พระเจ้าสร้างเราขึ้นมาด้วยความรักเพื่อที่จะอยู่ร่วมกับเรา ทั้งในนิรันดรและในโลกนี้ที่เต็มไปด้วยปัญหาและเรื่องท้าทายสำหรับมนุษย์ทุกคน เราไม่ได้เผชิญสิ่งเหล่านั้นตามลำพัง ความท้าทายอยู่ที่การแยกแยะให้รู้ว่าอันไหนคือ
- สงครามของเราเอง – My War
มักเกิดจากความบาปหรือความดันทุรังของตัวเองที่ทำให้พระเจ้าไม่ได้ร่วมรบหรือฟันฝ่าไปกับเรา - สงครามของพระเจ้า – His War
สถานการณ์ไหนที่เราพิจารณาแล้วเห็นว่าเกินกำลังของเรา มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่สามารถจัดการได้ - สงครามของพระเจ้าร่วมกับเรา – Our War
สงครามนี้ยากตรงต้องมีความเข้าใจว่าพระเจ้าปรารถนาให้เราทำอะไร และไปถึงแค่ไหนที่จะไม่ล้ำเส้นที่ควรเป็น
เมื่อพระเจ้านำอิสราเอลออกจากอียิปต์จนมาเจอทะเลแดงขวางหน้า ในเวลานั้นพวกเขาบ่นต่อว่า เพราะมองเห็นทะเลคืออุปสรรค แต่พระเจ้าทรงแหวกทะเลแดงจนพวกเขาข้ามไปอย่างปลอดภัย ส่วนกองทัพและยุทธภัณฑ์ทั้งสิ้นของอียิปต์ถูกทะเลไหลกลับมาทำลาย เนื่องจากถูกระดมมาจัดการอิสราเอลนับล้านที่ออกไปจากอียิปต์ ทำให้อียิปต์ต้องใช้เวลาอีกยาวนานเพื่อรื้อฟื้นกองทัพขึ้นมาอีกครั้ง อิสราเอลจึงมีช่วงเวลาปลอดภัยจากการถูกไล่ล่า เพราะนี่คือสงครามของพระเจ้า หรือ His War
หลังจากนั้นอิสราเอลต้องเข้าสู่สงครามหลายครั้ง เช่น สงครามที่ได้ชัยชนะจากการชูมือของโมเสส หรือการสู้รบกับกองโจรเล็กๆ เพื่อเป็นการฝึกปรือทักษะในการรบและเป็นการสะสมอาวุธในการสู้รบด้วย (เหมือนสถานการณ์ในผู้วินิจฉัยบทที่ 2-3 ที่พระเจ้าให้เขาอยู่ท่ามกลางศัตรูเพื่อทดสอบการเชื่อฟัง และที่สำคัญคือสอนให้คนรุ่นหลังเข้าใจและมีทักษะในการรบ) โดยพระเจ้าค่อยๆ ฝึกปรือเขามากขึ้น มันจึงเป็นสงครามร่วม หรือ Our War
เมื่อข้ามจอร์แดนเข้าสู่คานาอัน พวกเขาต้องรบเพื่อครอบครองดินแดนที่พระเจ้าสัญญาไว้ เริ่มที่เมืองเยรีโคซึ่งมีกำแพงใหญ่แข็งแรงและกองทหารจำนวนมาก แต่พระเจ้าสั่งให้เขาเดินรอบกำแพง 7 วัน เมื่อได้รับสัญญาณ ทุกคนจึงโห่ร้องพร้อมกันและกำแพงก็พังลง และพวกเขาต้องเข้าไปจัดการกับทหารและคนในเมืองด้วยทักษะที่ถูกฝึกมาและอาวุธที่เก็บสะสมจากการสู้รบรวมทั้งที่ถูกสร้างขึ้นในระหว่างการเดินทาง (Our War) ดูเหมือนพระเจ้าเป็นผู้กระชากกำแพงลงเองแล้วอิสราเอลเข้าไปรบเอง*
แม้ดูเหมือนอิสราเอลเข้าสู้รบจริงๆ หลังกำแพงพังลง แท้จริงแล้วพวกเขาได้เริ่มรบตั้งแต่ก่อนหน้านั้น คือการทำลายขวัญของศัตรูที่เคยได้ยินเรื่องฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าอย่างที่ราหับกล่าวไว้ ดังนั้นเมื่อกำแพงพัง ทหารของเยรีโคก็อยู่ในสภาพที่ใจอ่อนแอเต็มที จึงไม่สามารถต่อต้านอิสราเอลได้
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ด้วยความมั่นใจผิดๆ พวกเขากลับนำตัวเองเข้าสู่สงครามของตนเอง หรือ My War ออกไปสู้รบตามลำพังโดยไม่ปรึกษาพระเจ้า อีกทั้งความบาปที่อาคานทำ สุดท้ายเมืองเล็กๆ อย่างเมืองอัย จึงกลายเป็น “อัยหยา!!!” สำหรับอิสราเอล
หลังความพ่ายแพ้ พระเจ้ารู้ว่าพวกเขาอยู่ในสภาพที่ขวัญหนีดีฝ่อเหมือนที่ทหารของเยรีโคเคยเป็น นอกจากที่พวกเขาต้องจัดการกับความบาป ความกลัว และความท้อใจ พวกเขาต้องเดินเข้าสู่สงครามกับเมืองอัยอีกครั้งด้วยการวางแผนการรบจากทักษะที่ส่ำสมมา และครั้งนี้เป็นการกลับเข้าสู่สมรภูมิร่วมกับพระเจ้าอีกครั้ง (Our War)
2 พงศาวดาร 20:1-23 เป็นอีกครั้งที่พระเจ้าเรียกร้องให้อิสราเอลไปรบโดยการไม่ต้องรบ แต่ให้ไปดูสงครามที่พระเจ้าต่อสู้เพื่อพวกเขา เราเห็นพระเจ้าเตรียมกองกำลังมาต่อสู้กับศัตรู และเกิดความสับสนจนพวกเขาต่อสู้กันเองจนไม่มีใครรอดไปได้ กองทัพของพระเจ้าอาจจะเป็นทูตสวรรค์ หรือกองทัพมนุษย์ที่อาจจะเป็นกองกำลังอื่นหรือความสับสนในหมู่ข้าศึกกันเอง อย่างไรก็ตามกองทัพนี้ได้ทำลายศัตรูของอิสราเอล แต่เขาต้องสู้รบกับตนเองคือศัตรูแห่งความกลัว ความขยาด การขาดความเชื่อวางใจในพระเจ้า จนสามารถนำตัวเองออกไปสู่สมรภูมิเพื่อดูความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าและจดจำไว้เพื่อจัดการกับศัตรูในตนเองในสงครามภายภาคหน้า
สมรภูมิรบสำหรับเราวันนี้ อาจไม่ใช่พื้นที่ที่เราจับอาวุธจริงๆ ขึ้นมาต่อสู้ แต่มันเป็นสมรภูมิในความคิดของเรา หรือบริบทที่เราอยู่ หรือสถานการณ์ที่เราเผชิญ หน้าที่ของเราคือการฟัง+เชื่อ (เชื่อฟัง) เสียงพระเจ้า เหมือนแกะย่อมรู้จักเสียงผู้เลี้ยง (แกะที่เป็นผู้ใหญ่ หรือ Sheep ไม่ใช่แกะเด็กน้อยหรือ lamb) เราต้องเข้าใจในหลักการพระเจ้า และใช้ชีวิตสอดคล้องกับหลักการเหล่านั้น และพัฒนาความสัมพันธ์ที่ติดสนิทกับพระเจ้าจริงๆ จนรับรู้ถึงการทรงนำและสามารถตอบสนองตามน้ำพระทัยพระเจ้าได้
และที่สำคัญอีกประการคือการยอมเข้าสู่ “ทุกสมรภูมิที่พระเจ้าเตรียมเอาไว้”ด้วยการเชื่อมั่นในพระลักษณะของพระเจ้า เชื่อใจและวางใจในพระปัญญาของพระเจ้าเพื่อรับฝึกปรือจนเราแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญ เพราะพระเจ้าสร้างเรามาเพื่อความสำเร็จในการครอบครองสิ่งสารพัดที่ทรงวางไว้ให้เราแล้วตามพระสัญญา และตลอดเส้นทางเราจะรู้ได้ว่าพระองค์คือพระเจ้าที่ทรงอยู่ใกล้ อยู่ร่วม และอยู่ในเรา
*วิทยาศาสตร์พยายามหาเหตุผลให้กับเรื่องกำแพงถล่มว่า การเดินเป็นขบวนใหญ่รอบกำแพงทุกวันสามารถสร้างสภาพคล้ายแผ่นดินไหวขนาดย่อมๆ ให้บริเวณนั้นรวมถึงกำแพง และแรงกระเพื่อมเหล่านี้ได้สั่นคลอนโครงสร้างกำแพง และเมื่อมีคลื่นเสียงมากระแทกจากการโห่ร้องในวันสุดท้าย กำแพงจึงได้พังลงอย่างง่ายดาย
บทความ: วิลดา สุพิทักษ์
ออกแบบภาพ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น