บทความ

ปฐมบทซีรีส์ ทำไมเราถึงเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง

หลังจากเป็นคริสเตียนและไปโบสถ์อยู่หลายปี ผมเจอคำถามเกี่ยวกับ “พระเจ้ามีจริง” “พระเยซูฟื้นจากความตาย” “ความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์” และอีกมากที่เกี่ยวกับความเชื่อคริสเตียน ผมจึงเริ่มคิดว่าเราน่าจะหาเวลาศึกษาเรื่องเหล่านี้แบบจริงจังว่าความเชื่อของคริสเตียนมีเหตุผลและหลักฐานสนับสนุนมากแค่ไหน เลยเริ่มจากซื้อหนังสือมาอ่าน เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่าสิ่งที่ตัวเองสนใจนี้ถูกเรียกว่า Apologetics หรือการปกป้องความเชื่อของคริสเตียน โดยส่วนตัวประทับใจในศาสตร์ด้านนี้มาก และคิดว่าน่าจะเรียนแบบจริงจังไปเลย ผมจึงได้มีโอกาสมาศึกษาด้านนี้ต่อในระดับปริญญาโทที่ Biola University

บทความนี้จะเพียงเป็นฉบับย่อของ “เหตุผลที่พระเจ้ามีจริง” ที่เป็นที่นิยมสำหรับ Apologetics ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งผมหวังจะได้เขียนถึงรายละเอียดของแต่ละเหตุผล (คำอธิบาย ข้อโต้แย้ง และ การตอบข้อโต้แย้ง) แยกออกมาในบทความถัดๆ ไป ซึ่งลงในซีรีส์ชุด “ทำไมเราถึงเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง”

1. เหตุผลที่สนับสนุนว่าพระเจ้าน่ามีจริง (Sound Arguments)

1.1 Cosmological Argument

แนวคิด คือ มองไปที่จุดเริ่มต้นของจักรวาล โดยมองว่าจักรวาลมีจุดกำเนิดและไม่ได้มาจากความว่างเปล่า ดังนั้นจักรวาลต้องมีผู้สร้าง โดยสามารถสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

(a) ทุกอย่างที่มีจุดเริ่มต้นต้องถูกสร้าง
(b) จักรวาลเป็นจุดเริ่มต้น
(c) ดังนั้น จักรวาลถูกสร้าง

1.2 Teleological Argument

แนวคิด คือ มองไปที่ความซับซ้อน ความเป็นระบบระเบียบ และ ความแม่นยำ ของจักรวาล โดยมองว่าจักรวาลความซับซ้อนเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ จำเป็นต้องมีผู้สร้าง โดยสามารถสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

(a) จักรวาลที่มีความซับซ้อน ความเป็นระบบระเบียบ และ ความแม่นยำ มีสาเหตุมาจาก
1) ความจำเป็นด้านฟิสิกส์ (physical necessity) 2) ความบังเอิญ หรือ 3) การออกแบบ
(b) ไม่ใช่ความจำเป็นด้านฟิสิกส์ และไม่ใช่ความบังเอิญ
(c) ดังนั้น จักรวาลถูกออกแบบ

1.3 Moral Argument

แนวคิด คือ มองไปที่มาตรฐานด้านคุณธรรม (Objective moral value) โดยมองว่าหากพระเจ้าไม่มีจริง มาตรฐานด้านคุณธรรมก็ไม่มีจริง โดยสามารถสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

(a) หากพระเจ้าไม่มีจริง มาตรฐานด้านคุณธรรมก็ไม่มีจริง
(b) มาตรฐานด้านคุณธรรมมีจริง
(c) ดังนั้น พระเจ้ามีจริง

1.4 Ontological Argument

แนวคิด คือ มองไปที่การมีอยู่และคุณสมบัติของพระเจ้า โดยมองว่าหากพระเจ้ามีจริงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ พระเจ้าย่อมมีจริง แนวคิดนี้ยากที่จะอธิบายในพื้นที่สั้นๆ ผมขอให้ผู้อ่านรออ่านในบทความแยกนะครับ

1.5 Argument from Miracle

แนวคิด คือ มองไปถึงสิ่งอัศจรรย์ที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เช่น คนตายแล้วฟื้น คนลอยได้ คนหายตัวได้ โดยมองว่าสิ่งอัศจรรย์ย่อมเกิดจากการแทรกแซงของสิ่งที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ธรรมชาติ (หรือพระเจ้า) ดังนั้นหากมีสิ่งอัศจรรย์เพียงหนึ่งอย่าง ก็เพียงพอที่จะบอกว่า พระเจ้ามีจริง

(a) สิ่งอัศจรรย์ คือ สิ่งที่อยู่เหนือกฎธรรมชาติ
(b) สิ่งที่อยู่เหนือกฎธรรมชาติ คือ พระเจ้า
(c) สิ่งอัศจรรย์มีจริง
(d) ดังนั้น พระเจ้ามีจริง

2. เหตุผลที่สนับสนุนว่าเราควรเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง (Safe Arguments)

2.1 Pascal Wager

แนวคิด คือ พระเจ้ามีเพียง 2 กรณีคือ “มี กับ ไม่มี” และ เรามี 2 ทางเลือกคือ “เชื่อ กับ ไม่เชื่อ” ดังนั้นตราบใดที่ความน่าจะเป็นว่าพระเจ้ามีจริงไม่ใช่ศูนย์ ประโยชน์ที่ได้รับจากการเชื่อว่าพระเจ้ามีจริงย่อมมากกว่า

อ่านบทความ: รู้จักตาราง Pascal’s Wager เครื่องมือเป็นพยานที่มีประสิทธิภาพ

2.2 Common Consent

แนวคิด คือ ในกรณีที่เราไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปเองว่าพระเจ้ามีหรือไม่มี  การเลือกเชื่อตามคนส่วนใหญ่ย่อมปลอดภัยกว่า

อ่านบทความ: ความเชื่อเรื่องพระเจ้า กับ Common Consent

ข้อสังเกต

1. ตลอดประวัติศาสตร์คริสเตียน ได้มีนักคิดหลายท่านพยายามพัฒนาเพื่อตอบข้อโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดทั้งผลดีและผลเสีย เช่น

(1) เหตุผลเหล่านี้รัดกุมและแข็งแรงมากขึ้น
(2) นักวิชาการให้การยอมรับมากขึ้น
(3) ทำให้เข้าใจยากมากขึ้น
(4) ถูกนำไปใช้ในวงแคบเท่านั้น และ
(5) มีหลายชื่อและหลายเวอร์ชั่น

2. ในฐานะนักสถิติคนหนึ่ง จึงอยากจะสมมติเหตุการณ์ว่า เรากำลังเดินทางไปบ้านเพื่อนและเกิดคำถามว่า “เพื่อนเลี้ยงสุนัขไหม” เราจึงค้นดูรูปภาพเก่า ๆ ในเฟสบุ๊คแล้วพบว่า

(1) เพื่อนถ่ายรูปคู่กับสุนัข
(2) เพื่อนถ่ายคลิปไปซื้ออาหารสัตว์
(3) เพื่อนโพสต์บางเรื่องเกี่ยวกับสุนัข

แน่นอนว่าถึงแม้ว่าเรามีหลักฐานทั้งสามชิ้นนี้แล้ว แต่เราก็ยังไม่สามารถสรุปได้ 100% ว่า “เพื่อนเลี้ยงสุนัข” เพราะว่าในแต่ละข้อย่อมมีข้อโต้แย้งเสมอ เช่น

(1) อาจจะเป็นสุนัขข้างถนน หรือ สุนัขของคนอื่น
(2) ซื้อไปฝากเพื่อนที่เลี้ยงสัตว์ หรือ ซื้ออาหารแมว
(3) อาจจะกำลังสนใจจะเลี้ยง หรือ เป็นคนชอบศึกษาเกี่ยวกับสุนัข

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราเอาหลักฐานทั้ง 3 ชิ้นมารวมกัน การที่จะสรุปว่า “เพื่อนเลี้ยงสุนัข” ย่อมถือว่าเป็นการสรุปที่สมเหตุสมผลและมีโอกาสมากกว่าจะสรุปว่า “เพื่อนไม่เลี้ยงสุนัข” (แม้ว่าจะไม่สามารถสรุปได้ 100% ก็ตาม)

เหตุผลที่พระเจ้ามีจริงก็เป็นแบบนี้เช่นกัน ในแต่ละเหตุผลย่อมหาข้อโต้แย้งได้เสมอ แต่เมื่อเอาเหตุผลต่างๆ มารวมกัน ก็จะพบว่า “พระเจ้ามีจริง” เป็นข้อสรุปที่สมเหตุสมผลและมีโอกาสมากกว่า “พระเจ้าไม่มี”

3. ผมชอบแลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในประเด็นด้านศาสนา หลายครั้งที่ถกกับพวก Atheist มักพบ Atheist ส่วนหนึ่งที่มีความรู้ จะมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการมีอยู่ของพระเจ้า (argument against God’s existence) แต่ยังไม่เคยเห็นใครสักคนที่มีเหตุผลสนับสนุนว่า “พระเจ้าไม่มี” (argument for God’s nonexistence) และเมื่อได้แลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะพบว่า ที่จริงพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่ Atheist (เชื่อว่าพระเจ้าไม่มี) แต่เป็นเพียง Agnostics (ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามี) และมากไปกว่านั้น Atheist ส่วนใหญ่จะไม่มีความรู้ และไม่เคยศึกษาเหตุผลเหล่านี้เลย


ผมมีความตั้งใจมานานแล้วว่าจะรวบรวมสิ่งที่ตัวเองศึกษา และเอามาแบ่งปันเพื่อให้เป็นประโยชน์กับพี่น้องคนไทย ขอขอบคุณทาง ChristLike ที่เข้ามาเป็นช่องทางหนึ่งในการแบ่งปันความรู้เหล่านี้ สุดท้ายนี้ฝากผู้อ่านอธิษฐานเผื่อให้ผมมีวินัยและสติปัญญาในการเขียนเนื้อหาซีรีส์นี้ให้จบด้วยนะครับ

อ้างอิง

Peter Kreeft and Ronald K Tacelli, Handbook of Christian Apologetics, 1994
William Lane Craig, Reasonable Faith: Christian Truth and Apologetics, 2008

 

บทความ:  ดร.อาณัติ เป้าทอง
ภาพ: Matheus Viana from Pexels, Eutah Mizushima on Unsplash
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง