สมัยที่ยังเป็นเด็ก ผมเคยเอาแว่นตาสีต่างๆ มาใส่ และมองสิ่งที่อยู่รอบตัว ผมรู้สึกทึ่งมากที่สีของวัตถุต่าง ๆ เปลี่ยนไป ซึ่งเมื่อโตขึ้นมีโอกาสเรียนเรื่องการผสมสีจึงเข้าใจว่า แว่นสีทำการกีดกันแสงบางความถี่เอาไว้ ทำให้การรับรู้ของเราเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าสีที่แท้จริงของวัตถุไม่ได้เปลี่ยน
เช่น แว่นสีน้ำเงินจะกีดกันแสงสีเขียวและแสงสีแดงเอาไว้ จะปล่อยเพียงแสงสีน้ำเงินเข้าสู่สายตาของเรา ดังนั้นเราจึงแยกแยะวัตถุที่เป็นสีเขียวกับแดงยากขึ้น
โดยทั่วไปมนุษย์มักมีคำถามเกี่ยวกับชีวิตมากมาย เช่น (1) เรามาจากไหน? (2) เราอยู่เพื่ออะไร? (3) ตายแล้วไปไหน? ซึ่งแต่ละความเชื่อก็จะมีแนวทางการตอบคำถามเหล่านี้แตกต่างกันไป สิ่งสำคัญที่ทำให้คำตอบต่างกันก็คือ “ความเชื่อเกี่ยวกับการมีอยู่ของพระเจ้า”
ดังนั้น มุมมองต่อการมีอยู่ของพระเจ้า ก็เปรียบเสมือน สีของแว่น ที่มีผลต่อการตอบคำถามของชีวิต เมื่อเราเชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้าไม่เหมือนกัน เราก็จะมองและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องชีวิตไม่เหมือนกันด้วย
บทความนี้ผมจะอธิบายความเชื่อเกี่ยวกับการมีอยู่ของพระเจ้าทั้ง 3 แบบใหญ่ๆ ได้แก่ Theism, Atheism และ Pantheism (ผมขออนุญาตที่จะไม่แปลคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นคำแปลที่ไม่ค่อยได้พบเห็น จึงน่าจะชวนให้สับสนมากกว่าจะเข้าใจขึ้น)
1. Theism
Theism มาจากคำภาษากรีก Theos แปลว่า ผู้สร้างหรือพระเจ้า โดย Theism เชื่อว่า จักรวาลและทุกสิ่งถูกสร้างโดยพระเจ้า แนวคิดของ Theism สามารถแยกออกได้หลายแบบดังนี้
1.1 Monotheism คือ กลุ่มแนวคิดที่เชื่อมีผู้สร้างเพียงหนึ่งเดียว (Mono) โดยที่ผู้สร้างจะมีลักษณะเป็น บุคคลที่สามารถตัดสินใจได้ (Being), มีพลังอำนาจไม่จำกัด (infinite), อยู่เหนือจักรวาล (transcendent), และ สามารถแทรกแซงและดูแลจักรวาลได้ (intervention) ดังนั้นคนที่มีแนวคิดแบบนี้ จึงยกย่องและเทิดทูนพระเจ้าสูงสุด
ศาสนาหลักที่เชื่อแบบนี้ได้แก่ ศาสนายูดาย, ศาสนาอิสลาม และ ศาสนาคริสต์
1.2 Deism มาจากภาษาละตินคำว่า Deus แปลว่า ผู้สร้างหรือพระเจ้าเช่นกัน แนวคิดนี้จะเหมือน monotheist ยกเว้นในส่วนของ “การแทรกแซง” โดยเชื่อว่าเมื่อพระเจ้าสร้างและกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เสร็จ ก็ปล่อยให้จักรวาลดำเนินต่อไปตามกฎเกณฑ์ และไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงใดๆ ดังนั้นการอัศจรรย์จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวคือตอนสร้างจักรวาลเท่านั้น
1.3 Finite Godism แนวคิดนี้ก็จะเหมือน monotheist ยกเว้นในส่วนของ “พลังอำนาจ” โดยเชื่อว่าพระเจ้ามีพลังและอำนาจจำกัด (finite)
1.4 Polytheism แนวคิดนี้เชื่อว่า มีพระเจ้าที่จำกัด (finite) อยู่หลายองค์ (poly) และไม่มีพระเจ้าองค์ไหนเลยที่ไม่จำกัด แต่ละองค์จะมีบทบาทหน้าที่และขอบเขตการดูแลแตกต่างกันออกไป
ศาสนาหลักที่เชื่อแบบนี้ เช่น ฮินดู, เทพปกรณัมกรีก (Greek mythology)
2. Atheism
Atheism เชื่อว่า จักรวาลมีเฉพาะส่วนที่เป็นกายภาพเท่านั้น และคงอยู่ตั้งแต่ต้นโดยไม่มีผู้สร้าง โดยเราสามารถแยก Atheism ออกเป็นหลายแบบดังนี้
2.1 Implicit Atheism คือ แนวคิดที่ขาดความเชื่อว่าผู้สร้างมีจริง ซึ่งอาจจะมาจากไม่เคยรับรู้มาก่อน เช่น เด็กแรกเกิด หรือ อาจจะมาจากการยอมรับว่าข้อมูลไม่เพียงพอในการสรุปว่า ผู้สร้างมีหรือไม่ (Agnosticism) โดยคนกลุ่มนี้ก็จะผลักภาระการพิสูจน์ (burden of proof) ว่าพระเจ้ามีจริงไปที่ theism
2.2 Explicit Atheism คือ แนวคิดที่เชื่อว่าผู้สร้างไม่มีจริง หรือ การเชื่อว่าพระเจ้ามีจริงเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล โดยคนกลุ่มนี้จะพิสูจน์ว่าพระเจ้าไม่มีด้วยตัวเอง (disprove the existence of God) หรือ พยายามหาแนวคิดเพื่อมาลบล้างเหตุผลที่พระเจ้ามีจริง
3. Pantheism
Pantheism มาจากคำภาษากรีก Pan แปลว่า ทั้งหมดหรือสรรพสิ่ง โดยแนวคิดนี้จะเชื่อว่า พระเจ้าเป็นจักรวาล
ข้อแตกต่างสำคัญระหว่าง Pantheism กับ Theism คือ (1) พระเจ้าไม่ใช่บุคคล ไม่มีความรู้สึก ไม่มีการตัดสินใจ และ (2) พระเจ้าไม่อยู่เหนือจักรวาล
ข้อแตกต่างระหว่าง Pantheism กับ Atheism คือ ยังเชื่อเรื่องการอัศจรรย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ จึงทำให้ Theist บางคนมองว่า Pantheism คือ Atheism รูปแบบหนึ่ง และ Atheist บางคนก็มองว่า Pantheism คือ Theism อีกรูปแบบหนึ่ง
ตารางเปรียบเทียบมุมมองความเชื่อเรื่อง “การมีอยู่ของพระเจ้า” ในด้านต่างๆ
Y – เชื่อ
N – ไม่เชื่อ
NA – ไม่สามารถบอกได้
ข้อคิด
1. ประเทศไทยเป็นแหล่งรวมของวัฒนธรรมและความเชื่อที่หลากหลาย เราจึงต้องระมัดระวัง เพราะว่าบางครั้งเราไม่สามารถผสมแนวคิดที่แตกต่างกันได้
เช่น เราไม่สามารถเชื่อว่า คนมาจากแร่ธาตุไม่มีดวงวิญญาณ (เอามาจากวิวัฒนาการของ Atheism) และ ดวงวิญญาณจะกลับชาติมาเกิด (เอามาจากชีวิตหลังความตายของ Pantheism) พร้อมกันทั้งสองอย่างได้
2. แนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าข้างต้นเป็นปรัชญาของชาวตะวันตก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชี้ชัดว่าศาสนาฝั่งตะวันออกอยู่ในกลุ่มใด เช่น ศาสนาพุทธ บ้างก็บอกว่าเป็น Pantheism บ้างก็บอกว่าเป็น Agnosticism บ้างก็บอกว่าเป็น Atheism
บทความ: ดร.อาณัติ เป้าทอง
ภาพ: Priscilla Du Preez on Unsplash
ออกแบบ: Panchanok
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น