บทความ

ซ้อมนมัสการยังไงให้มีประสิทธิภาพใน 1 ชั่วโมง

ในยุคที่ดูเหมือนอะไรๆ ก็จะเร่งรีบกันไปหมดในชีวิต โดยเฉพาะสำหรับคนที่อยู่ในวัยเรียน วัยทำงาน ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นกำลังสำคัญของทีมนมัสการในแต่ละคริสตจักร

ความท้าทายอย่างหนึ่งที่ผมได้ยินได้ฟังจากการพูดคุยกับเพื่อนๆ พี่น้อง ที่รับผิดชอบดูแลทีมนมัสการก็คือเรื่องของเวลาในการฝึกซ้อมนั่นเอง ทั้งเรื่องเวลาที่ว่างไม่ตรงกัน ติดเรียน ติดงาน นัดหมอ รอแฟน รถติด และอีกหลายร้อยเหตุผลที่จะเป็นไปได้

จนหลายๆ คริสตจักรในทุกวันนี้เลือกที่จะนัดซ้อมนมัสการกันทีเดียวก่อนเริ่มรายการประชุม เพราะไหนๆ ก็ต้องมาโบสถ์อยู่แล้วนี่ แค่ออกให้เร็วขึ้นหน่อยเดียวเอง ซึ่งผมเองก็ใช้แนวทางนี้กับทีมนมัสการที่ผมร่วมรับใช้อยู่เป็นเวลาหลายปีเช่นกัน

วันนี้ผมก็เลยอยากจะแบ่งปันแนวทางเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยให้พี่น้องทุกคนที่รับใช้ในทีมนมัสการ ได้นำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาประสิทธิภาพในการซ้อมนมัสการกันนะครับ

เริ่มต้นกันที่กฎเหล็ก 2 ข้อก่อน ซึ่งเป็นกฎทองของนักดนตรีในทุกๆ ระดับ ทุกๆ แนวเพลง และเป็นกฎที่ใช้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะซ้อมวันไหนหรือมีเวลาแค่ไหนก็ตาม

1. ทำการบ้านมาล่วงหน้า

การซ้อมดนตรีไม่ว่าจะเป็นแนวไหน ระดับไหน จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อทุกคนทำการบ้านมาล่วงหน้า สำหรับทีมนมัสการ

หน้าที่ของผู้นำนมัสการคือการให้การบ้านทีมที่จะรับใช้ด้วยกันว่าคุณคาดหวังให้เขาปรากฎตัวเช้าวันอาทิตย์พร้อมกับอะไรที่อยู่ในมือบ้าง

ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน คือรายชื่อเพลงที่จะใช้, คีย์ที่จะเล่น (สำคัญมาก) จนถึงรายละเอียดเพลง เช่น เพลงไหนที่เครื่องดนตรีชิ้นไหนจะขึ้น คนร้องนำ คนโซโล่ ต้องแกะเพลงท่อนไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า จะแจกเนื้อเพลง คอร์ดเพลง ลิงก์ Youtube อะไรก็ทำให้เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จะเจอกันในวันอาทิตย์

ส่วนนักดนตรี นักร้อง ก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบไปซักซ้อมส่วนตัวมาตามการบ้านที่ได้รับ ดังนั้นการซ้อมนมัสการจึงไม่ได้เป็นแค่ 1 ชั่วโมง ที่มาเจอกันเท่านั้น แต่เป็นเวลาตลอดทั้งสัปดาห์หรือตั้งแต่ที่ได้รับการบ้านมาด้วยซ้ำ!

2. ตรงเวลา

นัด 8 โมง แปลว่าทุกคนสามารถส่งเสียง พร้อมซ้อมตอน 8 โมง ถ้าใครอุปกรณ์เยอะก็เผื่อเวลาเยอะหน่อย เพราะว่าทุกนาทีนับจากเวลาที่นัดเป็นเวลาที่มีค่าที่สุด

เมื่อเราทำตามกฎนี้ได้ ก็ได้เวลามาเริ่มซ้อมกันเถอะ นาฬิกานับถอยหลัง 60 นาที เริ่มได้!!
(หมายเหตุ : ผมขออนุญาตไม่รวมเวลาของการ Soundcheck ใน 60 นาทีนี้นะครับ เพราะว่าแต่ละคริสตจักรจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนั้น 60 นาทีนี้จะเป็นการซ้อมบนพื้นฐานที่ว่า เครื่องเสียงทุกอย่างอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานปกติ)

10 นาทีแรก (0 – 10) : Warm Up ด้วยเพลงที่คุ้นเคยที่สุด

เกือบทุกครั้งที่ซ้อม ผมมักชอบเริ่มจากการเล่นเพลงที่ทุกคนคุ้นเคยที่สุดของวันนั้น เพื่อให้ทุกคนสามารถเล่นได้อย่างมั่นใจและเต็มเสียง เพื่อเป็นการปรับหู ปรับเสียง ให้ทุกคนมีความมั่นใจก่อนเป็นอันดับแรก

ถ้ามีเวลาพอก็อาจจะเล่นเพลงเร็วหนึ่งเพลง เพลงช้าหนึ่งเพลงก็ยังได้ ระหว่างเล่นไป มีอะไรดังไป เบาไป ก็ใช้โอกาสตอนนี้ที่จะสื่อสารกันและกัน

15 นาทีต่อมา (10 – 25) : ซ้อมเจาะเพลงที่มั่นใจน้อยที่สุดของวัน หรือเพลงใหม่

หลังจากวอร์มกันด้วยเพลงที่มั่นใจที่สุดแล้ว ลำดับต่อไป เพลงไหนที่ไม่มั่นใจ คราวที่แล้วเคยเล่นแล้วเกือบล่ม ก็ได้เวลามาเจาะกันตอนนี้

ส่วนเพลงใหม่ๆ ที่ไม่เคยเล่น ถ้าไม่ยากเกินไปก็มาลองเล่นด้วยกันครั้งแรกตรงนี้ได้ แต่อะไรที่ยากๆ และต้องการเวลามากกว่า 15 นาที ก็อาจจะต้องแยกซ้อมต่างหากวันอื่นๆ ไป เพื่อจะไม่ไปกินเวลาการซ้อมส่วนอื่นๆ

มีหลายครั้งที่หลังจากซ้อมส่วนนี้เสร็จแล้วยังรู้สึกไม่ค่อยโอเค ก็ไม่ผิดที่จะเปลี่ยนใจไม่ใช้เพลงบางเพลงได้เช่นกัน แทนที่จะฝืนเล่นกันไปแบบไม่มั่นใจ

20 นาทีต่อมา (25 – 45) : ซ้อมการขึ้นเพลง การจบเพลง การต่อเพลง และรายละเอียดอื่นๆ ที่แปลกใหม่สำหรับเพลงที่คุ้นเคยอยู่แล้ว

การซ้อมเพลง (สำหรับนักดนตรีที่มีประสบการณ์) อาจจะไม่จำเป็นต้องซ้อมตั้งแต่ต้นจนจบเสมอไป เพลงบางเพลงร้องมาแล้ว 5 ปี บางเพลงเพิ่งใช้ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักดนตรีก็ชุดเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องซ้อมทวนซ้ำมากเกินไป

เว้นแต่ถ้ามีสมาชิกใหม่ หรือคนที่ไม่คุ้นเคยกับเพลง ก็ควรจะมีการนัดซ้อมแยกนอกรอบต่างหาก เพื่อไม่เป็นการไปกินเวลาคนอื่น ปกติสิ่งที่ผมจะให้ความสำคัญในการซ้อมส่วนนี้คือ

– การขึ้นเพลง เครื่องดนตรีชิ้นไหน ขึ้นเพลงไหน หรือขึ้นพร้อมกัน ใช้คอร์ดอะไร นักร้องเข้าตรงไหน
– ความเร็วของจังหวะที่เหมาะสม ไม่เร็วไป ช้าไป ร้องแล้วรู้สึกว่ามันใช่กับสิ่งที่เราเตรียมมา
– นัดแนะเรื่องท่อนเพลง การจบเพลง การต่อเพลง ทำยังไงให้เกิดความลื่นไหล ไม่สะดุดหรือขัดบรรยากาศการนมัสการ
– รายละเอียดอื่นๆ ตามที่เตรียมไว้ เช่นท่อนโซโล่ ท่อนดนตรี การเลือกใช้คอร์ดวนสำหรับช่วงนมัสการอิสระต่างๆ

10 นาทีต่อมา (45 – 55) : สำรองไว้สำหรับทบทวนหรือซ้อมเจาะท่อนเพลงบางท่อนที่ยังไม่แน่ใจ หรือจะทวนเพลงบางเพลงทั้งเพลงเป็นพิเศษก็ยังไหว

5 นาทีสุดท้าย : (55 – 60) : นมัสการพระเจ้าและอธิษฐานร่วมกัน

ด้วยเพลงไหนสักเพลงหนึ่งที่เราได้ซ้อมกันไปแล้ว เพื่อเตรียมจิตใจและจิตวิญญาณของทุกคนให้พร้อมสำหรับการรับใช้ อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วเราไม่ได้มาเพื่อเล่นดนตรีเท่านั้น แต่เรามาเพื่อสรรเสริญและนมัสการพระเจ้าด้วยเสียงเพลงของเรา

ถ้าทีมเรามีเวลามากหรือน้อยกว่านี้ ก็สามารถปรับยืดลด เวลาต่างๆ ตามสัดส่วนที่เหมาะสมได้ แต่จำไว้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมตัวมาจากบ้านให้พร้อมที่สุดครับ

ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่านที่มีส่วนรับใช้ในการนมัสการ แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ

 

บทความ:  เมธา เกรียงปริญญากิจ
ออกแบบภาพ:  จักรกฤษณ์ อนันตกุล

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง