บทความ

คุณกำลังตกหลุมพรางคำว่า “การนมัสการ” หรือไม่?

หลักคำสอนเรื่องหนึ่งที่ผมเป็นกังวลในท่ามกลางผู้เชื่อยุคปัจจุบันของอเมริกาก็คือ การทึกทักเอาว่า “การนมัสการ” เป็นคำที่ใช้เพื่อหมายถึง การร้องบทเพลงแห่งการนมัสการ เท่านั้น เราเห็นคนที่อาสาตัวมารับใช้หรือเป็นผู้รับใช้เต็มเวลาในบทบาทนักดนตรีของคริสตจักร มักถูกยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเขาคือ ผู้นำนมัสการ (worship leader) หรือ ศิษยาภิบาลด้านการนมัสการ (worship pastor)

ส่วนสมาชิกที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในรอบนมัสการ ไม่ว่าจะเป็นถวายทรัพย์ อาสาตัวรับใช้ สอนพระคัมภีร์ ช่วยเหลือผู้ขัดสน ใช้เวลาอธิษฐาน และทำหน้าที่ต่างๆซึ่งแสดงออกถึงหัวใจที่เสียสละของพระเจ้า พวกเขาทั้งหมดจะต้องหยุดสิ่งที่กำลังทำอยู่ เมื่อผู้นำนมัสการพูดว่า “ให้พวกเราเตรียมเข้าสู่การนมัสการ” 

การใช้คำว่า “เข้าสู่การนมัสการ” หรือ “มานมัสการ” นั้น
กลายเป็นความหมายสากลที่ทุกคนต่างเข้าใจตรงกันว่า
หมายถึง นักดนตรีพร้อมแล้ว หรี่ไฟได้ และเริ่มเล่นเพลง

ความเข้าใจแบบนี้อันตรายกว่าการเบี่ยงเบนความหมายโดยไม่เจตนาเสียอีก  และมันไม่ใช่ปัญหาเรื่องดนตรี ผมยืนยันตรงนี้ว่า ไม่มีอะไรผิดเกี่ยวกับดนตรีอย่างแน่นอน เพราะที่จริงบทเพลงและดนตรี จะยิ่งช่วยให้เราแสดงออกอย่างจริงใจในความรัก, การสรรเสริญพระเจ้า และการนมัสการพระเจ้า

ส่วนข้อกังวลที่ผมมีต่อคำว่า “การนมัสการ” ก็คือ ความหมายที่แท้จริงของคำนี้ ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อ แต่กลับถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงและสมบูรณ์ – ไม่ใช่เพราะการแปลความหมายที่คลาดเคลื่อนโดยไม่เจตนา แต่เป็นการจงใจทำให้เข้าใจยาก โดยนิสัยที่เคยชิน และบ่อยครั้งก็เป็นเพราะวัฒนธรรมบูชารูปเคารพ

มีความเชื่อมโยงของคำว่า  “การนมัสการ” และ “ดนตรี” ในพระคัมภีร์หรือไม่?

เมื่อค้นหาคำว่า “การนมัสการ” ในพระคัมภีร์ที่ BibleGateway.com ผมตรวจดูการแปลภาษาอังกฤษของคำนี้ในฉบับ NIV พบว่ามีการใช้คำว่า “การนมัสการ” ในบริบททางวรรณกรรมของดนตรีจริงๆ เพียงแค่ 3 ครั้ง จากทั้งหมด 254 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.2% ที่พวกเราเอามายืนยันว่า “การนมัสการ” และ “ดนตรี” เป็นสิ่งที่คู่กันในบริบททางวรรณกรรมจริงๆ

ครั้งแรก อยู่ใน 2 พงศาวดาร 29:27-28 :

(27) แล้วเฮเซคียาห์ทรงบัญชา ให้ถวายเครื่องบูชาเผาทั้งตัวบนแท่น เมื่อเครื่องบูชาเผาทั้งตัวเริ่มถวาย เพลงที่ถวายแด่พระยาห์เวห์พร้อมกับแตรและเครื่องดนตรีต่างๆ ของดาวิดพระราชาของอิสราเอลก็เริ่มขึ้นด้วย  (28) ชุมนุมชนทั้งหมดก็นมัสการ นักร้องก็ร้องเพลง และแตรก็เป่า ทำทุกอย่างนี้อยู่จนถวายเครื่องบูชาเผาทั้งตัวเสร็จ

สังเกตได้ว่านักดนตรีกำลังเล่นดนตรี ในขณะที่คนอื่นๆ อยู่ในห้วงการนมัสการ แม้สิ่งนี้จะเป็นภาพที่ดูงดงามในหัว ว่าคือการแสดงออกอย่างจริงใจต่อความรักพระเจ้า  แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง “การนมัสการ” กับ “ดนตรี” กลับดูเป็นเรื่องเฉพาะกิจและประจวบเหมาะ เพราะพบการอ้างอิงถึงคำว่า “นมัสการ” อย่างมากมาย ใน 1 และ 2 พงศาวดาร แต่กลับไม่ปรากฏบริบททางดนตรีอย่างชัดเจน  ขณะที่บางคำมีความเกี่ยวข้องกับการบูชารูปเคารพ ตัวอย่างเช่น

  • จงถวายพระเกียรติซึ่งควรแก่พระนามของพระองค์แด่พระยาห์เวห์ จงนำเครื่องบูชามาเข้าเฝ้าพระองค์ จงนมัสการพระยาห์เวห์ในความงดงามแห่งความบริสุทธิ์ – 1 พงศาวดาร 16:29
    .
  • แล้วเราจะสถาปนาบัลลังก์ของเจ้า ดังที่เราได้ทำพันธสัญญาไว้กับดาวิดบิดาของเจ้าว่า ‘เจ้าจะไม่ขาดชายที่จะครอบครองเหนืออิสราเอล’ “แต่ถ้าเจ้าทั้งหลายหันไปและละทิ้งกฎเกณฑ์และบัญญัติของเราซึ่งเราตั้งไว้ต่อหน้าพวกเจ้า และไปปรนนิบัติพระอื่นๆ และนมัสการพระเหล่านั้น แล้วเราจะถอนเขาทั้งหลายจากแผ่นดินของเรา ซึ่งเราได้ให้แก่พวกเขาและเราจะเหวี่ยงนิเวศซึ่งเราทำให้บริสุทธิ์เพื่อนามของเราไปจากสายตาของเรา และเราจะทำให้เขาเป็นคำเปรียบเปรยและเป็นขี้ปากในหมู่ชนชาติทั้งหลาย” – 2 พงศาวดาร 7:18-20

จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ คำว่า “นมัสการ” ดูเหมือนจะหมายถึงบางสิ่งที่แตกต่างออกไป เช่น การแสดงออกที่มุ่งมั่น ความทุ่มเทใส่ใจ ความรัก และการมอบถวาย

ครั้งที่สอง อยู่ใน ดาเนียล 3:4-6 :

การใช้คำว่า “การนมัสการ” ในครั้งที่สองเป็นการใช้ในบริบทที่เชื่อมโยงกับดนตรีในพระธรรมดาเนียล ซึ่งมีการเรียกร้องให้บูชารูปเคารพในพระนามของกษัตริย์เนบูคัสเนสซาร์ และรูปปั้นของพระองค์

(4) โฆษกก็ประกาศเสียงดังว่า “พระราชามีพระราชโองการมายังชนทุกชาติทุกเผ่าทุกภาษา (5) เมื่อท่านทั้งหลายได้ยินเสียงเขาสัตว์ ปี่ พิณเขาคู่ พิณสี่สาย พิณใหญ่ ปี่ถุง และเครื่องดนตรีทุกชนิด ให้ท่านกราบลงนมัสการปฏิมากรทองคำ ซึ่งกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ได้ทรงตั้งไว้  (6) ผู้ใดไม่กราบนมัสการก็ให้โยนผู้นั้นเข้าไปในเตาที่ไฟลุกอยู่ทันที” – ดาเนียล 3:4-6

ในตอนนี้ ดนตรีถูกใช้ เพื่อเป็นสัญญาณในการกราบนมัสการรูปเคารพ “การนมัสการ” ในที่นี้ จึงไม่ใช่ การร้องเพลง หรือ การบรรเลงดนตรีแต่อย่างใด

ครั้งที่สาม อยู่ใน สดุดี 100:2 :

การใช้คำว่า “นมัสการ” ในครั้งที่สาม ถูกใช้ในความหมายที่ใกล้กับการอ้างอิงถึงดนตรี

“จงปรนนิบัติพระยาห์เวห์ด้วยความยินดี จงเข้ามาอยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์ด้วยการร้องเพลง– สดุดี 100:2

พระคัมภีร์ข้อนี้ เป็นการเอ่ยถึง 2 คำสั่งที่แตกต่างกันชัดเจน และมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน แม้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

และจากการใช้คำแปลภาษาอังกฤษทั้งหมด 254 ครั้ง ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่สื่อว่า การนมัสการ คือ การร้องเพลงด้วยความเคารพบูชาต่อพระเจ้า หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ปรากฏในข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้

  • อับราฮัมจึงพูดกับคนใช้ทั้งสองของท่านว่า “อยู่กับลาที่นี่เถิด เรากับลูกจะเดินไปที่โน้นนมัสการพระเจ้า แล้วจะกลับมาหาพวกเจ้า – ปฐมกาล 22:5
    .
  • พระองค์ตรัสว่า “เราจะอยู่กับเจ้าแน่ นี่เป็นหมายสำคัญให้เจ้ารู้ว่าเราใช้เจ้าไป คือเมื่อเจ้านำประชากรออกจากอียิปต์แล้ว เจ้าทั้งหลายจะมานมัสการพระเจ้าบนภูเขานี้” – อพยพ 3:12
    .
  • พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า “จงไปหาฟาโรห์บอกว่า ‘พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่า “จงปล่อยประชากรของเราไปนมัสการเรา” – อพยพ 8:1
    .
  • แล้วไปปรนนิบัตินมัสการพระอื่น เป็นพระซึ่งเขาไม่เคยรู้จัก และซึ่งพระองค์ไม่ได้ประทานแก่เขา – เฉลยธรรมบัญญัติ 29:26

ในวัฒนธรรมดั้งเดิมต่างๆ ของสังคม ส่วนใหญ่คำว่า “นมัสการ” จะถูกเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันมากมายตามจินตนาการ ได้แก่ ..

การอธิษฐาน การเพ่งมอง การใคร่ครวญ และก็เป็นการร้องเพลงและเต้นรำในงานเฉลิมฉลองด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเชื่อฟัง การเอาใจใส่ และ การให้เกียรติ

แต่ก็ไม่พบคำว่า “นมัสการ” ถูกใช้ในความหมายโดดๆ ที่สื่อถึงการร้องเพลงเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อบูชารูปเคารพต่างๆ

ครั้งสุดท้ายที่มีคนพยายามอ้างจากพระคัมภีร์เดิมว่า มีการนมัสการพระเทียมเท็จด้วยการร้องเพลงให้รูปเคารพนั้น คือเมื่อใด? แน่นอนว่านั่นอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของการนมัสการ แต่ไม่อาจเป็นข้อสรุปที่ว่าผู้คนส่วนใหญ่ควรทำเช่นเดียวกัน

แล้วทำไมเราจึงใช้ข้อสรุปนี้ เมื่อพูดถึงการนมัสการพระเจ้าในปัจจุบัน?

โปรดอย่าเข้าใจผมผิด พวกเรามักถูกสั่งสอนให้สรรเสริญพระเจ้าด้วยบทเพลง

  • ขอให้​ถ้อยคำ​ของ​พระคริสต์​ตั้ง​รกราก​อยู่​ใน​กลุ่ม​พวก​คุณ​อย่าง​เหลือล้น คือ​ให้​สั่งสอน​เตือนสติ​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​ด้วย​สติปัญญา​ทั้งสิ้น และร้องเพลงสดุดี เพลงสรรเสริญ และเพลงจากพระวิญญาณ (singing psalms and hymns and spiritual songs) ให้​ร้องเพลง​เหล่า​นี้​สุด​หัวใจ​ถวาย​ให้​กับ​พระเจ้า​ด้วย​ใจ​กตัญญูโคโลสี 3:16 THA-ERV
  • อย่า​เมา​เหล้า​องุ่น มัน​จะ​ทำให้​คุณ​เสียคน​ได้ แต่​ให้​เต็ม​ไป​ด้วย​พระวิญญาณ​ดีกว่า คือ​ร้องเพลงสดุดี เพลงสรรเสริญ และเพลงจากพระวิญญาณให้กันและกัน (addressing one another in psalms and hymns and spiritual songs) และ​ให้​ร้องเพลง​สรรเสริญ​องค์​เจ้า​ชีวิต​จากใจ และ​ขอบคุณ​พระเจ้า​ผู้​เป็น​พระบิดา​ของ​เรา​เสมอ​สำหรับ​ทุกสิ่ง​ทุกอย่าง ใน​ฐานะ​เป็น​คน​ของ​พระเยซู​คริสต์​เจ้า เอเฟซัส 5:18-20 THA-ERV

แต่ไม่มีสักแห่งในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่
ที่ให้คำแนะนำแก่เราว่า
การสร้างเสียงเพลง คือ “การนมัสการ”

หลายต่อหลายครั้งที่พระคัมภีร์  กล่าวถึง การก้มลงคุกเข่า เพื่อถ่อมใจลงและยอมจำนน รวมถึงการแสดงความเคารพบูชาผ่านทางคำพูด (คำอธิษฐาน)

  • ชายนั้นก็ก้มลงนมัสการพระยาห์เวห์ – ปฐมกาล 24:26
    .
  • แล้วข้าพเจ้าก็ก้มลงนมัสการพระยาห์เวห์ และสรรเสริญพระยาห์เวห์พระเจ้าของอับราฮัมนายข้าพเจ้า ผู้ทรงนำข้าพเจ้ามาตามทางที่ถูก เพื่อหาบุตรสาวของญาตินายให้บุตรชายท่าน – ปฐมกาล 24:48
    .
  • ประชาชนก็เชื่อ เมื่อได้ยินว่าพระยาห์เวห์เสด็จมาเยี่ยมเยียนชนชาติอิสราเอล และทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากของพวกเขา พวกเขาต่างกราบลงนมัสการ อพยพ 4:31
    .
  • โมเสสจึงรีบกราบลงถึงดินนมัสการ – อพยพ 34:8
    .
  • เมื่อพวกนักปราชญ์ได้เห็นดาวนั้นแล้วก็มีความยินดียิ่งนัก เมื่อเข้าไปในบ้านก็พบพระกุมารกับนางมารีย์มารดา จึงก้มลงนมัสการพระกุมารนั้น แล้วเปิดหีบสมบัติของพวกเขาและถวายเครื่องบรรณาการแด่พระกุมาร คือ ทองคำ กำยาน และมดยอบ แล้วพวกนักปราชญ์ได้รับคำเตือนในความฝัน ไม่ให้กลับไปเฝ้าเฮโรด พวกเขาจึงกลับไปยังเมืองของพวกตนทางอื่น – มัทธิว 2:10–12
    .
  • อีกครั้งหนึ่งมารได้นำพระองค์ขึ้นไปบนภูเขาที่สูงมาก และได้แสดงบรรดาราชอาณาจักรในโลก ทั้งความรุ่งโรจน์ของราชอาณาจักรเหล่านั้นให้พระองค์ทอดพระเนตร แล้วได้ทูลพระองค์ว่า “ถ้าท่านจะก้มลงนมัสการเรา เราจะให้สิ่งทั้งปวงเหล่านี้แก่ท่าน” พระเยซูจึงตรัสตอบว่า “จงไปให้พ้น เจ้าซาตาน เพราะพระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า ‘จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว’” – มัทธิว 4:8–10
    .
  • ข้าพเจ้าคือยอห์น เป็นผู้ที่ได้ยินและได้เห็นเหตุการณ์เหล่านี้ และเมื่อข้าพเจ้าได้ยินและได้เห็นแล้ว ข้าพเจ้าก็ทรุดตัวลงนมัสการแทบเท้าทูตสวรรค์ที่สำแดงสิ่งเหล่านี้แก่ข้าพเจ้า แต่ท่านกล่าวกับข้าพเจ้าว่า “อย่าทำแบบนี้ เราเป็นผู้ร่วมรับใช้เช่นเดียวกับท่านและพวกพี่น้องของท่าน ซึ่งเป็นพวกผู้เผยพระวจนะ และพวกที่ถือรักษาถ้อยคำในหนังสือนี้ จงนมัสการพระเจ้าเถิด” – วิวรณ์ 22:8-9

ก้มกราบลง (Bowing down) ครั้งสุดท้ายที่คุณเห็น “ผู้นำนมัสการ” ของคริสตจักร ก้มลงคุกเข่าต่อพระเจ้า เพื่อนำผู้คนในที่ประชุมเข้าสู่การนมัสการ คือเมื่อใด?

ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “การนมัสการ”

อันตรายของการเรียก ดนตรี ว่า “การนมัสการ” คือ การหลงลืมความหมายที่แท้จริงของคำว่า “การนมัสการ”  และแทนที่อย่างง่ายดายด้วยความบันเทิง และการแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ผ่านเสียงดนตรีเพียงเท่านั้น

คำแนะนำและคำจำกัดความที่ชัดเจนที่สุดเพียงหนึ่งเดียว
ในพันธสัญญาใหม่ เกี่ยวกับกิจกรรมใน “การนมัสการ” นั้น
ห่างไกลจากความบันเทิงและสิ่งรบกวน
แต่นำไปสู่สาระสำคัญของ การจดจ่ออย่างตั้งใจ
การแสวงหาความจริง และการเชื่อฟัง

คำจำกัดความนี้อยู่ใน ยอห์น 4:24 และ โรม 12:1-2

“พระเจ้าเป็นพระวิญญาณ และคนที่นมัสการพระองค์จะต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง” – ยอห์น 4:24

ไม่มีคำพูดใดที่กล่าวว่า “พระเจ้าเป็นผู้คลั่งไคล้ดนตรี และผู้ที่นมัสการพระองค์ จะต้องนมัสการด้วยบทเพลงและประสานเสียงพร้อมเพรียงกัน”

ไม่มีอะไรผิดเกี่ยวกับดนตรี และไม่ได้หมายความว่า การนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง จะไม่เกิดขึ้นเมื่อเราเชื่อมต่อกับดนตรี แต่ให้เรามีมุมมองต่อมันในแบบที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ตามรูปแบบที่เราปรุงแต่งขึ้น

ดังนั้น พี่น้องทั้งหลาย โดยเห็นแก่ความเมตตากรุณาของพระเจ้า ข้าพเจ้าจึงวิงวอนท่านทั้งหลายให้ถวายตัวของท่านแด่พระองค์ เพื่อเป็นเครื่องบูชาอันบริสุทธิ์ที่มีชีวิต และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า ซึ่งเป็นการนมัสการโดยวิญญาณจิตของท่าน อย่าลอกเลียนแบบอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่ เพื่อท่านจะได้ทราบพระประสงค์ของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัย และอะไรดียอดเยี่ยม – โรม 12:1-2

ในฐานะผู้เชื่อในพันธสัญญาใหม่ นี่คือ ท่าทีแห่ง “การนมัสการ” ที่แท้จริง คือ การยอมจำนนอย่างแท้จริงในทุกสิ่ง ต่อพระวิญญาณของพระเจ้าที่สถิตอยู่ในเรา ด้วยการมีชีวิตที่บริสุทธิ์และมุ่งมั่นทำให้พระองค์พอพระทัย ใช้ชีวิตที่แตกต่างจากวิถีของโลก ซึ่งรักในรูปเคารพ เช่น การนมัสการดนตรี

ที่จริงแล้วดนตรีได้กลายเป็นรูปเคารพของคริสตจักรอเมริกัน แทนที่จะเป็นเพียงเครื่องมือบอกเวลาแห่งการจดจ่อและอธิษฐานต่อพระเจ้า ดนตรีกลับกลายเป็นสิ่งที่เราจดจ่อและให้ความสำคัญ

ผมชอบดนตรี ผมชอบเพลงที่ “คู่ควรแก่การนมัสการ” ผมเชื่อว่าเราสามารถนมัสการพระเจ้าได้อย่างแท้จริงผ่านบทเพลง และคนที่ “เล่นดนตรี” อย่างตั้งใจที่สุดนั้น มักจะนมัสการได้ดี ผมไม่ได้ต่อต้านสิ่งเหล่านั้น แต่ผมไม่คิดว่าดนตรีเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดของการนมัสการ

การคุกเข่าลงยอมจำนน  การอธิษฐาน  การอ่านและเชื่อฟังพระคัมภีร์  การดูแลใส่ใจผู้อื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า

ผู้นำนมัสการตัวจริงไม่จำเป็นต้องถือไมโครโฟน

ตอนที่ผมเป็นวัยรุ่นอายุราวๆ 20  ผมพยายาม “นำนมัสการ”  หมายถึง ผมเคยเล่นกีตาร์และร้องเพลง และผมคิดไปเองว่า นี่คือบทบาทในการนำผู้คนเข้าสู่การทรงสถิตของพระเจ้า แต่กระบวนการทั้งหมดนี้ช่างไร้สาระ และเพียงแต่ทำให้กลายเป็นจุดสนใจเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ตลอดชีวิตคริสเตียนของผมจึงมักไม่โอเคเมื่อเห็นการใช้คำว่า “ผู้นำนมัสการ” รวมไปถึงคำว่า”การนมัสการ” เพื่อพูดถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดนตรี

ที่จริงแล้ว คำนี้ไม่เกี่ยวกับดนตรีด้วยซ้ำ – มันควรจะสัมพันธ์กับการแสดงออกถึงความรักที่เสียสละของพระเจ้า

และ คำว่า“ ผู้นำนมัสการ” ไม่ควรจะเป็นตำแหน่งที่ใครก็ตามสมควรได้รับ แต่เป็นเป้าหมายที่พวกเราทุกคนควรมุ่งไปสู่…

มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำการนมัสการ ด้วยการแสดงความรักต่อพระเจ้าอย่างจริงใจ ด้วยสุดจิตใจ สุดจิตวิญญาณ สุดความคิด และด้วยสุดกำลัง

 

บทความ:  Worship does not mean singing and music, Jon Davis
แปล: Wilaione
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง