยคำของยอห์นในข้อ 11 นั้นมีปรากฏในพันธสัญญาใหม่ทั้งหมด 6 ครั้งด้วยกัน (มธ. 3:11; มก. 1:8; ลก. 3:16-17; ยน. 1:33; กจ. 1:5; 11:16) แต่น่าสังเกตเป็นอย่างมากว่า การบัพติศมาด้วยไฟจะถูกพูดถึงในบริบทที่คำประกาศของยอห์นพูดเกี่ยวกับเรื่องการพิพากษาเท่านั้น (มธ.3:11; ลก. 3:16-17)

ในพระธรรมตอนอื่นๆ ที่เหลือนั้น เนื้อหาไม่ได้พูดถึงการพิพากษาและไม่ได้กล่าวถึงการบัพติศมาด้วยไฟด้วย  เพียงแต่พูดถึงการบัพติศมาด้วยพระวิญญาณซึ่งพระเยซูจะทรงประทานแก่ผู้ที่กลับใจใหม่และต้อนรับพระองค์เท่านั้น

บัพติศมาด้วยพระวิญญาณและบัพติศมาด้วยไฟ: อย่างเดียวกันหรือ 2 อย่างที่ต่างกัน?

ก่อนที่เราจะสามารถระบุได้ว่า  การบัพติศมาด้วยไฟหมายถึงอะไร  เราต้องตัดสินใจก่อนว่า ถ้อยคำของยอห์นที่ว่า “พระองค์จะทรงให้พวกท่านรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ” (มธ.3:11) นั้น กล่าวถึงบัพติศมาเพียงอย่างเดียวหรือ 2 อย่าง?

การบัพติศมาอย่างเดียวกัน

พี่น้องคริสเตียนบางท่านตีความว่าถ้อยคำของยอห์นนั้นเป็นโวหาร hendiadys ซึ่งเป็นโวหารที่พูดถึงสิ่งเดียวกันด้วยคำ 2 คำที่ต่างกัน [6]  ผู้ที่ไปกับในทัศนะนี้จะตีความว่าทั้งบัพติศมาด้วยพระวิญญาณและบัพติศมาด้วยไฟหมายถึงสิ่งเดียวกัน [7]  คำถามจึงเกิดขึ้นตามมาว่า สิ่งนั้นคืออะไร?

เนื่องจากข้อ 10 และ ข้อ 12 ที่ล้อมข้อ 11 อยู่พูดถึงไฟ 2 ครั้งและทั้ง 2 ครั้งล้วนแล้วแต่หมายถึงการพิพากษา (ข้อสังเกตที่ 3 ข้างต้น) ดังนั้น ถ้าบัพติศมาที่ยอห์นกล่าวถึงในข้อ 11 หมายถึงสิ่งเดียวกัน  ความหมายที่เป็นธรรมชาติที่สุดในบริบทนี้ก็ต้องหมายถึงการพิพากษาด้วย แต่ความหมายนี้จะขัดแย้งกับตอนต่างๆ ที่กล่าวถึงบัพติศมาด้วยพระวิญญาณว่าเป็นบัพติศมาสำหรับผู้เชื่อ (ดูข้อสังเกตที่ 5 ข้างต้น)

พี่น้องคริสเตียนบางท่านตระหนักถึงปัญหานี้จึงหาทางออกด้วยการตีความว่า บัพติศมาที่ยอห์นพูดถึงนั้นหมายถึงการชำระให้บริสุทธิ์ ถ้าหากนี่เป็นความหมายของยอห์น  สิ่งนี้คงจะแปลกพอประมาณเพราะนอกจากบริบทแวดล้อมในข้อ 10 และ 12 ไม่เอื้อให้กับความหมายนี้แล้ว บริบทของพระธรรมทั้งตอนในบทที่ 3 นี้ก็ไม่มีเงื่อนงำใดที่ชวนให้คิดว่าการชำระให้บริสุทธิ์ด้วยไฟเป็นความหมายของยอห์นเมื่อท่านกล่าวกับฝูงชนในวันนั้น

ยังมีพี่น้องคริสเตียนอีกบางท่านตีความว่า บัพติศมาที่ยอห์นพูดถึงนั้นหมายถึงสิ่งเดียวกันคือ การรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์  และอ้างอิงถึงปรากฏการณ์ในวันเพ็นเทคอสต์ใน กิจการ 2:1-4 ซึ่งมี “เปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้น” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จุดอ่อนของทัศนะนี้ก็คือ นอกจากบริบทในข้อ 10 และ 12 ไม่เอื้อให้กับการตีความอย่างนี้แล้ว  ยังเป็นสิ่งที่น่ากังขาอย่างมากว่า  ผู้ฟังของยอห์นในวันนั้นจะสามารถเข้าใจยอห์นได้หรือไม่ถ้าหากนี่เป็นความหมายที่ยอห์นต้องการสื่อกับพวกเขา!!!!

ดังนั้น  การตีความว่าบัพติศมาที่ยอห์นพูดถึงนั้นหมายถึงบัพติศมาเดียวกันจึงดูจะถึงทางตัน  ไม่ว่าจะโดยการพิจารณาบริบทแวดล้อมของ มธ.3:1-12 หรือบริบทกว้างของพันธสัญญาใหม่ก็ตาม เป็นสภาวะที่ขึ้นหน้าติดกุกถอยหลังติดกัก

การบัพติศมา 2 อย่างที่ต่างกัน

ในปัจจุบัน นักวิชาการพันธสัญญาใหม่จำนวนมากจึงมีความเห็นว่า  บัพติศมาทั้งสองที่ยอห์นกล่าวถึงนั้นเป็นคนละอย่างกัน  ในทัศนะนี้ การบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้น ผู้ที่กลับใจใหม่และต้อนรับพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์ พระผู้ช่วยให้รอดของเขา (มธ.1:21) เท่านั้นจึงจะรับจากพระองค์ได้  ส่วนผู้ที่ไม่ยอมกลับใจใหม่ต้อนรับพระองค์ พวกเขาจะได้รับบัพติศมาด้วยไฟซี่งก็คือการพิพากษาจากพระองค์ในวันแห่งการพิพากษานั่นเอง

รายละเอียดต่างๆ สนับสนุนทัศนะนี้เป็นอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ฟังของยอห์นที่มีทั้งคนที่กลับใจใหม่และคนที่ไม่ยอมกลับใจใหม่ (ข้อสังเกตที่ 1 ข้างต้น) ยอห์นพูดกับพวกเขาทั้งสองฝ่ายตลอดข้อ 10-12

นอกจากนั้น ภาพเปรียบเทียบในเชิงบวกและเชิงลบของต้นไม้ที่ไม่เกิดผลและต้นไม้ที่เกิดผลดี  เมล็ดข้าวที่จะถูกเก็บเข้ายุ้งฉางและแกลบที่จะถูกเผาด้วยไฟที่ไม่มีวันดับ (ข้อสังเกตที่ 2 ข้างต้น) ก็ชี้ชวนให้คิดถึงการปฏิบัติที่พวกเขาทั้งสองกลุ่มจะได้รับจากพระเยซูบนพื้นฐานของการกลับใจใหม่หรือการไม่ยอมกลับใจใหม่

ยิ่งกว่านั้น ภาพของไฟแห่งการพิพากษาในข้อ 10 และ 12 ซึ่งทำให้ความหมายของไฟในการบัพติศมาด้วยไฟในข้อ 11 น่าจะมีความหมายเดียวกัน (ข้อสังเกตที่ 3) ก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน หรือแม้กระทั่ง ความหมายโดยรวมของไฟในพระธรรมมัทธิวซึ่งเกือบจะทั้งหมดล้วนแล้วแต่หมายถึงการพิพากษา (ข้อสังเกตที่ 4)  อีกทั้งการอ้างอิงถึงคำกล่าวเดียวกันนี้ของยอห์นในพระธรรมตอนอื่น ๆ ในพันธสัญญาใหม่ (ข้อสังเกตที่ 5)  บริบททั้งใกล้และไกลต่างเทน้ำหนักให้กับการพิจารณาว่า  นี่เป็นบัพติศมาคนละอย่างกัน

ข้อสรุป

ด้วยเหตุผลที่ได้นำเสนอไปข้างต้น  ผมจึงสรุปว่า การบัพติศมาด้วยไฟ น่าจะหมายถึง การพิพากษาซึ่งคนที่ไม่ยอมกลับใจใหม่และต้อนรับพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์พระผู้ช่วยให้รอดของเขาจะได้รับในวันแห่งการพิพากษา  มันจะเป็นการพิพากษาที่น่ากลัวมากเปรียบเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัดแล้วโยนลงไปในกองไฟ (มธ.3:10) และเหมือนแกลบที่จะถูกเผาด้วยไฟ “ที่ไม่มีวันดับ” (มธ.3:12) หนทางเดียวในการหนีจากพระพิโรธดังกล่าวก็คือ การกลับใจใหม่ซึ่งมีผลเป็นความประพฤติที่สมกับการกลับใจนั้น (ดูข้อพระธรรมคู่ขนานใน ลก. 3:8, 10-14) และรับเอาพระเยซู พระเมสสิยาห์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด (มธ.1:21) ของเขา

เชิงอรรถ

[1] ในภาษากรีกของ มธ.3:7, มีคำนำหน้านาม (article) อยู่เพียงตัวเดียวด้านหน้าชื่อของทั้งสองกลุ่ม สิ่งนี้บ่งบอกว่าทั้งสองกลุ่มในพระธรรมตอนนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเหมือนกับกลุ่มเดียวกัน (ดู มธ.16:1-4 ด้วย)

[2] พระคัมภีร์ฉบับ 1971, THSV 2011, LB., RSV, TEV, JB, NEB, NRSV

[3] อมตธรรมร่วมสมัย, KJV, NIV

[4] Matthew S. Demoss, Pocket Dictionary for the Study of New Testament Greek (Downers Grove, Illinois: IVP, 2001), 75-76.

[5]

[6] Matthew S. Demoss, Pocket Dictionary for the Study of New Testament Greek, 66. โวหารนี้เป็นแบบเดียวกับที่คริสเตียนไทยบางครั้งเป็นพยานว่า “ผมโมทนาและขอบพระคุณพระเจ้า” เขาใช้ 2 คำที่ต่างกันแต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทำ 2 อย่างที่ต่างกัน! คำทั้งสองนั้นถูกใช้คู่กันไปในการพูดถึงการเป็นพยานของคนนั้น

[7] เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งในการตีความอย่างนี้ก็คือ มธ.3:11 มีคำบุพบท  คำเดียวนำหน้าคำนาม 2 คำที่ถูกเชื่อมด้วยคำว่า โครงสร้างของประโยคแบบนี้พาไปสู่ข้อสรุปว่า  คำนามทั้งสองที่ตามหลังบุพบท  น่าจะหมายถึงสิ่งเดียวกัน  แต่โครงสร้างประโยคอย่างนี้ในภาษากรีกไม่จำเป็นต้องหมายความว่า  คำนามทั้งสองหมายถึงสิ่งเดียวกัน  ดังจะเห็นได้จากโครงสร้างเดียวกันใน มธ.4:13 เป็นต้น

บรรณานุกรม

สไตน์, โรเบิร์ต เอช. พระเยซู พระเมสสิยาห์: สำรวจชีวิตของพระคริสต์ แปลจาก Jesus the Messiah โดย ธนาภรณ์ ธรรมสุจริตกุล.  กรุงเทพมหานคร : ศูนย์ทีรันนัส, 2005.

Blomberg, Craig L.  Jesus and the Gospels.  Nashville, Tennessee: Broadman & Holman Publishers, 1997.

________.  Matthew (NAC).  Nashville, Tennessee: Broadman Press, 1992.

Carson, D.  A.  “Matthew.”  In The Expositor’s Bible Commentary, vol.  8.  pp.  3-602. Edited by Frank E.  Gaebelein.  Grand Rapids, Michigan: Zondervan Publishing House, 1984.

France, R.  T. Matthew (TNTC).  Grand Rapids, Michigan: William B.  Eerdmans Publishing Company, 1985.

Gundry, Robert H.  Commentary on the New Testament. Peabody, Massachusetts: Hendrickson, 2010.

Green, Michael.  Matthew for Today.  Dallas: Word Publishing, 1988.

Hagner, Donald A.  Matthew, 2 vols (Word).  Dallas, Texas: Word Books, Publisher, 1993.

Keener, Craig S.  A Commentary on the Gospel of Matthew.  Grand Rapids, Michigan: Wm.  B.

Eerdmans Publishing Company, 1999

Grant R. Osborne, Matthew (ZECNT)  (Grand Rapids, Michigan : Zondervan Publishing House,    2010), pp. 41-47.

Wilkins, Michael J. Matthew (NIVAC). Grand Rapids, Michigan: Zondervan Publishing House, 2004.

Wright, N.  T.  Matthew for Everyone, 2 Vols.  Louisville: Westminster John Knox Press, 2004.

 

บทความ:  ศจ.ดร.เอษรา โมทนาพระคุณ
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง