บทความ

ความเชื่อเรื่องพระเจ้า กับ Common Consent

ซีรีส์ ทำไมเราถึงเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง? ตอนที่ 2

เมื่อหลายปีก่อนมีรายการเกมโชว์ที่โด่งดังมากนั่นคือ “เกมเศรษฐี หรือ Who wants to Be a Millionaire?” โดยผู้เล่นจะต้องตอบคำถามที่มี 4 ตัวเลือกทั้งหมด 16 คำถาม เพื่อได้รางวัลเงิน 1 ล้านบาท หากผู้เล่นตอบคำถามไม่ได้ ก็ยังเลือกใช้ตัวช่วยพิเศษต่างๆ ซึ่งมีตัวช่วยอันหนึ่งคือ ให้ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นที่อยู่ในห้องส่งโหวตคำตอบที่คิดว่าถูก และเมื่อผลโหวตออกมา ผู้เล่นก็มักจะเลือกตอบตัวเลือกที่มีการโหวตมากที่สุด

หลักปรัชญาเบื้องหลังของหลักคิดนี้คือ หากเราไม่รู้อะไรเลย การเลือกตามคนส่วนใหญ่จะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและสบายใจมากที่สุด เพราะว่า โอกาสที่คนส่วนใหญ่จะตอบผิดมีน้อยนั่นเอง หลักคิดแบบนี้ถูกเรียกว่า Common Consent และเป็นหลักการที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ระบบการเลือกตั้งเพื่อเลือกผู้แทน, การลงมติต่างๆ ของที่ประชุม, ระบบลูกขุน และอีกมากมาย

————————————–

คำอธิบาย

มีหลายครั้งที่เป็นพยาน ผมโยงหลักการ Common Consent กับ การมีอยู่ของพระเจ้า เพื่อใช้จูงใจผู้ฟังให้เห็นว่า ความเชื่อพระเจ้ามีจริง เป็นความเชื่อที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งเราจะอธิบาย 3 ขั้นตอนต่อไปนี้

  1. คนในโลกส่วนใหญ่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง
  2. โอกาสที่คนส่วนใหญ่จะเชื่อถูก มีมากกว่าโอกาสที่คนส่วนน้อยจะเชื่อถูก
  3. ดังนั้นความเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยมากกว่า

ประโยคที่ 1

ความเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง เป็นความเชื่อที่เห็นได้ทั่วไปในหลายวัฒนธรรม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยข้อมูลในปี ค.ศ.2015 จำนวนคนนับถือศาสนาต่างๆ เป็นดังนี้
อ้างอิง : https://www.pewforum.org/2017/04/05/the-changing-global-religious-landscape/

จากข้อมูลข้างต้น มีอย่างน้อย 70.6% ที่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง (Theism) ได้แก่ คริสต์ (31.2%) อิสลาม (24.1) ฮินดู (15.1%) ยิว (0.2%) และยังมีบางส่วนที่อยู่ในกลุ่มไม่ระบุศาสนา (unaffiliated) ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปได้ว่า คนในโลกส่วนใหญ่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง

ประโยคที่ 2

ความเชื่อในเรื่องใดๆ ของคนๆ หนึ่งย่อมมีโอกาสถูกและผิดแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น รูปแบบการเลี้ยงดู, ระดับการใช้เหตุผล, ระดับข้อมูล และอีกมากมาย และหากความเชื่อของแต่ละคนเป็นอิสระต่อกัน โอกาสที่คนส่วนใหญ่จะผิดพร้อมๆ กันย่อมน้อยกว่านั่นเอง

ประโยคที่ 3

เป็นที่ยอมรับว่าหลักคิดของ Common Consent ไม่ได้พิสูจน์หรือสรุปว่าพระเจ้ามีจริง เพราะหากสรุปแบบนั้นจะเป็นการใช้เหตุผลผิดแบบหนึ่งที่เรียกว่า Bandwagon Fallacy

แต่หลักคิดของ Common Consent จะช่วยให้ผู้เลือกรู้สึกปลอดภัย (ซึ่งไม่ได้แปลว่าผู้เลือกจะเลือกสิ่งที่ถูกต้อง) กล่าวคือ การเลือกตามคนส่วนมากไม่ได้การันตีว่าทางเลือกจะถูก แต่ช่วยให้ผู้เลือกมีความสบายใจนั่นเอง

ข้อโต้แย้งที่อาจจะพบเห็น

ข้อโต้แย้ง 1

ครั้งหนึ่งในอดีตคนส่วนใหญ่เชื่อและยอมรับว่าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดาวต่างๆ หมุนรอบโลก (Geocentrism) และก็ส่งผลให้คนรุ่นต่อมาก็เชื่อผิดแบบเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่าโลกและดวงดาวหมุนรอบดวงอาทิตย์ (Heliocentrism) ดังนั้นเป็นไปได้เช่นกันที่ในอนาคตจะพิสูจน์ได้ว่าพระเจ้าไม่มีจริง

ตอบข้อโต้แย้ง 1

ประเด็นนี้เป็นตัวอย่างที่ถูกยกมาบ่อยครั้ง เพื่อลดความน่าเชื่อถือของ Common Consent ก่อนอื่นเราควรเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่ความรู้ใหม่ต้องนำเสนอในทุกครั้งคือ (1) หลักฐานที่ชัดเจนว่าความรู้ใหม่ถูก และ (2) คำอธิบายถึงข้อบกพร่องของความรู้เก่า

(1) หลักฐานที่ชัดเจนว่าความรู้ใหม่ถูก

โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หรือ ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ (verifiable) และที่ผ่านมาก็มีการพิสูจน์และหลักฐานที่ชัดเจนว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลที่จะละทิ้งความรู้เก่า

แต่ในส่วนของพระเจ้ามีจริง ยังไม่มีการพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าพระเจ้าไม่มีจริง และผมเองก็คิดว่าไม่มีการพิสูจน์ใดๆ ที่จะชี้ชัดว่าพระเจ้าไม่มีจริง (unverifiable) เท่าที่ผ่านมาฝั่ง Atheism ก็ไม่เคยมีเหตุผลที่สนับสนุนเลยว่าพระเจ้าไม่มีจริง ทำได้แต่เพียงหาเหตุผลมาปฏิเสธเหตุผลของฝั่ง Theism เท่านั้น

และอย่างที่บอกในตอนต้น Common Consent ไม่ได้เป็นการพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีจริง แต่เป็นเพียงหลักคิดที่ทำให้ผู้เลือกรู้สึกปลอดภัยเท่านั้นเอง

(2) คำอธิบายถึงข้อบกพร่องของความรู้เก่า

สาเหตุหลักที่คนในอดีตเชื่อว่าดาวต่างๆ หมุนรอบโลก ก็เพราะพวกเขาเห็นและรู้สึกแบบนั้น โดยที่ความรู้ใหม่เกี่ยวกับโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์สามารถอธิบายได้ว่า ความรู้สึกแบบนั้นเกิดมาจากเราที่อยู่บนโลกย่อมมองว่าทุกอย่างเคลื่อนที่รอบตัวเรา กล่าวคือ ความรู้ใหม่สามารถอธิบายข้อบกพร่องและสาเหตุของความรู้เก่าได้

แต่สำหรับการมีอยู่ของพระเจ้า สาเหตุหนึ่งที่คนเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง ก็เพราะว่าคนเหล่านั้นมีประสบการณ์ในความสัมพันธ์กับพระเจ้า ดังนั้น Atheism จึงต้องอธิบายให้ได้ว่าความรู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร (โดยทั่วไปฝั่ง Atheism มักจะอธิบายว่าเป็นภาพหลอน หรือ การสะกดจิตหมู่)

ข้อโต้แย้ง 2

เนื่องจากมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ทำให้มีการส่งผ่านความเชื่อแบบรุ่นต่อรุ่น ดังนั้นความเชื่อของแต่ละคนจึงไม่เป็นอิสระต่อกัน กล่าวคือ ความเชื่อของคนๆ หนึ่งเป็นอิทธิพลมาจากสังคมรุ่นก่อน ไม่ได้สื่อถึงเหตุผลและข้อมูลของเขาเลย ดังนั้น การใช้ Common Consent จึงไม่สมเหตุสมผล

ตอบข้อโต้แย้ง 2

เป็นเรื่องปกติที่คนรุ่นก่อนมักส่งผ่านความเชื่อของตัวเองสู่คนรุ่นใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกันที่คนรุ่นใหม่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อของคนรุ่นก่อน และเราพบเห็นว่ามีความเชื่อหลายอย่างในอดีตที่ถูกท้าทายโดยคนรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยความเชื่อที่ยืนระยะได้นานมักจะเป็นความเชื่อที่วางบนพื้นฐานของการใช้เหตุผล ส่วนความเชื่อที่ไม่ได้วางอยู่บนการใช้เหตุผลก็จะถูกท้าทายและเสื่อมศรัทธาไปในที่สุด

ดังนั้นความเชื่อของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกกำหนดโดยคนรุ่นเก่าแบบ 100% และ ตราบใดที่ความเชื่อสามารถถูกท้าทายและตรวจสอบได้ ก็นับได้ว่าความเชื่อของแต่ละคนก็ยังเป็นอิสระต่อกันได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น การใช้ Common Consent จึงสมเหตุสมผล

ข้อคิด

  1. มีหลักคิดอยู่ 2 อย่างที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือจูงใจให้ผู้ฟังรู้สึกปลอดภัยในการตัดสินใจมาเชื่อพระเจ้า นั้นคือ Common Consent กับ Pascal’s Wager
  2. ตอนที่ผมได้ฟังเรื่องราวพระเจ้าเป็นครั้งแรกจากพี่แมน รุ่นพี่รัฐศาสตร์คนหนึ่ง (ขอบคุณพี่มากนะครับที่มาเล่าให้ฟัง) ซึ่งตอนแรกผมก็มองว่ารุ่นพี่คนนี้งมงายจัง เพราะว่าคนรอบตัวของผมส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง ซึ่งก็อาจมีคนไทยบางคนที่ใช้หลักการ Common Consent ในการตัดสินใจว่าพระเจ้าไม่น่าจะมีจริงเหมือนกับผมในตอนนั้น แต่เมื่อลองพิจารณาในภาพใหญ่ของทั้งโลกจะพบว่า มีคนมากกว่า 70% เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง จึงทำให้ผมเริ่มสนใจเรื่องราวของพระเจ้าแบบจริงจัง
  3. ข้อสมมติหนึ่งที่ Common Consent ใช้ก็คือ “เราไม่มีเหตุผลและข้อมูลเพียงพอในการตอบคำถาม” จึงต้องอาศัยเหตุผลและข้อมูลของคนอื่น มาช่วยตัดสินใจ ดังนั้นหากเรามีเหตุผลและข้อมูลเพียงพอที่จะบอกว่า “พระเจ้าไม่มีจริง” เราก็สามารถละเลยหลักคิดแบบ Common Consent ได้

อ้างอิง

Peter Kreeft and Ronald K Tacelli. Handbook of Christian Apologetics, 1994

 

บทความ:  ดร.อาณัติ เป้าทอง
ภาพ:  Matheus Viana from Pexels, Eutah Mizushima on Unsplash
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง