บทความ

ทำไมคริสเตียนถึงมีหลายคณะนิกาย ดีหรือไม่ดี?

บางครั้งมีคนถามด้วยความสงสัยว่า
“ทำไมคริสเตียนถึงมีหลายคณะนิกาย ในเมื่อทุกคนรักพระเยซู พวกเขาจะอยู่ด้วยกันไม่ได้หรือ??”

ผมยอมรับนะครับ ว่าข้อนี้เป็นเรื่องตอบยาก เพราะพระคัมภีร์สอนว่า

“จงเพียรพยายามรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในพระวิญญาณโดยมีสันติสุขเป็นเครื่องผูกพัน มีกายเดียวและพระวิญญาณองค์เดียวเหมือนกับที่ทรงเรียกท่านมาสู่ความหวังเดียวเมื่อทรงเรียกท่าน มีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ความเชื่อเดียว บัพติศมาเดียว มีพระเจ้าองค์เดียวผู้ทรงเป็นพระบิดาของทั้งปวง ผู้ทรงอยู่เหนือทั้งมวล ทั่วทั้งสิ้น และในทั้งหมด” (เอเฟซัส 4:3-6)

และพระเยซูเคยตรัสว่า “เราให้บัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลายคือ จงรักซึ่งกันและกัน พวกท่านต้องรักซึ่งกันและกันเหมือนที่เราได้รักพวกท่าน ถ้าพวกท่านรักซึ่งกันและกันคนทั้งปวงจะรู้ว่าพวกท่านเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:34-35)

เมื่อเป็นอย่างนี้ โลกรอบข้างเราจะรู้ว่าเรารักพระเยซูได้อย่างไร คริสเตียนน่าจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่กลับแบ่งพรรคแบ่งพวกกัน

คริสเตียนต่างต้องยอมรับในปัญหานี้ เนื่องจากเรายังเป็นคนบาปอยู่ บางครั้งเราแตกแยกเพราะมุมมองการเมืองส่วนตัว หรือถือว่าตัวเองเป็นใหญ่กว่าเพื่อน

ภาพการแบ่งแยกของคริสเตียนนั้นอาจดูแย่กว่าความจริงที่เป็นอยู่ เพราะที่จริงการมีคณะนิกายไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป

การตั้งคณะนิกายเพราะ “ภาษา” หรือ “ภูมิศาสตร์”

การเกิดขึ้นของคณะนิกายใหม่เป็นเพราะเรื่องภาษาหรือภูมิศาสตร์ เมื่อปี ค.ศ. 1934 สภาคริสตจักรในประเทศไทยไทยถูกก่อตั้งด้วยจุดประสงค์รวบรวมคริสตจักรต่างๆ ที่ถูกริเริ่มโดยมิชชันนารีชาวต่างชาติ พี่น้องสภาฯ รุ่นแรกไม่ได้มีปัญหากับพวกมิชชันนารี แค่ต้องการแยกตัวออกมาเพื่อง่ายต่อการดูแลจัดการ

พวกมิชชันนารีเองก็สนับสนุนพี่น้องคริสเตียนไทยให้ตั้งคณะนิกายของตัวเอง เพราะเป็นเรื่องเหมาะสมที่คนไทยมีคริสตจักรของตนเองที่นำโดยคนไทย ไม่ไช่คนต่างชาติ หรือคนที่อยู่อีกละแวกหนึ่งของโลก

หลังจากสภาฯ ถูกก่อตั้งเรียบร้อยแล้วพี่น้องสภาฯ และพี่น้องมิชชันนารีที่อยู่ภายใต้สังกัดอื่นๆ ยังสามัคคีธรรมด้วยกัน และรับใช้ด้วยกัน มีเอกภาพฝ่ายวิญญาณ

การตั้งคณะนิกายเพราะ “ความเชื่ออันดับรอง”

นอกจากเรื่องภาษาและภูมิศาสตร์ บางครั้งคริสเตียนตั้งนิกายใหม่เพราะเรื่องความเชื่ออันดับรอง แม้ว่าพี่น้องคริสเตียนอาจมีความเชื่ออย่างเดียวกันในเรื่องสำคัญที่สุดเช่น ความรอด และตรีเอกานุภาพ

แต่พวกเขามอง “ความเชื่ออันดับรอง” ไม่เหมือนกันเช่น เรื่องการบัพติศมา หรือ เรื่องของประทานฝ่ายวิญญาณ

ฝ่ายหนึ่งคิดว่าต้องรอจนกว่าคนเป็นผู้ใหญ่จึงให้บัพติศมาได้
และอีกคนหนึ่งคิดว่าให้บัพติศมากับลูกน้อยของผู้เชื่อได้

ฝ่ายหนึ่งคิดว่าพระเจ้ายังให้ของประทานการพูดภาษาแปลกๆ ในทุกวันนี้
แต่อีกฝ่ายหนึ่งคิดว่าพระเจ้าไม่ให้ของประทานนี้ในสมัยปัจจุบัน

ย้อนกลับไปสมัยปฏิรูปศาสนาโปรเตสแตนท์เมื่อ 500 ปีที่แล้ว กลุ่มแบ๊บติสต์แยกตัวออกจากพี่น้องคริสเตียนคนอื่นๆ เพราะความเชื่อเรื่องบัพติศมาที่ต่างกัน เมื่อ 100 ปีที่แล้วพี่น้องที่อยากพูดภาษาแปลกๆ ก็แยกตัวออกจากคณะนิกายต่างๆ และตั้งกลุ่มใหม่ตามความเชื่อเรื่องพระวิญญาณที่ไม่เหมือนคณะอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว

ในสองกรณีนี้เป็นเรื่องน่าชมว่า พี่น้องคริสเตียนทั้งกลุ่มที่ออก และกลุ่มที่อยู่ต่อ ต่างมีใจรับใช้พระเจ้าและพยายามรับใช้พระองค์อย่างถูกต้องตามความเข้าใจของตัวเองในพระคำพระเจ้า

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าเศร้าเมื่อกลุ่มที่แยกตัวกันใหม่ๆ อาจดูถูกซึ่งกันและกัน และบางครั้งไม่ยอมรับว่าพี่น้องกลุ่มอื่นยังเป็นคริสเตียนอยู่

การแยกกันเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงยาก

เนื่องจากความเข้าใจในพระคัมภีร์ที่อ่อนแอและไม่ครบถ้วน จึงเป็นเรื่องปกติที่คริสเตียนจะมีมุมมองที่ต่างกันเป็นบางครั้ง การมองต่างกันอาจไม่ไช่เหตุผลที่เราแยกตัวกันตั้งคณะใหม่ เราน่าจะพยายาม “รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในพระวิญญาณโดยมีสันติสุขเป็นเครื่องผูกพัน” ให้มากที่สุด

แต่บางครั้งการนมัสการคนละโบสถ์อาจเป็นตัวช่วยรักษาสันติสุขฝ่ายวิญญาณมากกว่าอยู่ภายใต้หลังคาเดียวตลอดไป บางครั้งเราจำเป็นแยกทางกันเมื่อมีคนสอนเทียมเท็จและไม่ยอมหยุด

ในศตวรรษที่ 4 (ค.ศ. 300-400) มีการแตกแยกเพราะบางคนสอนว่าพระเยซูมีจุดเริ่มต้นและต่ำกว่าพระบิดาเจ้า คือความเป็นพระเจ้าของพระเยซูน้อยกว่าพระบิดา เรื่องนี้ก็สำคัญ เพื่อรักษาพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ฉะนั้นการแบ่งแยกจึงเป็นเรื่องจำเป็นบางครั้ง

“เอกภาพทางการบริหาร” ไม่เหมือน “เอกภาพฝ่ายวิญญาณ”

อีกเรื่องที่เราน่าจะจดจำไว้คือ การมีเอกภาพทางการบริหารไม่ได้บ่งบอกถึงเอกภาพฝ่ายวิญญาณเสมอไป

บางกลุ่มความเชื่อที่เมื่อดูจากภายนอกเข้าไป มีความโดดเด่นเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่เมื่อมองลึกเข้าไป ก็ยังคงมีเรื่องพรรคพวก มีการเมืองภายใน เข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มความเชื่อใดก็ตาม ก็ต้องรับมือกับความขัดแย้งภายในกลุ่มของตัวเองไม่มากก็น้อย

เอกภาพแท้ จึงไม่ขึ้นกับ การเป็นหนึ่งเดียวกันในแง่การบริหารจัดการภายในองค์กรนั้นๆ

เอกภาพแท้ ขึ้นอยู่กับ ความเชื่อที่เหมือนกันในเรื่องหลักและท่าทีแห่งความรักต่อคนอื่นๆ ที่แม้อาจเห็นต่างกันในเรื่องรอง

พี่น้องคริสเตียนอาจอยู่ต่างคณะนิกายกัน แต่ขณะเดียวกันพวกเขาสามารถรักกันและให้เกียรติซึ่งกันและกันได้

ในวันอาทิตย์อาจนมัสการคนละโบสถ์กัน แต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ก็รักกันและเป็นพยานในโรงเรียน ในที่ทำงาน หรือในหมู่บ้าน ด้วยกันก็ได้

เมื่อเกือบ 400 ปีที่แล้ว ช่วงสมัยที่เกิดความตึงเครียดทางศาสนาในทวีปยุโรป มีนักศาสนศาสตร์คนหนึ่งให้คติพจน์ว่า

“ในเรื่องหลักมีเอกภาพ ในเรื่องรองมีอิสระ ในทุกเรื่องมีน้ำใจ”
(In Essentials Unity, In Non-Essentials Liberty, In All Things Charity)

แม้เราอาจไม่มีทางเห็นคริสเตียนทั้งหมดจะรวมตัวกันเป็นนิกายเดียว แต่เรายังสามารถรักษาความรักและเอกภาพฝ่ายวิญญาณที่ข้ามคณะนิกายได้

และในปัจจุบันนี้ ขอบพระคุณพระเจ้า ที่เราได้เห็นความเป็นเอกภาพในการทำงานร่วมกันของคริสเตียนไทยต่างคณะนิกายมากขึ้น และถือเป็นทิศทางที่ดีสำหรับเอกภาพในท่ามกลางคริสเตียนไทย

 

บทความ:  Rev.Karl Dahlfred
ภาพ:  Unsplash
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง